xs
xsm
sm
md
lg

WHO ชี้โรคระบาดใหญ่ยังห่างไกลจากจุดจบ เรียกร้องวิจัยวัคซีนรุ่นใหม่ควบคุม 'โควิด' ในระยะยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิกฤตโควิด-19 ยังห่างไกลจากจุดจบ จากความเห็นของคณะกรรมการฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เผยแพร่ในวันอังคาร (26 ต.ค.) พร้อมเรียกร้องดำเนินการวิจัยวัคซีนรุ่นใหม่สำหรับควบคุมโรคระบาดใหญ่ในระยะยาว

ที่ประชุมคณะกรรมการซึ่งมีสมาชิก 19 ท่าน จัดขึ้นในทุกๆ 3 เดือน เพื่อพูดคุยหารือเกี่ยวกับโรคระบาดใหญ่และออกคำแนะนำต่างๆ

"ในขณะที่มีความก้าวหน้าผ่านการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 มากขึ้นและการรักษาต่างๆ จากการวิเคราะห์สถานการณ์ในปัจจุบันและโมเดลพยากรณ์ต่างๆ บ่งชี้ว่า โรคระบาดใหญ่ยังห่างไกลจากจุดจบ" องค์การอนามัยโลกระบุในถ้อยแถลง อ้างถึงผลการประชุมทางไกล 4 ชั่วโมงเมื่อวันศุกร์ (22 ต.ค.) ที่ผ่านมา

คณะกรรมการเรียกร้องให้มีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับหน้ากากแบบนำมาใช้ใหม่ เครื่องช่วยหายใจ วัคซีนรุ่นถัดไป การวินิจฉัยโรคและวิธีการรักษาต่างๆ "สำหรับการควบคุมโรคระบาดใหญ่ในระยะยาว"

"การใช้หน้ากาก มารตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ดูแลสุขอนามัยมือ และปรับปรุงระบบระบายอากาศในสถานที่ในร่ม ยังคงเป็นกุญแจสำคัญในการลดการแพร่ระบาดของเชื้อ SARS CoV-2" ถ้อยแถลงเน้นย้ำ

คณะกรรมการระบุว่า โรคระบาดใหญ่ที่ยืดเยื้อกำลังทำให้สถานการณ์ฉุกเฉินทางมนุษยธรรม การโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คนจำนวนมากและวิกฤตอื่นๆ มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นประเทศทั้งหลายควรแก้ไขทบทวนความพร้อมและแผนตอบสนองต่างๆ

ทางคณะกรรมการได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความท้าทายทั้งหลายที่ทวีปแอฟริกากำลังเผชิญในการรับมือกับโรคระบาดใหญ่ ในนั้นรวมถึงการเข้าถึงวัคซีน การตรวจเชื้อและการรักษา เช่นเดียวกับการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสังเกตการณ์วิวัฒนาการของโรคระบาดใหญ่

จากข้อมูลของเอเอฟพี พบว่า จนถึงตอนนี้ประชาชนในทวีปแอฟริกาได้รับวัคซีนคิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 14 เข็มต่อประชากร 100 คน

ตัวเลขดังกล่าวถือว่าน้อยมาก หากเทียบกับ 128 เข็มต่อประชากร 100 คนในสหรัฐฯ และแคนาดา 133 เข็มในยุโรป 106 เข็มในละตินอเมริกาและแคริบเบียน 103 เข็มในโอเชียเนีย 102 เข็มในอเชีย และ 78 เข็มในตะวันออกกลาง

คณะกรรมการชุดนี้ประกาศเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 มกราคมปีก่อน ให้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) ความกังวลสูงสุดที่องค์การอนามัยโลกสามารถส่งเสียงได้

ทางคณะกรรมการยังคงยืนกรานจุดยืนของพวกเขา ไม่สนับสนุนมาตรการการบังคับให้ผู้เดินทางข้ามประเทศต้องมีวัคซีนพาสปอร์ต เพราะอาจสร้างความไม่เท่าเทียม เนื่องจากบางคนไม่สามารถฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19ได้ ด้วยเหตุผลส่วนตัว และเรียกร้องกระจายวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียม

นอกจากนี้แล้ว ทางคณะกรรมการยังเรียกร้องประเทศต่างๆ ยอมรับวัคซีนทุกตัวที่ได้รับการอนุมัติใช้ในกรณีฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลก

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น