เมื่อราวๆ เที่ยงวันของวันศุกร์ (15 ต.ค.) ทีมดับเพลิงถูกส่งไปยังย่านชุมชนแห่งหนึ่งในเมืองหลวงของออสเตรเลีย เพื่อตามล่าหาแหล่งที่มาของแก๊สรั่ว หลังได้รับแจ้งเกี่ยวกับกลิ่นฉุนวนเวียนอยู่ทั่วพื้นที่ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายพบว่า "ทุเรียน" คือต้นตอของความสับสนอลหม่านในครั้งนี้
ในตอนนั้น ฟอง ทรัน ชาวบ้านคนหนึ่งในแคนเบอร์รา เขียนติดตลกบนสื่อสังคมออนไลน์ว่า ต้นตอของกลิ่นอาจมาจากใครบางคนที่กินทุเรียน ผลไม้ที่พวกที่ชื่นชอบเรียกขานมันว่า "ราชาแห่งผลไม้" แต่ฝ่ายที่ไม่ชอบบอกว่ามันมีกลิ่นเหม็นฉุน
ราว 1 ชั่วโมงต่อมา สำนักงานหน่วยฉุกเฉินท้องถิ่นยืนยันข้อสันนิษฐานของ ทราน โดยระหว่างตรวจค้นพื้นที่ เจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลจากเจ้าของที่ดินรายหนึ่งที่อยู่ถัดจากร้านค้าต่างๆ บริเวณใกล้เคียงว่า แหล่งที่มาของกลิ่นน่าจะเป็นทุเรียน
จากนั้นสำนักงานหน่วยฉุกเฉินท้องถิ่นเขียนบนเฟซบุ๊ก อัปเดตข้อมูลว่า "หลังจากใช้เวลาสืบสวนสั้นๆ เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าทุเรียนคือแหล่งที่มาของกลิ่น ผลไม้นี้ส่งกลิ่นฉุนมากและกลิ่นลอยไปในระยะทางไกล"
It was just Durian 😮 https://t.co/YUthxIvauI— Adam Spence (@AdamSpenceAU) October 15, 2021
ทรัน ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า เขาคาดหมายไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่ามันน่าจะเป็นกลิ่นทุเรียน หลังเห็นรายงานข่าวระบุว่า มันมีแหล่งต้นตอแถวๆ ดิกสัน ย่านชุมชนซึ่งเป็นที่ตั้งร้านขายของชำและร้านอาหารเอเชียหลายร้าน
ออสเตรเลีย ซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีพลเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ดินแดนซึ่งเป็นผู้ส่งออกทุเรียนและผู้บริโภคหลัก และเหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ (15 ต.ค.) ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวออสเตรเลียเข้าใจผิด โทรศัพท์แจ้งหน่วยฉุกเฉิน หลังจากได้กลิ่นผลไม้ชนิดนี้
ในปี 2018 นักเรียนและครูเกือบ 500 คนของสถาบันเทคโนโลยีเมลเบิร์น ต้องอพยพออกจากหอสมุดของมหาวิทยาลัย หลังได้รับแจ้งเตือนเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายรั่วไหล แต่ท้ายที่สุดแล้วพบว่าต้นตอที่แท้จริงมาจากทุเรียนเน่าชิ้นหนึ่งที่อยู่ในตู้
ปีต่อมา "ราชาแห่งผลไม้" ก่อปัญหาอีกครั้ง คราวนี้ผู้คนต้องอพยพออกจากห้องสมุดของมหาวิทยาลัยแคนเบอร์รา หลังได้รับแจ้งเกี่ยวกับ "กลิ่นแก๊สเหม็นฉุนมาก" แต่หลังจากเจ้าหน้าที่หน่วยควบคุมวัตถุอันตรายเข้าตรวจค้นพื้นที่ ก็เป็นอีกครั้งที่ต้นตอมาจากทุเรียน
โรงแรมบางแห่งและระบบขนส่งสาธารณะในหลายประเทศ อย่างเช่นสิงคโปร์และญี่ปุ่น มีคำสั่งแบนทุเรียน โดยมีความกังวลโดยเฉพาะว่ากลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของผลไม้ชนิดนี้จะติดอยู่นานและก่อความเอะอะวุ่นวายแก่ประชาชน
(ที่มา : วอชิงตันโพสต์)