xs
xsm
sm
md
lg

เครื่องบินขับไล่ไฮเทค F-35 ของอังกฤษร่วงดิ่งลงทะเล ขณะทะยานขึ้นจากเรือ‘ควีนเอลิซาเบธ’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทหารส่วนสนับสนุนของอังกฤษนั่งอยู่บนรถบริการ ขณะเครื่องบินขับไล่ เอฟ-35 บี ลำหนึ่งเตรียมตัวลงจอดที่ดาดฟ้าของเรือบรรทุกเครื่องบิน เอชเอ็มเอส ควีน เอลิซาเบธ ซึ่งแล่นอยู่ในทะเลอาราเบีย นอกชายฝั่งเมืองมุมไบ ของอินเดีย (ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 21 ต.ค. 2021)  ทั้งนี้ เอฟ 35 บี ลำหนึ่งประสบอุบัติเหตุตกในวันพุธ (17 พ.ย.) ขณะบินขึ้นจากเรือลำนี้
เอฟ-35 หนึ่งในเครื่องบินขับไล่สเตลธ์รุ่นล่าสุดในกองทัพอังกฤษ ตกลงไปในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเมื่อเช้าวันพุธ (17 พ.ย.) ระหว่างบินขึ้นจากเรือบรรทุกเครื่องบิน เอชเอ็มเอส ควีน เอลิซาเบธ กระทรวงกลาโหมอังกฤษระบุในทวิตเตอร์

อย่างไรก็ดี นักบินสามารถดีดตัวออกจากเครื่องและกลับขึ้นเรืออย่างปลอดภัย ทวิตของกระทรวงบอก พร้อมกล่าวว่า ได้เริ่มการสอบสวนเหตุการณ์นี้ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติภารกิจปกติแล้ว

เอฟ-35 เป็นเครื่องบินขับไล่ไอพ่นใช้เทคโนโลยีหลบหลีกเรดาร์ (สเตลธ์) ล้ำยุคที่สหรัฐฯพัฒนาขึ้นมา โดยเครื่องบินลำที่ตกเป็นแบบ เอฟ-35 บี ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่มีเครื่องยนต์เดียว และใช้ระยะทะยานขึ้นสั้น ขณะสามารถลงจอดในแนวดิ่ง ต้นทุนในการสร้างตกลำละประมาณ 115 ล้านดอลลาร์

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เอฟ-35 หลายลำถูกส่งขึ้นจากเรือบรรทุกเครื่องบิน ควีนเอลิซาเบธ เพื่อปฏิบัติภารกิจสู้รบโจมตีกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ถือเป็นปฏิบัติการสู้รบครั้งแรกสำหรับเรือบรรทุกเครื่องบินของอังกฤษในรอบระยะเวลากว่าหนึ่งทศวรรษ

ในตอนนั้น เบน วอลเลซ รัฐมนตรีกลาโหมอังกฤษ ออกคำแถลงระบุว่า ความสามารถในการปฏิบัติการจากทะเลด้วยเครื่องบินขับไล่แบบก้าวหน้าสูงสุดที่เคยมีการพัฒนาขึ้นมา ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์อังกฤษ และให้ความมั่นใจแก่บรรดาพันธมิตร รวมทั้งยังแสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพทางอากาศอันน่าเกรงขามของอังกฤษให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาศัตรู

สำหรับเครื่องบินเอฟ-35 ของอังกฤษ ได้เข้าร่วมในการสู้รบครั้งแรกตั้งแต่เมื่อปี 2019 ด้วยการโจมตีกลุ่มไอเอสในอิรักและซีเรียจากฐานทัพอากาศบนเกาะไซปรัส

อังกฤษนั้นมีแผนการสั่งซื้อเอฟ-35 รวม 138 ลำ ซึ่งจะทำให้ประเทศนี้กลายเป็นผู้นำเอาเครื่องบินที่ผลิตโดยล็อกฮีด-มาร์ตินรุ่นนี้ ออกปฏิบัติการมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 รองจากอเมริกาและญี่ปุ่น ขณะที่สองประเทศหลังนี้ต่างเคยสูญเสียเอฟ-35 ในอุบัติเหตุมาก่อนเช่นกัน

เมื่อเดือนกันยายน 2018 เอฟ-35บีลำหนึ่งของนาวิกโยธินสหรัฐฯ ตกในรัฐเซาท์แคโรไลนา ซึ่งถือเป็นลำแรกสำหรับเครื่องบินรุ่นนี้

ต่อมาเดือนเมษายน 2019 เครื่องเอฟ-35เอ ของญี่ปุ่นตกในมหาสมุทรแปซิฟิกนอกชายฝั่งญี่ปุ่น ทำให้นักบินเสียชีวิต

กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นแถลงในเวลาต่อมาว่า สาเหตุเกิดจากการหลงสภาพการบิน ซึ่งหมายถึงสถานการณ์ที่นักบินไม่รับรู้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและจำเป็นสำหรับการบินเครื่องบินขับไล่สเตลธ์เหนือมหาสมุทรในช่วงฝึกบินกลางคืน

เดือนพฤษภาคม 2020 เครื่องเอฟ-35เอ ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ตกในรัฐฟลอริดาระหว่างการฝึกปกติ แต่นักบินดีดตัวออกจากเครื่องอย่างปลอดภัย

หลังอุบัติเหตุเมื่อวันพุธ มาร์ติน-เบเกอร์ ผู้ผลิตที่นั่งนักบินแบบดีดตัวออกได้ของอังกฤษ อวดอ้างความสำเร็จของฮาร์ดแวร์ของบริษัทว่า ช่วยรักษาชีวิตลูกเรือ 7,662 คนทั่วโลก ทั้งนี้ ที่นั่งนักบินของมาร์ติน-เบเกอร์ติดตั้งในเครื่องบินหลายรุ่น ไม่เฉพาะเอฟ-35 เท่านั้น

อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นขณะที่เรือบรรทุกเครื่องบินควีนเอลิซาเบธปฏิบัติภารกิจขาสุดท้าย ในการนำหมู่เรือเฉพาะกิจซึ่งอังกฤษใช้ชื่อว่า หมู่เรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีที่ 21 ไปในเส้นทางซึ่งไกลสุดถึงญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เพื่อเข้าร่วมการฝึกกับพันธมิตร ในเวลาที่กองทัพเรืออังกฤษพยายามเพิ่มบทบาทในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก

ตอนที่กองเรือบรรทุกเครื่องบินนี้เดินทางออกจากอังกฤษในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีนี้ กระทรวงกลาโหมระบุว่า นี่เป็นการสนธิกำลังแสนยานุภาพทางทะเลและอากาศออกนอกประเทศครั้งใหญ่ที่สุดของอังกฤษในชั่ว 1 อายุคนทีเดียว

หมู่เรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีนี้ ยังมีเรือรบของอเมริกาและเนเธอร์แลนด์สมทบด้วย รวมทั้งมีเครื่องบินเอฟ-35 ของนาวิกโยธินสหรัฐฯจำนวน 10 ลำประจำการบนเรือควีนเอลิซาเบธ นอกเหนือจากเครื่องบินขับไล่สเตลธ์ของอังกฤษจำนวน 8 ลำ

ยังไม่มีการเปิดเผยว่า อังกฤษจะพยายามกู้ซากเครื่องบินเอฟ-35 จากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนหรือไม่

ย้อนกลับไปในปี 2019 ตอนที่เครื่องเอฟ-35 ของญี่ปุ่นตก มีการคาดเดากันว่า ศัตรูอย่างรัสเซียและจีนอาจต้องการซากเครื่องบินเพื่อเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง ทว่า ทั้งอเมริกาและญี่ปุ่นต่างปฏิเสธการคาดเดาดังกล่าว

(ที่มา: ซีเอ็นเอ็น)


กำลังโหลดความคิดเห็น