กองทหารปฏิบัติการพิเศษของกินี ทำรัฐประหารยึดอำนาจ คุมตัวประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งมายาวนาน พร้อมประกาศยุบรัฐบาล ยกเลิกรัฐธรรมนูญ และบังคับใช้มาตรการเคอร์ฟิวอย่างไม่มีกำหนด จากนั้นพยายามกระชับอำนาจโดยเตือนพวกเจ้าหน้าที่ รวมทั้งบรรดารัฐมนตรีว่า หากปฏิเสธไม่เข้าร่วมการประชุมซึ่งจัดขึ้นในวันจันทร์ (6 ก.ย.) ก็จะถือว่าเป็นกบฏต่อต้านคณะปกครองทหาร
ถึงแม้สหประชาชาติออกมาประณามการยึดอำนาจที่เกิดขึ้นในวันอาทิตย์ (5) คราวนี้ รวมทั้งกลุ่มเศรษฐกิจของภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกขู่ตอบโต้ แต่ พ.อ.มามาดี โดอุมบัวยา ผู้บัญชาการกองทหารปฏิบัติการพิเศษแห่งกองทัพกินี ซึ่งเป็นหัวหน้าการรัฐประหารคราวนี้ แถลงว่า "ความยากจนและคอร์รัปชัน" คือแรงผลักดันให้กองกำลังของเขาต้องปลดประธานาธิบดีอัลฟา กงเด ออกจากตำแหน่ง
"เรายุบรัฐบาลและสถาบันต่างๆ" โดอุมบัวยา แถลงผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐ พร้อมกับคลุมตัวด้วยธงชาติกินีและห้อมล้อมด้วยนายทหารคนอื่นๆ 8 คน "เรากำลังจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ด้วยกัน"
เสียงปืนปะทุขึ้นใกล้ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงโคนาครี เมืองหลวงของประเทศในตอนเช้าวันอาทิตย์ (5 ) วิดีโอต่างๆ ที่เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งรอยเตอร์ไม่ยืนยันว่าเป็นของจริงหรือไม่ พบเห็น กงเด อยู่ในห้องๆ หนึ่ง ถูกล้อมกรอบด้วยทหารหน่วยรบพิเศษ
แหล่งข่าวกองทัพเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีรายนี้ถูกพาไปยังสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งไม่เปิดเผย นอกจากนี้แล้ว ยังมีคนอื่นๆ อีกหลายคนถูกจับเช่นกัน ในนั้นรวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลหลายราย อย่างไรก็ตาม เซลโลอู ดาเลียน ดิอัลโล ผู้นำฝ่ายค้านหลักของกินี ปฏิเสธข่าวลือว่าเขาเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกควบคุมตัว
กงเด คว้าชัยในศึกเลือกตั้งกลับมาเข้าดำรงตำแหน่งสมัย 3 ในเดือนตุลาคมปีก่อน หลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญเปิดทางให้เขาสามารถลงชิงชัยได้อีกสมัย ซึ่งกลายเป็นชนวนทำให้เกิดการประท้วงรุนแรงทั่วประเทศจากฝ่ายต่อต้าน
เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลยังขึ้นภาษีสูงลิ่วเพื่อเติมเต็มเงินทุนภาครัฐ รวมทั้งปรับขึ้นราคาน้ำมันอีก 20% อันเป็นความเคลื่อนไหวที่โหมกระพือความผิดหวังในวงกว้าง
จนถึงช่วงเย็นวันอาทิตย์ (5) ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า โดอุมบัวยา เข้าควบคุมประเทศโดยสมบูรณ์แล้วหรือไม่ รวมทั้งกระทรวงกลาโหมออกถ้อยแถลงระบุว่า ความพยายามโจมตีทำเนียบประธานาธิบดีถูกตีโต้กลับ
ถึงแม้ทั้งทางพรรคฝ่ายค้านและคณะปกครองทหารที่เข้ายึดอำนาจต่างต้องการขับไล่กงเดออกจากตำแหน่ง แต่จนถึงวันจันทร์ก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าสองฝ่ายนี้มีความเห็นพ้องกันแค่ไหนในการเดินต่อไปข้างหน้า
นอกจากนั้น ยังไม่เป็นที่ทราบกันว่า ผู้นำรัฐประหาร โดอุมบัวยา ได้รับความสนับสนุนมากน้อยแค่ไหนจากภายในกองทัพ เขามีฐานะเป็นผู้บัญชาการของหน่วยรบพิเศษซึ่งถือเป็นทหารชั้นแนวหน้าของประเทศ ทว่าก็ยังมีความเป็นไปได้ที่ฝ่ายอื่นๆ ในกองทัพซึ่งยังคงจงรักภักดีประธานาธิบดีผู้ถูกโค่นล้มจะยกกำลังออกมาต่อต้านการรัฐประหารในช่วงไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วันข้างหน้า
ทางด้าน อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ออกมาประณามในสิ่งที่เขาเรียกว่า "การยึดอำนาจรัฐบาลของกองทัพ" และเรียกร้องให้ปล่อยตัว กงเด ในทันที ขณะที่กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) ขู่กำหนดมาตรการคว่ำบาตร
ด้านสหภาพแอฟริกาเผยว่า จะเปิดการประชุมเร่งด่วนและใช้มาตรการต่างๆ ที่เหมาะสม ส่วนกระทรวงการต่างประเทศของไนจีเรีย ชาติมหาอำนาจในภูมิภาค เรียกร้องขอให้คืนสู่ความสงบเรียบร้อยภายใต้รัฐธรรมนูญ
ในช่วงบ่ายวันอาทิตย์ที่เสียงปืนสิ้นสุดลง พวกชาวบ้านเสี่ยงกลับขึ้นสู่ท้องถนนในเมืองหลวง เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จของการลุกฮือ
รถกระบะและยานยนต์ทหารแล่นออกมาพร้อมกับรถจักรยานยนต์ มีการบีบแตรฉลอง ท่ามกลางผู้คนที่ตะโกนส่งเสียงเชียร์ "กินี ได้รับการปลดปล่อยด้วย สุดยอดเลย" ผู้หญิงคนหนึ่งตะโกนลงมาจากระเบียง
อเล็กซิส อารีฟฟ์ จากสำนักงานวิจัยแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ ระบุว่า การก่อกบฏและรัฐประหารไม่ใช่เรื่องใหม่ในแอฟริกา ภูมิภาคที่พบเห็นการถอยหลังทางประชาธิปไตยครั้งใหญ่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ทั้ง กงเด และผู้นำไอวอรีโคสต์ ต่างเคลื่อนไหวใช้การแก้กฎหมายขยายระยะเวลาการครองตำแหน่งประธานาธิบดีในขวบปีที่ผ่านมา ส่วน มาลี เกิดรัฐประหาร 2 ครั้งในรอบ 9 เดือน และในชาด เกิดการยึดอำนาจ 1 ครั้ง
กินี มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ กงเด ครองอำนาจ ผลจากความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมบอกไซต์ แร่เหล็ก ทองคำ และเพชร อย่างไรก็ตาม มีประชาชนแค่จำนวนน้อยเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ และฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์บอกว่ารัฐบาลใช้กฎหมายอาญาอันเข้มงวดกีดกันผู้เห็นต่าง ขณะที่ความแตกแยกทางเชื้อชาติและปัญหาคอร์รัปชันก็ยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกทางการเมืองหนักหน่วงขึ้น
(ที่มา : รอยเตอร์, เอพี)