เสช โชเมตต์ พี่ชายของซูเซตต์ โชเมตต์ หายสาบสูญขาดการติดต่อกับน้องๆ ทางบ้านในอาลาเมดา เคาน์ตี รัฐแคลิฟอร์เนีย ไปนานกว่า 4 ปีแล้ว ซูเซตต์จำได้ว่าพี่เสชของเธอเป็นคนเฮฮาและใจดี และพี่เคยเป็นนักศึกษาภาควิชาประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (ยูซี เบิร์กลีย์) แต่ต้องฝันสลายเพราะประสบโรคภัยมีอาการป่วยทางจิต โดยในช่วงที่เติบโตมาด้วยกัน พี่เสชต้องต่อสู้กับความผิดปกติจากโรคไบโพลาร์ ที่ทำให้ต้องเข้าๆ ออกๆ ไปตามโรงพยาบาลหลายแห่ง ตลอดจนเข้าๆ ออกๆ ตามบ้านกึ่งวิถี (สถานสงเคราะห์และฟื้นฟูคนไข้โรคจิต) ก่อนจะกลายเป็นคนไร้บ้านสัญจรเร่ร่อน
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา ซูเซตต์เห็นพี่เสชของเธอออกโทรทัศน์ในช่วงข่าวท้องถิ่นของรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่เขาอยู่ในสภาพที่น่าสะเทือนใจอย่างยิ่ง คือ นอนบนพื้นและถูกล็อกตัวใส่กุญแจมือ ด้วยสาเหตุว่าไปขว้างขวดน้ำใส่ผู้ว่าการของรัฐ นาม แกวิน นิวซอม ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ผู้ให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวเรียก เสช โชเมตต์ ด้วยคำว่า “ชายก้าวร้าว” และนั่นเป็นครั้งแรกที่ซูเซตต์ได้เห็นพี่ชาย นับจากหลายๆ ปีที่เขาหายสาบสูญและขาดการติดต่อกับทางบ้าน
“ดิฉันไม่เคยคาดคิดเลยว่าพี่เสชจะเป็นผู้ชายคนนั้น แต่เขาก็เป็นชายคนนั้นจริงๆ” ซูเซตต์ให้สัมภาษณ์แก่เอพี พลางสะอื้น “พี่ไม่ใช่คนเลวร้ายเลยนะคะ เขาได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี และเขาจะยอมรับความช่วยเหลือหากเขาอยู่ในที่ที่เหมาะสมกับเขา”
US ขาดแคลนสถานดูแลคนไร้บ้านที่ป่วยทางจิตรุนแรง ซึ่งต้องรักษากันยาวนาน
ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นที่หนึ่งของประเทศด้านจำนวนคนไร้บ้านสูงสุด คือ 161,548 ราย (รองลงมาคือรัฐนิวยอร์ก มากกว่าเก้าหมื่นราย) ราวหนึ่งในสี่ของจำนวนดังกล่าว เป็นคนไร้บ้านซึ่งมีอาการป่วยทางจิตขั้นรุนแรง จำนวนประมาณ 37,000 ราย จะเข้าๆ ออกๆ รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ แบบว่าเด้งไปเด้งมาระหว่างหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานเอ็นจีโอหลายรอบ พร้อมกับหมุนเวียนไปเข้าคุกบ้าง เข้าห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลบ้าง แล้วไปลงเอยอยู่ตามท้องถนน
ทั้งนี้ ประชากรกลุ่มเปราะบางเหล่านี้จำนวนมหาศาลใช้ชีวิตอยู่ในวงจรดังกล่าวเนิ่นนานเป็นหลายทศวรรษ โดยไม่มีหน่วยงานใดติดตามสอดส่องว่าระบบช่วยเหลือดูแลคนไร้บ้านและป่วยทางจิต (ซึ่งเป็นระบบที่ดำเนินงานกระจัดกระจาย) สามารถทำงานได้ผลเพียงใด และในเวลาเดียวกัน ไม่มีใครทราบว่าจะแก้ปัญหาทั้งหมดอย่างไร เอพีรายงาน
ในปัจจุบัน สหรัฐฯ ยังขาดแคลนสถานที่ดูแลช่วยเหลือบรรดาผู้ป่วยไข้ขาดไร้ที่พึ่งอย่างเสช โชเมตต์ ซึ่งต้องได้รับการบำบัดรักษาทางการแพทย์แบบระยะยาว พอล ซี. เว็บสเตอร์ ผู้อำนวยการหน่วยความร่วมมือโฮปสตรีทโคอาลิชัน (Hope Street Coalition) ชี้ปัญหาไว้อย่างนั้น พร้อมบอกด้วยว่าผู้ที่มีความไม่ปกติทางสมอง จำเป็นจะต้องได้รับโอกาสที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสภาพที่เอื้อให้อยู่ได้อย่างปกติสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่ได้รับการบำบัดรักษาจนสุขภาพจิตกระเตื้องดีขึ้นแล้ว เพราะผู้ป่วยทางจิตที่อาการดีขึ้นแล้ว ยังมีโอกาสสูงที่จะกลับไปป่วยหนักได้อีก
แต่ระบบเบิกค่ารักษาพยาบาลที่เป็นสวัสดิการสังคมของทางการ ให้วงเงินแก่การรักษาโรคทางสุขภาพจิตน้อยอย่างยิ่ง ผ.อ.เว็บสเตอร์กล่าว โดยให้ตัวอย่างว่าสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลจะไม่ครอบคลุมถึงการรักษาในสถาบันบำบัดโรคจิตที่มีขนาดใหญ่กว่า 16 เตียง
“ประชาชนยังไม่เข้าใจปัญหาคนเร่ร่อนและผู้ป่วยทางจิต และพากันโกรธหนักเมื่อเห็นคนเหล่านี้ปักเต็นท์พักอาศัยตามพื้นที่ว่างและทางเดินต่างๆ หรือนอนหลับกันริมถนน ผู้คนยังไม่เข้าใจว่าในการแก้ปัญหานี้ จะต้องมีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องมากมายอะไรบ้าง ซึ่งต้องไม่ใช้แค่วิธีขับไล่ให้ไปพ้นๆ จากสายตาพวกเขา” กล่าวโดย มาร์กอต ดาชีลล์ รองประธานศูนย์อีสต์เบย์ในสังกัดองค์การพันธมิตรแห่งชาติด้านการป่วยไข้ทางจิต
ในเวลาเดียวกัน ครอบครัวของคนไร้บ้านและผู้ป่วยทางจิตก็เจ็บปวดกับปัญหา ทั้งนี้ ความเจ็บปวดจากการที่สมาชิกในครอบครัวมีอาการป่วยไข้ร้ายแรงนั้น โดยทั่วไปจะเป็นปัญหาส่วนตัวของคุณพ่อคุณแม่ แต่เมื่อปัญหานี้ไปกระทบโดยตรงกับผู้บริหารสูงสุดของรัฐ เรื่องราวจึงได้ปรากฏสู่ความรับรู้ของสาธารณชน และกลายเป็นปัญหาสังคมในองค์รวม
“สมาชิกในครอบครัวมีอาการป่วยไข้ทางจิต เป็นปัญหาของครอบครัว ก็จริงอยู่” ซูเซตต์ กล่าวกับเอพี และตั้งประเด็นว่า “กระนั้นก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นในครอบครัวส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม เพราะครอบครัวไม่ได้ตั้งเป็นเอกเทศจากสังคม”
ผู้ว่าฯ แคลิฟอร์เนียไม่บาดเจ็บ และไม่ถือสา: “บางคนก็มีวิธีทักทายแตกต่างกันไป”
เหตุตื่นเต้นระหว่างผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย กับเสช โชเมตต์ เมื่อพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน 2021 เกิดขึ้นสั้นๆ ในจังหวะที่ผู้ว่าฯ นิวซอม ลงพื้นที่ปฏิบัติงานบนถนนวอชิงตันในย่านโอล์ดโอ๊กแลนด์ และเตรียมจะเข้าไปเยี่ยมทักทายร้านกราฟฟิตี พิซซ่า ร้านเจ้าดังประจำถิ่น เสช โชเมตต์ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ในระยะไม่กี่เมตร เกิดอาการ “ของขึ้น” ขว้างขวดน้ำใส่ผู้ว่าฯ สถานการณ์โกลาหลจึงอุบัติขึ้น คณะเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของผู้ว่าฯ นิวซอม รีบพาเขาให้พ้นออกจากจุดเกิดเหตุ ขณะที่ทีมตำรวจลาดตระเวนทางหลวงแห่งแคลิฟอร์เนียลากตัว เสช โชเมตต์ ไปยังที่โล่ง ล็อกตัวลงกับพื้น พร้อมกับใส่กุญแจมือ
เนื่องจากการกระทำของ เสช โชเมตต์ ผู้ที่ไม่มีใครรู้จักว่าเป็นใคร เข้าข่ายมุ่งร้ายต่อผู้บริหาระดับสูงแห่งรัฐ เขาจึงถูกนำตัวไปไต่สวน และมีการควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำซานตาริต้าช่วงหนึ่ง ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวออกมาภายในวันเดียวกัน โดยมีหน่วยงานบำบัดรักษาผู้ป่วยทางจิตรับไปดูแลช่วยเหลือ ทั้งนี้ เอพีรายงานว่าเสช โชเมตต์ ไม่มีโทรศัพท์มือถือติดตัว ขณะที่ตำรวจก็ไม่มีข้อมูลที่จะติดต่อไปยังครอบครัวของเขา
ด้านผู้ว่าฯแคลิฟอร์เนียไม่ได้บาดเจ็บแต่อย่างใด และไม่ถือสาหาความ โดยในช่วงแถลงข่าวการปฏิบัติภารกิจลงพื้นที่ส่งเสริมบรรดาวิสาหกิจขนาดเล็กในเมืองโอ๊กแลนด์ เนื่องในโอกาสการประกาศยุติล็อกดาวน์ทั่วรัฐ หลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บรรเทาลงมากพอที่จะกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้บ้าง นั้น ผู้สื่อข่าวถามถึงเหตุวุ่นวายที่เกิดขึ้น ผู้ว่าฯ นิวซอม กล่าวขำๆ อย่างไม่ถือสาใดๆ บอกว่า บางคนก็มีวิธีทักทายแตกต่างกันไป สื่อมวลชนท้องถิ่นนาม อีสต์เบย์ไทม์ส รายงานอย่างนั้น
ในข่าวเหตุการณ์ระทึกที่เกิดขึ้นกับผู้ว่าฯนิวซอม ที่เผยแพร่ทางโทรทัศน์ทั่วแคลิฟอร์เนีย และมีคลิปจับกุมผู้ขว้างขวดน้ำอย่างอุกอาจ ซึ่งมีการระบุชื่อนามสกุลครบครัน พร้อมซูมให้เห็นใบหน้าชัดเจนนั้น โฆษกหน่วยลาดตระเวนทางหลวงแห่งแคลิฟอร์เนีย (ซีเอชพี) ซึ่งเป็นหน่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ว่าฯ นิวซอม กล่าวตอนหนึ่งว่า มีบุคคลก้าวร้าวรายหนึ่งตรงเข้าไปยังผู้ว่าฯ นิวซอม คณะเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของผู้ว่าฯ นิวซอม จึงรีบพาเขาให้พ้นออกมา ขณะที่ทีมงานซีเอชพีทำการจับกุมชายผู้นี้
ซูเซตต์ โชเมตต์ น้องสาวของเสช โชเมตต์ จึงได้เห็นพี่ชายที่หายสาบสูญและขาดการติดต่อกันหลายปี แต่การพบเห็นในหนนี้เป็นไปด้วยความรู้สึกสะเทือนใจ แล้วซูเซตต์ โชเมตต์ก็ไปแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่
ต่อมาในเดือนกรกฎาคม เสช โชเมตต์ต้องไปขึ้นศาลในชั้นไต่สวนของอีกหนึ่งคดี คือ คดีที่ไปถ่มน้ำลายใส่เจ้าหน้าที่เมื่อเดือนมีนาคมขณะถูกนำตัวไปยังโรงพยาบาลจิตเวชแห่งหนึ่ง โดยเขาพยายามขัดขืน ปรากฏว่าเขาไม่ได้ไปศาล
หนึ่งวัน หลังเหตุตื่นเต้นที่ทำให้เสช โชเมตต์ได้ออกโทรทัศน์ทั่วรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวคือ ในวันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน ผู้ช่วยทนายความสงเคราะห์ในสังกัดของเขตอาลาเมดา เคาน์ตี นาม เจฟ โครนีย์ บอกเอพีว่าเสช โชเมตต์ อยู่ในความดูแลรักษาอาการป่วยไข้แล้ว และดังนั้น พวกข้อกล่าวหาทั้งปวงควรจะถูกยกเลิกไปทั้งหมด (*หมายเหตุ-เป็นทนายความที่รับเงินเดือนจากภาครัฐเพื่อให้ช่วยว่าความแก่จำเลยซึ่งไม่สามารถจ้างทนายความของบริษัทเอกชนได้)
“เราไม่สามารถเดินหน้ารักษาผู้คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตได้ด้วยการขังไว้ในกรง” เจฟ โครนีย์ กล่าว
เสช โชเมตต์ เหยื่อไบโพลาร์ ถูกทำลายชีวิตยับเยิน ทั้งที่เคยเป็นผู้มีโอกาสดีทางสังคม
เสช โชเมตต์ ชายร่างสูงใหญ่ ผิวคล้ำเข้ม วัย 54 ปี เติบโตขึ้นมาในเมืองโอ๊กแลนด์ คุณพ่อคุณแม่เป็นนักบัญชีที่ลี้ภัยจลาจลทางการเมืองในประเทศเฮติ มาตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ที่เขายังเป็นทารก ที่ผ่านมา คุณพ่อคุณแม่ทำงานหนักเพื่อสนับสนุนให้เขาและน้องๆ มีชีวิตที่ดี ไม่ว่าจะการส่งเสียให้เรียนในโรงเรียนคาทอลิก ส่งไปเรียนดนตรี และจัดหาบ้านหลังใหญ่ให้ลูกๆ อยู่กันอย่างสะดวกสบาย ภาษาที่ใช้คุยกันในบ้านเป็นภาษาฝรั่งเศส
อาการไบโพลาร์ของเสช โชเมตต์ ก็ละม้ายผู้ป่วยไบโพลาร์ทั่วไป คือดูเสมือนจะเป็นอาการเกรี้ยวกราดเจ้าโทโสเป็นครั้งคราวแบบเด็กวัยรุ่นพลังแรง ซึ่งดูไม่ออกเลยว่าจะเป็นอะไรที่มากถึงขั้นป่วยทางจิต
แต่ในที่สุด ความผิดปกติจากโรคไบโพลาร์ก็รุนแรงถึงขั้นที่ทำให้ความคิดและพฤติกรรมของเขาเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล ในช่วงอายุ 20 ต้นๆ เขาเริ่มแสดงอาการผิดปกติร้ายแรง คือ ใช้กรรไกรตัดเสื้อผ้า และเอาน้ำมันเครื่องมาละเลงไปทั่วบ้าน ซูเซตต์เล่าอย่างนั้น
“ตอนนั้นล่ะค่ะที่ดิฉันกับคุณแม่และน้องๆ สบตากัน และแน่ใจว่านี่ไม่ใช่ธรรมดาแน่แล้ว” ซูเซตต์กล่าว
การตรวจวินิจฉัยความผิดปกตินี้ดำเนินอยู่นานทีเดียว โดยที่ว่าพี่ชายของซูเซตต์จะมีอาการเป็นปกติคราวละนานๆ จนคิดกันว่าเขาหายป่วยแล้ว กระนั้นก็ตาม ความเป็นปกติของเขาก็ไม่เคยยั่งยืนตลอดรอดฝั่ง เขาเด้งเข้า-เด้งออกรับการบำบัดรักษาในหลายหลากสถาบัน และผู้คนที่ได้รับมอบหน้าที่ให้ดูแลรักษาเขา ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ และจบลงด้วยการบอกเลิกทุกราย ซูเซตต์เล่าแก่เอพี
ข้อมูลประวัติการศึกษาของเสช โชเมตต์ ที่ยูซี เบิร์กลีย์แสดงให้เห็นว่าเขาพยายามจะเอาให้จบปริญญาตรีอยู่หลายรอบ โดยมีการลาออก แล้วไปสมัครเข้าเรียนอีก รวมหลายรอบนับจากปี 1987 จนถึงปี 2003
ช่วงสุดท้ายที่พี่ๆ น้องๆ ได้พบปะใกล้ชิดกันบ้างคือช่วงที่เสช โชเมตต์ พักอยู่กับบ้านกึ่งวิถีในโอ๊กแลนด์ แต่แล้วก็ปรากฏว่าบ้านหลังนี้ประสบเพลิงไหม้ในปี 2017 มีผู้เสียชีวิตถึง 4 ราย ขณะที่ตัวเขา ซึ่งก็มีอายุล่วงเข้าสู่วัย 50 ปีแล้ว ได้เลือกเส้นทางชีวิตแห่งคนเร่ร่อน เขาไม่ยอมกลับเข้าบ้าน ไม่ยอมติดต่อไปหาน้องๆ และเป็นคนไร้บ้านอยู่ในเมืองโอ๊กแลนด์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของอาลาเมดา เคาน์ตี และมีค่าครองชีพแพงอย่างจัด โดยที่ว่าค่าเช่าอพาร์ตเมนต์โดยเฉลี่ยจะแพงถึงเดือนละ 2,700 ดอลลาร์
ทั้งนี้ อาชีพล่าสุดของเสช โชเมตต์ที่แจ้งไว้ในบันทึกของเรือนจำซานตาริต้า คือ พนักงานปั๊มน้ำมัน ซึ่งเป็นอาชีพที่จ้างกันด้วยอัตรา 18 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ตามข้อมูลของเว็บไซต์ https://www.ziprecruiter.com/Salaries/Gas-Pumper-Salary ซึ่งเท่ากับว่าเขาน่าจะมีรายได้เดือนละ 3,142 ดอลลาร์ หากเป็นการทำงานตามมาตรฐานทั่วไป คือ วันละ 8 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 5 วัน รายได้ระดับนี้ ย่อมไม่เพียงพอที่จะเช่าอพาร์ตเมนต์อยู่อาศัยเป็นเรื่องเป็นราวได้ เพราะเขาจะเหลือเงินสำหรับอาหารและสิ่งยังชีพอื่นๆ เพียงเดือนละ 442 ดอลลาร์เท่านั้น
ผู้คนมากมายตั้งคำถามว่า ครอบครัวทิ้งขว้างพี่น้องที่ป่วยด้วยโรคไบโพลาร์หรืออย่างไร ผู้เชี่ยวชาญตอบว่าครอบครัวได้พยายามอย่างที่สุดแล้ว
“ในสายตาของสาธารณชนมักจะมองว่าครอบครัวของผู้ป่วยไบโพลาร์ผลักดันให้ผู้ป่วยพ้นออกไปจากบ้าน หรือบ้างก็มองว่าครอบครัวละทิ้งผู้ป่วยไปเลย ไม่สนใจจะไปใยดี แต่ในหลายกรณีมากๆ เราพบว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น” เอลิซาเบธ เฮกค์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของศูนย์ทีเอซี กล่าว และยืนยันว่า “ครอบครัวได้พยายามอย่างที่สุดแล้วค่ะ”
นอกจากนั้น ยังมีผู้ป่วยไบโพลาร์ไม่น้อยที่เลือกจะไม่อยู่ในบ้านของคุณพ่อคุณแม่ เพราะตระหนักดีว่าเมื่ออาการป่วยกำเริบขึ้นมา เขาไม่สามารถหยุดยั้งพลังการทำลายล้างที่ทำร้ายครอบครัวครั้งแล้วครั้งเล่า
รัฐบาลอเมริกันทุกระดับหั่นงบเพื่อผู้ป่วยโรคจิต ขณะที่ผู้ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยต้องแบกภาระล้นมือ
ที่ผ่านมา รัฐบาลอเมริกันในทุกระดับพากันทยอยลดงบประมาณเพื่อการช่วยเหลือผู้มีปัญหาสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่องตลอดหลายทศวรรษ ทั้งนี้ เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว อดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี เคยมีนโยบายจะจัดสร้างคลินิกชุมชนด้วยงบของรัฐบาลกลาง เพื่อทดแทนโรงพยาบาลโรคจิต แต่การดำเนินการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เคยเกิดขึ้น
ในเวลาเดียวกัน หลายรัฐทยอยลดขนาดโรงพยาบาลโรคจิต และโรงพยาบาลโรคจิตท่มีอยู่ก็มักจะถูกสงวนไว้ให้แก่ผู้กระทำความผิดในคดีอาชญากรรม (เข้ารับการบำบัดอาการจิตเภทแทนที่จะถูกส่งตัวไปรับโทษจำคุก) ศูนย์ส่งเสริมการรักษาผู้ป่วยทางจิต (ศูนย์ทีเอซี) ในรัฐเวอร์จิเนียให้ข้อมูลอย่างนั้น
บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาสุขภาพจิตบอกเอพีว่า ศักยภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยทางจิตในสหรัฐฯ นั้น ต้องนับว่าไม่เพียงพอในทุกด้าน ทั้งจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยใน ทั้งการรักษาสำหรับผู้ป่วยนอก และทั้งสถานที่ให้การบำบัดระยะยาว ยิ่งกว่านั้น ขณะที่หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลรักษาผู้ป่วยทางจิตล้วนได้รับงบประมาณสนับสนุนมาแบบไม่เพียงพออย่างสุดๆ นั้น เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานก็อยู่ในภาวะงานล้นมือ และค่าใช้จ่ายด้านสถานที่ก็แพงจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่แพงระยับย่านอ่าวซานฟรานซิสโกของรัฐแคลิฟอร์เนีย (San Francisco Bay Area)
เทเรซา ปัสควินี อดีตกรรมาธิการส่งเสริมสุขภาพจิตแห่งเขตคอนทรา คอสต้า เคาน์ตี ได้จัดทำสารคดีประสบการณ์การต่อสู้ของครอบครัวเธอเพื่อให้ลูกชายได้รับความช่วยเหลือรักษาอาการป่วยด้วยโรคจิตเภท เธอใส่ใจอย่างยิ่งกับข่าวที่ว่าชายคนหนึ่งขว้างขวดใส่ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย
“แม่ๆ อย่างดิฉันอดไม่ได้ที่จะต้องถามก่อนเลยว่า เขาเป็นคนหนึ่งในพวกเราหรือเปล่านะ น่าจะใช่มั้ง” ปัสควินีกล่าวกับเอพีอย่างนั้น และแจกแจงวิเคราะห์ปัญหาว่า “สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ พวกเขาไม่มีที่พักพิง ดังนั้น เขาจะแสดงอาการรุนแรง แล้วก็ลงเอยด้วยการถูกจับกุมคุมขัง วนเวียนไปเรื่อยมีรู้จบ นี่เป็นวิกฤตการณ์แห่งมนุษยธรรมที่ไม่มีใครพูดถึง”
ทั้งนี้ โรคจิตเภทมีหลายกลุ่มอาการ เช่น การหลงผิดว่ามีคนจะมาทำร้าย อาการประสาทหลอนว่าได้ยินเสียงคนพูด/เห็นภาพที่ไม่มีอยู่จริง การพูดจาสะเปะสะปะ วกวน การมีพฤติกรรมผิดปกติจำพวกไม่สวมเสื้อผ้าหรือเล่นอุจจาระ ความบกพร่องด้านการตัดสินใจและด้านความทรงจำ ฯลฯ
ส่วนสำหรับโรคไบโพลาร์นั้น เวลาที่ออกอาการ จะมีภาวะอารมณ์แปรปรวนไปมาได้ในระหว่างการสุดโต่ง 2 ขั้ว คือ อารมณ์ดีเกินเหตุ กับเกรี้ยวกราดอาละวาด โดยจะกระทำการที่ไม่ปกติ ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง เนื่องจากความผิดปกติของโมเลกุลพันธุกรรม และ/หรือความเครียดส่วนตัวที่รุนแรงหลังประสบเหตุสะเทือนใจ หรือได้รับผลกระทบจากการใช้สารเสพติด
ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญที่เกี่ยวข้องคือ ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยโรคล่าช้าเกินไป หรือผู้ป่วยไม่เชื่อว่าตนเองป่วย รวมทั้งกรณีที่ไม่กล้าเข้ารับการรักษา ซึ่งทำให้อาการลุกลามรุนแรงโดยไม่จำเป็น ทั้งที่ไบโพลาร์เป็นโรคที่รักษาได้ แต่ต้องรักษากันเป็นระยะยาว เพราะสามารถกลับมาป่วยได้อีกเสมือนปัญหาโรคหวัด
แม้จะยังไม่มีรัฐใดๆ ในสหรัฐอเมริกาที่ได้มาตรฐานเหรียญทองด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยทางจิต แต่ก็พอจะมีหลากหลายเมืองซึ่งจัดทำโปรแกรมเชิงนวัตกรรมขึ้นมา เอลิซาเบธ เฮกค์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของศูนย์ทีเอซี บอกอย่างนั้น ตัวอย่างคือ นครนิวยอร์กซิตี ซึ่งได้ทำการทดลองให้มีคลับเฮ้าส์เพื่อผู้ป่วยทางจิต ขณะที่ในเมืองทูซอน รัฐแอริโซนา นำโมเดลของศูนย์ฉุกเฉินมาใช้เพื่อเชื่อมให้ผู้คนได้เข้าร่วมกิจกรรมสาธารณประโยชน์
ผู้ว่าฯ แคลิฟอร์เนียจัดที่พักฟรี แก่คนไร้บ้านที่ติดยา-คนเร่ร่อนที่ป่วยทางจิต
ปัญหาความทุกข์ยากของคนเร่ร่อนไร้บ้านพักพิง ตลอดจนปัญหาความขาดแคลนในการช่วยเหลือดูแลในแคลิฟอร์เนียเริ่มมีการแก้ไขอย่างขนานใหญ่ เมื่อผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย อนุมัติงบประมาณ 12,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 เพื่อจัดหาที่พักอาศัยแก่คนไร้บ้านภายใต้โครงการโฮมคีย์ (Project Homekey)
โครงการโฮมคีย์เป็นการต่อยอดจากโครงการรูมคีย์ (Project Roomkey) ซึ่งผู้ว่าฯ นิวซอมแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียดำเนินการมาในปี 2020 โดยในปีที่แล้วได้รวบรวมงบประมาณ 800 ล้านดอลลาร์ มาจัดที่พักฟรีแก่คนเร่ร่อนที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ในทุกพื้นที่ของรัฐแคลิฟอร์เนีย อานิสงส์ของโครงการคือช่วยประชากรกลุ่มเปราะบางอย่างที่สุดของประเทศ ให้ได้รับการดูแลช่วยเหลือให้รอดจากการเสียชีวิตจากไวรัสโควิด จนกระทั่งหายป่วยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับยังช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปในเวลาเดียวกัน
โครงการรูมคีย์ (Project Roomkey) เริ่มขับเคลื่อนตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2020 เว็บไซต์ข่าวซานโฮเซ อินไซด์ รายงานอย่างนั้น โดยบอกว่าผู้ว่าการแห่งแคลิฟอร์เนียนำงบกลางของแคลิฟอร์เนียไปดำเนินงานร่วมกับงบประมาณ 550 ล้านดอลลาร์ที่แคลิฟอร์เนียได้รับจัดสรรจากรัฐบาลกลางตาม พ.ร.บ. ให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 วงเงินเหล่านี้ถูกจัดสรรออกไปสนับสนุนให้ทุกเคาน์ตี ทุกเมือง และบรรดาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ช่วยกันคัดสรรและจัดซื้อโรงแรมเล็กๆ โมเตล ซบเซา อพาร์ตเมนต์ร้างเพราะผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 แล้วนำมาปรับปรุงให้เป็นบ้านพักสำหรับคนเร่ร่อนที่ติดเชื้อโควิด-19
ในการนี้ มีคนเร่ร่อนที่ป่วยโควิด-19 จำนวน 14,200 รายที่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการรูมคีย์ ซึ่งแม้จะเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนคนไร้บ้านแสนกว่าราย แต่ได้ส่งดีในด้านการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ในปี 2021 ผู้ว่าฯ นิวซอมทำการต่อยอดโครงการรูมคีย์ โดยขยายกลุ่มเป้าหมายสู่คนไร้บ้านที่ยอมรับการบำบัดการเสพยาและอาการป่วยทางจิต
ด้วยงบประมาณที่พุ่งมากขึ้นเป็น 12,000 ล้านดอลลาร์ พร้อมกับชื่อใหม่ว่าโครงการโฮมคีย์ รัฐแคลิฟอร์เนียจึงมีที่พักอาศัยฟรีให้แก่ประชากรกลุ่มเปราะบางและทุกข์เข็ญจำนวนถึง 42,000 ยูนิต โดยเน้นที่กลุ่มคนไร้บ้านที่อายุตั้งแต่ 65ปีขึ้นไป กับกลุ่มคนไร้บ้านที่ป่วยทางจิต กับกลุ่มคนไร้บ้านที่ติดยาเสพติดโดยจะมีอาหารให้ครบ 3 มื้อ ให้การรักษาบำบัดอาการตลอดจนพาไปทำบัตรประกันสังคม และช่วยหางาน แต่แน่นอนว่าปริมาณที่พัก 42,000 ยูนิตก็ยังไม่เพียงพอแก่คนไร้บ้านทั้งหมดในแคลิฟอร์เนียซึ่งมีไม่น้อยกว่า161,548 ราย หรือประมาณกว่า 25% ของคนไร้บ้านทั้งหมด 580,000รายภายในสหรัฐฯ ตามการทำสำมะโนประชากรเมื่อปี 2020
บอร์ดส่งเสริมสุขภาพจิตจี้รัฐเพิ่มที่อยู่อาศัยสงเคราะห์ ตัวป.ธ.เคยเป็นผู้ป่วยไบโพลาร์
ในอาลาเมดา เคาน์ตี ซึ่งเกิดกรณีเขวี้ยงขวดน้ำใส่ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียโดยผู้ป่วยไบโพลาร์ นามว่าเสช โชเมตต์ นั้น คณะกรรมาธิการส่งเสริมสุขภาพจิตของเคาน์ตีเรียกร้องให้เร่งเพิ่มจำนวนสถานที่พักอาศัยสงเคราะห์แก่คนไร้บ้านและผู้ป่วยทางจิต พร้อมกับขอให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนประสานงานร่วมมือกันมากขึ้น
คณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้มี มาดามประธานบอร์ดชื่อว่า ลี เดวิส ซึ่งเคยเป็นผู้มีความผิดปกติด้วยโรคไบโพลาร์ เธอกล่าวกับเอพีว่า ตัวเธอโชคดีที่ร่างกายตอบสนองกับยาได้เป็นอย่างดี และจึงสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ โดยยังมีบ้านของตนเองและมีงานทำ
ในเวลาเดียวกัน เธอยอมรับว่าการใช้ชีวิตอยู่กับผู้ไม่ปกติทางจิต ย่อมต้องประสบกับเรื่องอย่างเช่น เสียงกรีดร้องคำพูดเหยียดผิวที่รุนแรงซึ่งผู้ป่วยเชื่อว่าทำอย่างนั้นแล้วจะสามารถขจัดคำเหล่านี้ให้พ้นออกไปจากจักรวาลได้ หรือการทุบทำลายหน้าต่าง เพราะภายในกับภายต้องการจะผนวกรวมเข้าด้วยกัน
ลี เดวิส บอกว่าความวิกลจริตไม่ใช่อาชญากรรม แต่ทำไมจึงไม่มีเบอร์คอลเซนเตอร์ให้โทร.ขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ด้านสุขภาพจิต
ส่วนสำหรับเสช โชเมตต์ นั้น น้องสาวของเขาบอกว่ายังไม่ทราบเลยว่าศาลจะให้ความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง
โดย รัศมี มีเรื่องเล่า
(ที่มา: เอพี เว็บไซต์ statistica.com เว็บไซต์ worldpopulationreview.com เว็บไซต์ข่าว eastbaytimes.com เว็บไซต์ ziprecruiter.com ซีเอ็นบีซี วิกิพีเดีย ยูทูป และเว็บไซต์ rama.mahidol.ac.th)