xs
xsm
sm
md
lg

‘ซัมมิตสี-ไบเดน’อาจทำให้จีน-สหรัฐฯทำข้อตกลงอย่างกว้างขวางทางเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด พี. โกลด์แมน


ภาพจากการเจรจาซัมมิตแบบเสมือนจริงระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กับประธานาธิบดีโจ ไบเดน เมื่อเช้าวันอังคาร (16 พ.ย.) ตามเวลาในกรุงปักกิ่ง ซึ่งตรงกับคืนวันจันทร์ (15 พ.ย.) ตามเวลาในกรุงวอชิงตัน (ภาพเผยแพร่โดยสำนักข่าวซินหัวของทางการจีน)
(เก็บจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Xi-Biden talk may bring broad economic deal
By DAVID P. GOLDMAN 16/11/2021

สินค้าที่จีนส่งออกไปยังอเมริกาซึ่งมีมูลค่าถึง 600,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี หมายความว่าระดับราคาที่มีเสถียรภาพในจีน กำลังกลายเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการควบคุมภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ

ในบรรดาสมาชิกคณะรัฐมนตรีที่ขนาบข้างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ณ การประชุมซัมมิตผ่านทางวิดีโอกับ สี จิ้นผิง เมื่อคืนวันจันทร์ (15 พ.ย. ตามเวลาภาคตะวันออกของสหรัฐฯ ซึ่งตรงกับเช้าวันอังคาร 15 พ.ย. ตามเวลาในจีน) สื่อมวลชนภาครัฐของจีนชี้ว่า หนึ่งในนั้นคือ รัฐมนตรีคลัง เจเนต เยลเลน สายพิราบในเรื่องจีนที่ส่งเสียงดังที่สุดของคณะบริหารอเมริกันชุดนี้

อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯผู้นี้เชื่อว่า การตัดลดอัตราภาษีศุลกากรที่สหรัฐฯจัดเก็บกับสินค้านำเข้าจากจีน จะสามารถบรรเทาอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังกลายเป็นเรื่องปวดหัวทางเศรษฐกิจและทางการเมืองข้อใหญ่ที่สุดของคณะบริหาร

ณ เดือนตุลาคม สหรัฐฯกำลังนำเข้าสินค้าจีนในอัตราเท่ากับปีละ 600,000 ล้านดอลลาร์ เท่ากับเพิ่มขึ้น 60% จากระดับของเดือนตุลาคม 2018 ซึ่งก็คือก่อนที่จะเกิดโรคระบาดใหญ่โควิด-19 มันจึงเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่จะพูดถึงสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯกับจีน ในเวลาที่เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมอเมริกันกำลังพึ่งพาอาศัยสินค้านำเข้าจากจีนอย่างมากมายมหาศาล

การค้าระหว่างประเทศทั้งสองนี้มีขนาดกว้างขวางใหญ่โตยิ่ง จนกระทั่งมีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อเรื่องระดับราคาของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

เยลเลนเคยพูดกับสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมเอาไว้ดังนี้: “ผู้แทนการค้าของเราเพิ่งพูดว่า เราจะพิจารณาเรื่องการลดอัตราภาษีศุลกากรลงมาอีก เราต้องการที่จะเห็นจีนกระทำตามพันธกรณีของพวกเขาที่พวกเขาได้ให้ไว้ตาม (ข้อตกลงการค้า) เฟส 1 แต่การสร้างเสถียรภาพและบางทีกระทั่งการลดอัตราภาษีศุลกากรบางอย่างลงมาในท้ายที่สุดด้วยวิธีการแบบต่างตอบแทน อาจจะเป็นผลลัพธ์ที่พึงปรารถนาก็เป็นได้”

โกลบอลไทมส์ สื่อในเครือเหรินหมินรึเป้า ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน พาดหัวรายงานข่าวการประชุมซัมมิตไบเดน-สี ของตนเมื่อตอนเช้าวันอังคาร (16 พ.ย.) ว่า “สี-ไบเดนเริ่มประชุมเสมือนจริง ขณะสหรัฐฯใช้ถ้อยคำอ่อนลงเรื่องความเป็นไปได้ที่จะยกเลิกภาษีศุลกากร”

หนังสือพิมพ์จีนฉบับนี้ชี้ว่า “บรรดาเจ้าหน้าที่อาวุโสทางด้านเศรษฐกิจจากทั้งสองฝ่ายต่างกำลังเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ เป็นการบ่งชี้ว่าหัวข้อทางด้านการค้าและเศรษฐกิจน่าที่จะถูกหยิบยกมาพูดคุยด้วย ในการพบปะเจรจาที่ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดคราวนี้

รองนายกรัฐมนตรีหลิว เหอ ของจีน ซึ่งเป็นหัวหน้าของฝ่ายจีน ณ การสนทนาทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้านจีน-สหรัฐฯ เป็นผู้หนึ่งในหมู่ผู้เข้าร่วมการประชุมเสมือนจริง ... ทางฝ่ายสหรัฐฯ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เจเนต เยลเลน อยู่ในหมู่เจ้าหน้าที่อเมริกันที่กำลังเข้าร่วมการหารือ ทั้งนี้ตามภาพต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็นทางออนไลน์”

โกลบอลไทมส์ยังชี้ให้เห็นถึง “ถ้อยคำจากวอชิงตันที่อ่อนลงมา ในเรื่องความเป็นไปได้ที่จะยกเลิกภาษีศุลกากรอัตราลงโทษซึ่งเก็บจากสินค้าจีนบางรายการ และกำลังทำให้สหรัฐฯเจออัตราเงินเฟ้อพุ่งทะยานลิ่วที่ทำเอาผู้บริโภคและธุรกิจต่างๆ ของตนร้องไห้”

สื่อรายนี้อ้างความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญชาวจีนรายหนึ่งที่บอกว่า “เรื่องราคาสินค้าออกของจีนมีเสถียรภาพ อาจเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งยวดสำหรับการที่สหรัฐฯจะประคับประคองอัตราเงินเฟ้อของตนให้อยู่ในระดับที่ปรารถนา พวกนักวิเคราะห์พูดกันว่าเรื่องนี้อาจจะเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้วอชิงตันกำลังส่งสัญญาณในทางบวกเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีสำหรับการเจรจาหารือครั้งนี้”

แต่ไม่ใช่แค่เฉพาะภาษีศุลกากรของสหรัฐฯที่เรียกเก็บจากสินค้านำเข้าจากจีน ซึ่งประกาศใช้โดยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2018 เท่านั้นหรอก ยังมีการที่สกุลเงินตราของจีนซึ่งแข็งค่าขึ้นก็ดันให้ราคาต้นทุนสินค้านำเข้าจากจีนในสหรัฐฯสูงขึ้นมาด้วย ทั้งนี้สินค้าที่สหรัฐฯนำเข้าจากจีนเวลานี้มีมูลค่าคิดเป็นเกือบๆ 30% ของจีดีพีจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตของอเมริกาทีเดียว

แผนภูมิข้างล่างนี้ แสดงดัชนีของราคาสินค้านำเข้าจากจีนในสหรัฐฯ (โดยไม่ได้คำนวณผลกระทบจากอัตราภาษีศุลกากร) เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างค่าเงินเหรินหมินปี้ (เงินหยวน) ของจีนกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะเห็นได้ว่าขณะที่ค่าดอลลาร์ตกเมื่อเทียบกับเหรินหมินปี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ราคาสินค้านำเข้าจากจีนก็ได้พลิกตัวกลับจากที่เคยมีแนวโน้มลดต่ำลงมาอย่างยาวนาน และกลับขยับสูงขึ้นตามค่าของสกุลเงินตราจีน



ระยะเวลาส่วนใหญ่ของช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ราคาที่มีแนวโน้มลดต่ำลงเรื่อยๆ ของสินค้าซึ่งจีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้เป็นตัวบีบกดอัตราเงินเฟ้อในราคาสินค้าคงทนเอาไว้ แต่เมื่อแนวโน้มเช่นนี้เกิดการพลิกกลับเป็นตรงกันข้ามในช่วงปลายปี 2020 ก็มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อจากสินค้าคงทนในสหรัฐฯพุ่งพรวดขึ้นมา



ค่าสกุลเงินตราของจีนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ณ ตอนที่การประชุมซัมมิตเริ่มต้นขึ้น และพวกราคาหลักทรัพย์ของจีนก็สูงขึ้นเช่นกัน ทว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินเหรินหมินปี้ อาจจะไม่ได้เป็นผลอะไรนักจากการแสดงความคิดเห็นต่อการประชุมซัมมิตครั้งนี้ในทางบวกของพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯและพวกเจ้าหน้าที่จีน แต่สิ่งที่มีผลมากกว่าน่าจะเป็นการคาดหมายกันว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯจะขึ้นไปแรง

เมื่อดูจากมาตรวัดในตลาดพันธบัตรคลังสหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อของอเมริกาที่คาดหมายกันในช่วงเวลา 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า เวลายืนอยู่ในระดับสูงสุดทีเดียวนับตั้งแต่ที่มีการออกตราสารเพื่อคุ้มครองปกป้องจากเงินเฟ้อเช่นนี้มาจำหน่ายเมื่อกว่า 20 ปีก่อน

สกุลเงินเหรินหมินปี้ได้แข็งค่าขึ้นอย่างสม่ำเสมอในระยะ 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา ขณะที่ความคาดหมายเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯก็ขึ้นสูงขึ้นมากเช่นกัน แผนภูมิแบบ scatter chart ข้างล่างนี้ ซึ่งเปรียบเทียบแนวโน้มคาดหมายอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ กับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเหรินหมินปี้กับดอลลาร์ กำลังออกมาเป็นเส้น S-curve ที่คุ้นตา



เป็นเวลานานปีทีเดียว สหรัฐฯร้องโวยว่าจีนพยุงสกุลเงินตราของตนให้อ่อนค่าเกินไป โดยเหตุผลสำคัญคือเพื่อให้ได้เปรียบในเวลาขายสินค้าให้แก่สหรัฐฯ แต่เวลานี้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าสินค้าของจีนราคาถูกเกินไปเสียแล้ว สหรัฐฯนั้นกำลังเสพติดสินค้านำเข้าจากจีน และขาดไร้ศักยภาพการผลิตที่จะมาทดแทนการนำเข้าเหล่านี้

ปัญหาของอเมริกาก็คือ เงินเหรินหมินปี้ที่กำลังแข็งค่าขึ้น กลายเป็นตัวเพิ่มต้นทุนของสินค้าซึ่งอเมริกาไม่สามารถหาจากที่อื่นๆ ได้นอกจากจีน

นี่เป็นสิ่งที่ทำให้จีนมีแต้มต่ออย่างมหาศาลในการรับมือกับคณะบริหารไบเดน ซึ่งกำลังดิ้นรนหนักจากกระแสความโกรธเกรี้ยวของประชาชนในเรื่องภาวะเงินเฟ้อ

ข้อตกลงที่เป็นไปได้ประการหนึ่งก็คือ ปักกิ่งกับวอชิงตันอาจพิจารณาเรื่องที่สหรัฐฯยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรอัตราสูงจากสินค้าจีน ขณะที่จีนก็ให้คำมั่นสัญญาที่จะยุติการแข็งค่าของเหรินหมินปี้ ซึ่งในทางพฤตินัยแล้วก็คือการผ่อนคลายนโยบายการเงินของจีนที่เข้าสนับสนุนค่าเงินดอลลาร์นั่นเอง

วอชิงตันยังจำเป็นต้องพึ่งพาให้จีนรีไซเคิลการได้เปรียบดุลการค้าอย่างมหึมาของตน ด้วยการเข้าซื้อสินทรัพย์อเมริกัน อย่างที่ผมได้เขียนเอาไว้ในเอเชียไทมส์เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม
(ดูข้อเขียนชิ้นนี้ได้ที่ https://asiatimes.com/2021/08/will-china-bail-out-biden/)


กำลังโหลดความคิดเห็น