ยาเม็ดโควิด-19 ใหม่ของเมอร์ค ซึ่งมีต้นทุนคอร์สรักษาเพียงชุดละ 17.74 ดอลลาร์ (ราว 601 บาท) แต่บริษัทยาแห่งนี้จะคิดราคาชุดละ 712 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 24,000 บาท) กระตุ้นให้ทาง ลีนา เมนกานีย์ เจ้าหน้าที่จากองค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) เรียกร้องบรรดาบริษัทผู้ผลิตยาทั้งหลายอดทนอดกลั้นจากการแสวงหาผลกำไรจากโรคระบาดใหญ่
รัฐบาลสหรัฐฯ มอบเงินให้ เมอร์ค ราว 29 ล้านดอลลาร์ (982 ล้านบาท) สนับสนุนการพัฒนายาโมลนูพิราเวียร์ ยาเม็ดที่ทางบริษัทระบุว่าช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้ออาการหนักถึงขั้นเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ราวๆ 50% ในการทดลองทางคลินิกกับคนไข้โควิด-19
แม้จะได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากรัฐบาล แต่ เมอร์ค ยังจะคิดเงินรัฐบาลกลางราวๆ 712 ดอลลาร์ ต่อยาเม็ด 1 ชุด ที่มีคอร์สรักษา 5 วัน ซึ่งมีต้นทุนผลิตเพียง 17.74 ดอลลาร์ นั่นหมายความว่าบรรดาผู้เสียภาษีสหรัฐฯ ต้องจ่ายส่วนบวกเพิ่มถึง 40 เท่า
"การแสวงหากำไรจากโรคระบาดใหญ่ เป็นบางอย่างที่บริษัทยาทั้งหลายจำเป็นต้องอดทนอดกลั้น" ลีนา เมนกานีย์ เจ้าหน้าที่จากองค์การแพทย์ไร้พรมแดน ฝ่ายรณรงค์เข้าถึงทั่วโลกเปิดเผยกับรัสเซียทูเดย์
ผลิตภัณฑ์ยาสามัญต่างๆ อย่างเช่น โมลนูพิราเวียร์ คือคำตอบของเมนกานีย์ ในปัญหาด้านราคา ยานี้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของเมอร์ค และการกก๊อบปี้โดยบริษัทอื่นๆ เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ในทำนองเดียวกัน ยาเม็ดโควิด-19 ของไฟเซอร์ที่กำลังออกมาจะเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของไฟเซอร์เช่นกัน
องค์การแพทย์ไร้พรมแดนดำเนินการรณรงค์เห็นด้วยกับการละเว้นความตกลงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPs) ที่เสนอต่อองค์การอนามัยโลกโดยอินเดียและแอฟริกาใต้เมื่อปีที่แล้ว
ข้อเสนอนี้จะละเว้นสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 วิธีรักษา การตรวจเชื้อและเครื่องมือด้านสาธารณสุขอื่นๆ ตลอดช่วงเวลาของโรคระบาดใหญ่ และแม้จะได้รับการสนับสนุนจากชาติต่างๆ มากกว่า 100 ประเทศ แต่ข้อเสนอนี้ถูกขัดขวางโดยสมาชิกกลุ่มเล็กๆ ในองค์การการค้าโลก ในนั้นรวมถึงอียู สหราชอาณาจักร นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์
ทั้งนี้ แม้สหรัฐฯ ให้เงินทุนสนับสนุนการวิจัยแก่เมอร์คและไฟเซอร์ แต่พวกเขาสนับสนุนละเว้นความตกลงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
ยาโมลนูพิราเวียร์ ได้ดำเนินการผลิตโดยทั่วไปและกำลังอยู่ระหว่างการทดสอบในอินเดีย ประเทศที่ทาง เมนกานีย์ ระบุว่าจะมีราคาราวๆ 15 ถึง 20 ดอลลาร์ (ราว 580 ถึง 677 บาท) ต่อ 1 คอร์ส อย่างไรก็ตาม มันยังคงรอการอนุมัติ และยาเม็ดเวอร์ชันราคาถูกลงนี้จะไม่สามารถหาซื้อได้ในประเทศต่างๆ ที่บังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มข้น
เมนกานีย์ กระตุ้นว่าไม่ควรยึดติดกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาท่ามกลางโรคระบาดใหญ่ "ประเทศต่างๆ อย่างเช่นรัสเซียและบราซิล ซึ่งมีศักยภาพด้านการผลิตยา ควรเดินหน้าโดยไม่คำนึกถึงอุปสรรคทางสิทธิบัตร และผลิตยาเหล่านี้" เธอแนะนำ
(ที่มา : รัสเซียทูเดย์)