บ.ไฟเซอร์ ยื่นเรื่องต่อ อย.สหรัฐฯ เมื่อวันอังคาร(16พ.ย.) เพื่อขออนุมัติใช้ในกรณีฉุกเฉินยาเม็ดรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 หลังพบผลทดสอบประสิทธิภาพช่วยลดโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิตในหมู่คนไข้ที่มีความเสี่ยงสูงเกือบ 90%
ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นไม่กี่สัปดาห์ หลังจาก เมอร์ค ได้ยื่นคำร้องไปยังสำนักงานอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐฯ(เอฟดีเอ) ไปก่อนหน้านี้ สำหรับขอไฟเขียวยาเม็ดของพวกเขาที่ใช้รักษาคนไข้โควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยจนถึงปานกลาง ส่งผลให้มันอยู่บนเส้นทางกลายเป็นยาต่อต้านไวรัสชนิดรับประทานตัวแรกสำหรับโรคร้ายนี้
พวกผู้เชี่ยวชาญมอบยาเม็ดชนิดรับประทานเป็นทางเลือกล้ำค่าเพิ่มเติมจากวัคซีน ในการต่อสู้เพื่อยุติโรคระบาดใหญ่
อัลเบิร์ต บัวร์ลา ซีอีโอของไฟเซอร์ ระบุในถ้อยแถลงว่า "ด้วยมีผู้เสียชีวิตแล้วมากว่า 5 ล้านคนและชีวิตอีกนับไม่ถ้วนได้รับผลกระทบจากหายนะเลวร้ายนี้ทั่วโลก จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับทางเลือกการรักษาต่างๆที่สามารถปกป้องชีวิต เรากำลังดำเนินการอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในความพยายามนำการรักษานี้ไปสู่มือของคนไข้"
ไฟเซอร์กำลังขออนุมัติใช้ในกรณีฉุกเฉิน(EUA) บนพื้นฐานผลชั่วคราวที่ออกมาในแง่บวกของการทดลองทางคลินิกขั้นกลางจนถึงขั้นสุดท้าย ซึ่งใช้อาสาสมัครหลายร้อยคน เกี่ยวกับอาสาสมัครวัยผู้ใหญ่ที่มีผลตรวจโควิด-19เป็นบวก อาการไม่ถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล แต่มีความเสี่ยงสูงที่อาการจะแย่ลงถึงขั้นรุนแรง
ข้อมูลพบว่ายาเม็ดของไฟเซอร์ช่วยลดโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ป่วยหนักถึงขั้นเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ 89% เมื่อเริ่มให้ยาภายใน 3 วันแรกที่เริ่มแสดงอาการ ไม่มีผู้เสียชีวิตในกลุ่มผู้ที่ได้รับการรักษา ขณะเดียวกันผลลัพธ์การทดลองก็ออกมาในแบบเดียวกัน ในกรณีที่เริ่มให้ยาภายใน 5 วันแรกที่เริ่มแสดงอาการ
พบผลข้างเคียงเกิดขึ้นในคนไข้อาสาสมัครราวๆ 1 ใน 5 คน ทั้งในคนที่ได้รับยาจริงและยาหลอก โดยเหล่านี้มีอาการระดับปานกลาง
ยาเม็ดนี้มีคอร์สรักษาที่ใช้เวลา 5 วัน และทางไฟเซอร์เผยว่าพวกเขาจะสามารถส่งมอบยาเม็ด "แพ็กซ์โลวิด" ของพวกเขา 180,000 คอร์สในปีนี้และอีกอย่างน้อย 50 ล้านคอร์สในปีหน้า
ก่อนหน้านี้ บัวร์ลา กล่าวว่า สำหรับประเทศที่มีรายได้สูง ไฟเซอร์คาดหมายว่าราคาของการรักษาน่าจะพอๆ กับราคายาของเมอร์ค โดยราคาของเมอร์คที่ทำไว้กับสหรัฐฯ อยู่ที่ราวๆ 700 ดอลลาร์ (ราว23,000บาท) ต่อ 1 คอร์สรักษาที่ใช้เวลา 5 วัน ส่วนบรรดาประเทศที่มีรายได้ต่ำ บัวร์ลา บอกว่า ไฟเซอร์กำลังพิจารณาหลายทางเลือก โดยมีเป้าหมายคือไม่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงของประเทศเหล่านี้
ในวันอังคาร(16พ.ย.) ไฟเซอร์แถลงว่าได้ทำข้อตกลงหนึ่งกับองค์กรจัดการสิทธิบัตรยาร่วม (Medicine Patent Pool)ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ ในการผลิตภายใต้การใช้สิทธิช่วง(sub-licence production) สำหรับป้อนอุปทานยาแก่บรรดาประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง 95 ชาติ ครอบคลุมประชากรโลกราวๆ 53%
หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เตรียมแถลงว่ารัฐบาลอเมริกากำลังจัดซื้อยาเม็ดของไฟเซอร์ 10 ล้านคอร์สเร็วๆนี้ และสหรัฐฯยังกำลังจัดซื้อยาเม็ดของเมอร์ค หรือ โมลนูพิราเวียร์ จำนวน 3.1 ล้านคอร์สด้วย
จากกรอบเวลาระหว่างการยื่นขออนุมัติใช้ในกรณีฉุกเฉินกับการพิจารณาอนุมัติ คาดหมายว่ายาเม็ดโควิด-19 ของไฟเซอร์ น่าจะมีใช้ในช่วงปลายปีนี้หรือไม่ก็ต้นปีหน้า
(ที่มา:รอยเตอร์)