xs
xsm
sm
md
lg

‘ไฟเซอร์’ ให้สิทธิ 95 ประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลางไม่รวมไทย ผลิต‘แพ็กซ์โลวิด’ยาเม็ดรักษาโควิดที่ได้ผลสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพที่เผยแพร่โดยบริษัทไฟเซอร์ แสดงให้เห็นกล่องสำหรับบรรจุยาเม็ดรักษาโควิด-19 ของบริษัท  ทั้งนี้บริษัทยารายยักษ์แห่งนี้แถลงในวันอังคาร (16 พ.ย.) ว่า ได้ยื่นเรื่องต่อองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) เพื่อขอใช้ยาตัวนี้แบบฉุกเฉินในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในอเมริกาแล้ว
ไฟเซอร์ประกาศข้อตกลงปูทางให้ผู้ผลิตยาสามัญใน 95 ประเทศรายได้ปานกลางจนถึงรายได้ต่ำ ใช้สิทธิช่วงเพื่อผลิตยาเม็ดรักษาโควิดชนิดใหม่ของตนโดยไม่ต้องจ่ายค่ารอยัลตี้เพื่อให้ยามีราคาถูกลง  “ไทย”ถูกยกเว้นไม่ได้รับประโยชน์ในเรื่องนี้ด้วย ขณะเดียวกันบริษัทยังได้ยื่นคำร้องขอใช้ยาตัวนี้รักษาผู้ป่วยในอเมริกาเป็นกรณีฉุกเฉินแล้ว

ภายใต้ข้อตกลงที่ทำกับองค์กรสิทธิบัตรยาร่วม (Medicines Patent Pool - เอ็มพีพี) ไฟเซอร์ บริษัทยายักษ์ใหญ่ของอเมริกาซึ่งได้ร่วมกับไบโอเอ็นเทคแห่งเยอรมนี ผลิต 1 ในวัคซีนโควิดที่ใช้แพร่หลายมากที่สุดเวลานี้ จะอนุญาตให้พวกผู้ผลิตยาสามัญในเกือบ 100 ประเทศดังกล่าว ซึ่งรวมกันแล้วครอบคลุมประชากรโลกราว 53% ผลิตยารักษาโควิดชนิดเม็ดที่ใช้ชื่อว่า “แพ็กซ์โลวิด” ของบริษัทได้ โดยไม่คิดค่ารอยัลตี้ เพื่อลดต้นทุนในการรักษา ทั้งนี้ ตราบเท่าที่โควิด-19 ยังคงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศตามนิยามขององค์การอนามัยโลก (WHO)

ทางด้านกลุ่มแพทย์ไร้พรมแดน (เอ็มเอสเอฟ) แถลงว่า ยังคง “รู้สึกผิดหวัง” ที่ข้อตกลงนี้ของไฟเซอร์ ไม่ได้ครอบคลุมให้ทั่วทั้งโลกสามารถผลิตแพ็กซ์โลวิดได้ โดยมีการยกเว้นพวกประเทศรายได้ปานกลางอย่าง จีน, อาร์เจนตินา, และไทย

ปัจจุบัน ยาแพ็กซ์โลวิดอยู่ระหว่างกระบวนการทดสอบและขออนุมัติใช้จากทางการ โดยมีคำแนะนำว่ายาตัวนี้ควรใช้ควบคู่กับยาริโทนาเวียร์ ซึ่งเป็นยาสำหรับรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี

ไฟเซอร์เผยว่า ข้อมูลขั้นต้นจากการทดลองที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการพบว่า ยาแพ็กซ์โลวิดช่วยลดความเสี่ยงการป่วยหนักหรือการเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้ถึง 89% เมื่อเทียบกับยาหลอก ทั้งนี้ จากการทดสอบกับผู้ใหญ่ที่ไม่ได้รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลและภายใน 3 วันที่เริ่มแสดงอาการ นอกจากนั้นยังได้ผลลัพธ์แบบเดียวกันกันเมื่อใช้กับผู้ป่วยภายใน 5 วันที่เริ่มแสดงอาการ

เอ็มพีพีที่ตั้งอยู่ในเจนีวาและเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) จะร่วมมือกับไฟเซอร์เพื่ออำนวยความสะดวกในการพัฒนายาสำหรับประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ

เอสเตบาน เบอร์โรนี หัวหน้าฝ่ายนโยบายของเอ็มพีพีเผยว่า หากได้รับอนุมัติ จะสามารถวางตลาดยาแพ็กซ์โลวิดได้ภายในไม่กี่เดือน

ในวันอังคาร (16) ที่มีการเปิดเผยข่าวนี้ ไฟเซอร์ยังแถลงว่า ได้ยื่นขออนุญาตใช้ยาเม็ดต้านโควิดเป็นกรณีฉุกเฉินในอเมริกาแล้ว อย่างไรก็ดี ยังไม่มีความชัดเจนว่า หน่วยงานของสหรัฐฯ จะประกาศผลเมื่อใด โดยนอกจากยาแพ็กซ์โลวิดแล้ว เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม เมิร์ก แอนด์ โคได้ส่งคำร้องขออนุมัติยาเม็ดต้านโควิด “โมลนูพิราเวียร์” เพื่อใช้เป็นกรณีฉุกเฉินแล้วเช่นเดียวกัน

ยาแพ็กซ์โลวิดหรือพีเอฟ-07321332 เป็นยาต้านไวรัสในโครงการวิจัยที่ออกแบบมาเพื่อปิดกั้นกิจกรรมของ3ซีแอล โปรตีเอสของไวรัสโคโรนา หรือเอนไซม์ที่ไวรัสโคโรนาต้องใช้ในการแบ่งตัว และการใช้ร่วมกับริโทนาเวียร์ปริมาณเล็กน้อย ทำให้แพ็กซ์โลวิดยังคงออกฤทธิ์ในระยะเวลานานและในความเข้มข้นสูงเพื่อช่วยต่อสู้กับไวรัสโคโรนา

อัลเบิร์ต บูร์ลา ประธานกรรมการและประธานบริหารไฟเซอร์ กล่าวว่า บริษัทเชื่อว่า ยารักษาไวรัสแบบรับประทานจะมีบทบาทสำคัญในการลดความรุนแรงของการระบาดของโควิด-19 และลดภาระของระบบสาธารณสุข รวมทั้งรักษาชีวิตผู้คน

ฟิลิปป์ ดันเนตัน ผู้อำนวยการบริหารยูนิเทด ที่ดำเนินการเกี่ยวกับนวัตกรรมในการป้องกัน วินิจฉัย และรักษาโรคร้ายแรงในประเทศยากจน และเป็นผู้ก่อตั้งเอ็มพีพี กล่าวว่า ระหว่างวิกฤตโรคระบาด การประหยัดเวลาหมายถึงการรักษาชีวิต และข้อตกลงนี้ช่วยให้ยูนิเทดเข้าถึงคนจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วขึ้นทันทีที่ยานี้ได้รับอนุมัติ

ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการรับสิทธิช่วงในการผลิตยาแพ็กซ์โลวิดสามารถลงทะเบียนได้จนถึงวันที่ 6 ธันวาคม

การประกาศของไฟเซอร์นี้มีขึ้น หลังจากเมื่อเดือนที่แล้ว เอ็มพีพีลงนามข้อตกลงลักษณะเดียวกันนี้กับ เมิร์ค บริษัทคู่แข่งร่วมชาติของไฟเซอร์ สำหรับ “โมลนูพิราเวียร์” ยารักษาไวรัสโคโรนาแบบรับประทานของเมิร์คซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการทดลองเช่นกัน ซึ่งหากยาตัวนี้ได้รับการอนุมัติ จะเปิดโอกาสให้ประเทศรายได้ปานกลางถึงต่ำ 105 ประเทศเข้าถึงได้มากขึ้น

เบอร์โรนีกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการตั้งราคายาเม็ดของไฟเซอร์ แต่ในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูง มีแนวโน้มว่า ราคาจะต่ำลง ขณะที่กลุ่มแพทย์ไร้พรมแดน แนะว่า ราคาอาจอยู่ที่ 700 ดอลลาร์ต่อ 1 คอร์สพอๆ กับราคาโมลนูพิราเวียร์

(ที่มา: เอเอฟพี, เอพี, รอยเตอร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น