xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อโควิดสหรัฐฯ ใกล้จุดพีกหลังค่าเฉลี่ยติดเชื้อรายวันทะลุ 1.7 แสน ทำใจไวรัสจะอยู่ต่อไปอีกหลายปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การแพร่ระบาดระลอกล่าสุดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในสหรัฐฯ ซึ่งขับเคลื่อนโดยตัวกลายพันธุ์เดลตา อาจถึงจุดสูงสุดเร็วๆนี้ แต่พวกผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าอย่าชะล่าใจและคาดหมายว่าไวรัสจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันต่อไปอีกหลายปีข้างหน้า

ค่าเฉลี่ยผู้ติดเชื้อรายวันในช่วง 7 วันหลังสุดจนถึงวันจันทร์(13ก.ย.) อยู่ที่ 172,000 ราย สูงที่สุดในระลอกการแพร่ระบาดปัจจุบัน อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าอัตราการแพร่ระบาดกำลังชะลอตัวลงและเคสผู้ติดเชื้อมุ่งหน้าสู่ในทิศทางที่ลดลงในเกือบทุกรัฐของสหรัฐฯ สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานโดยอ้างข้อมูลที่รวบรวมโดยเว็บไซต์ Covid Act Now

อย่างไรก็ตามด้วยที่ยังคงมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,800 คนในแต่ละวัน และอีกกว่า 100,000 คนยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อโควิด-19 อาการหนัก ถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่หลวงสำหรับเจ้าหน้าที่ในความพยายามโน้มน้าวให้ชาวอเมริกันชนผู้ยังลังเลเข้ารับวัคซีน ท่ามกลางการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนและบรรยากาศทางการเมืองที่เต็มไปด้วยความแตกแยก

บาคติ ฮันโซติ รองศาสตราจารย์ในแผนกการแพทย์ฉุกเฉินมหาวิทยาลัยจอห์น ฮ็อปกินส์ และผู้เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยหนักโควิด-19 แสดงความคิดเห็นกับเอเอฟพีว่า เธอเห็นสหรัฐฯกำลังเดินตามวงโคจรแบบเดียวกับอินเดีย ขณะที่ประเทศอื่นๆในยุโรปตะวันตกก็อยู่ในแนวโน้มขาลงเช่นกัน ในการแพร่ระบาดของตัวกลายพันธุ์เดลตาระลอกปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ฮันโซติ เตือนว่าเคยมีสัญญาณหายใจได้โล่งขึ้น เมื่อครั้งการแพร่ระบาดระลอกฤดูใบไม้ผลิดูท่าจะจบลง แต่สุดท้ายมันกลับไม่เป็นแบบนั้น และ "คราวนี้ ฉันรู้สึกสองจิตสองใจ" เธอยอมรับ

"มีความเป็นไปได้จะเกิดตัวกลายพันธุ์น่าที่กังวลใหม่ๆและพบปะกันทางสังคมในร่มกันมากขึ้นท่ามกลางการมาเยือนของฤดูหนาว อาจทำให้ไวรัสฟื้นคืน จนกว่าเราจะเรียนรู้บทเรียนจากการแพร่ระบาดระลอก 4" ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ระบุ

อังเกลา รัสมูสเซน นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยซัสแคตเชวันในแคนาดา เสริมว่าเธอไม่แน่ใจว่าการแพร่ระบาดระลอก 4 นั้นจบลงไปแล้วหรือไม่ "หากคุณดูระลอกฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว เคยมีช่วงเวลาที่เคสผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นสูงมากเป็นทวีคูณ จากนั้นก็ดูเหมือนกำลังลดลง แล้วจากนั้นมันกลับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง"

เพื่อรับประกันว่าการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อจะทรงตัว การเร่งจำนวนผู้เข้ารับวัคซีนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ปัจจุบันมีพลเรือนสหรัฐฯอายุ 12 ปีขึ้นไปที่มีสิทธิ์ฉีดวัคซีน เข้ารับวัคซีนแล้วคิดเป็นสัดส่วน 63.1% หรือคิดเป็น 54% ของประชากรทั้งหมด

ตัวเลขดังกล่าวทำให้สหรัฐฯยังเป็นรองบรรดาชาติต่างๆอย่าง โปรตุเกสและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในอัตราฉีดวัคซีนแก่ประชาชน แม้อเมริกามีวัคซีนอย่างล้นเหลือ โดยโปรตุเกสและสหรัฐอาหรับเอเมริเรตส์ ฉีดวัคซีนแก่ประชาชนครบแล้วคิดเป็นสัดส่วน 81% และ 79% ตามลำดับ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลของประธานาธิบดโจ ไบเดน แถลงมาตรการใหม่ๆจำนวนหนึ่งเพื่อยกระดับโครงการฉีดวัคซีนประชาชน ในนั้นรวมถึงบังคับฉีดวัคซีนสำหรับบริษัทต่างๆที่มีพนักงานเกิน 100 คน อย่างไรก็ตามเบื้องต้นยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามาตรการนี้จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน

นอกเหนือจากการฉีดวัคซีนแล้ว พวกผู้เชี่ยวชาญมองว่ามาตรการอื่นๆก็ยังคงมีความสำคัญเช่นกัน

โธมัส ไซ ศัลยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ให้ความเห็นว่าพื้นที่จุดร้อนทั้งหลายยังจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการสวมหน้ากาก และแนะนำว่าสหรัฐฯควรดูประเทศอื่นๆเป็นตัวอย่าง ในการนำชุดตรวจรวดเร็ว (Rapid Test) มาใช้อย่างกว้างขวางตามโรงเรียนและภารธุรกิจต่างๆ

ชุดตรวจเหล่านี้หาได้ฟรีหรือไม่ก็มีราคาถูกมากๆในเยอรมนี สหราชอาณาจักรและแคนาดา แต่กลับมีราคาสูงถึง 25 ดอลลาร์(ประมาณ 823 บาท) ต่อ 1 แพ็ค 2ชุด ในสหรัฐฯ แม้รัฐบาลของโบเดนมีความพยายามฉุดราคาให้ต่ำลงผ่านข้อตกลงกับบรรดาผู้ค้าปลีกแล้วก็ตาม

ก่อนหน้าการแพร่ระบาดของตัวกลายพันธุ์เดลตา พวกผู้เชี่ยวชาญบางส่วนถึงกับประกาศว่าเมื่อดูจากเปอร์เซ็นต์ของประชาชนที่ฉีดวัคซีนแล้วและคนที่มีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อโดยธรรมชาติ สหรัฐฯกำลังเข้าใกล้จุดของการบรรลุภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว

รัสมูสเซน บอกว่าการคาดเดาเหล่านี้พิสูจน์แล้วว่าไม่ถูกต้อง และยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าเมื่อไหร่ที่สหรัฐฯจะบรรลุเป้าหมายภูมิคุ้มกันหมู่ "ยังมีอีกหลายพื้นที่ของประเทศ ที่ประชากรวัยผู้ใหญ่มีอัตราการฉีดวัคซีนไม่ถึง 50%" เธอกล่าว

(ที่มา:เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น