สหราชอาณาจักรไม่พบเคสใหม่ของภาวะลิ่มเลือดอุดตันรุนแรงหลังฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ตามหลังประเทศแห่งนี้ตัดสินใจงดฉีดให้คนอายุต่ำกว่า 40 ปี จากการเปิดเผยของบรรดานักวิทยาศาสตร์แห่งราชอาณาจักรในวันพุธ (11 ส.ค.)
ภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ ถูกระบุว่าเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นน้อยมากๆ ของวัคซีนโควิด-19 ชนิดไวรัสเวคเตอร์ ที่ผลิตโดยแอสตร้าเซนเนก้า และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน แต่ด้วยที่พบผลข้างเคียงลักษณะดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นในหมู่คนหนุ่มสาว ส่งผลให้หลายประเทศออกข้อกำหนดจำกัดอายุผู้ฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า
ผลการศึกษาพบว่า ราว 85% ของคนที่เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าในสหราชอาณาจักร เป็นบุคคลที่อายุต่ำกว่า 60 ปี แม้ส่วนใหญ่แล้ววัคซีนยี่ห้อนี้จะฉีดให้คนชราก็ตาม
ในผลการศึกษาพบว่า ในบุคคลที่อายุต่ำกว่า 50 ปี อัตราอุบัติการณ์ของภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ 1 ต่อ 50,000 คน เป็นไปตามที่คาดหมายไว้ก่อนหน้านี้ และพวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่าผลการศึกษาล่าสุดเป็นการเสริมความเข้าใจก่อนหน้านี้ว่าผลประโยชน์ของวัคซีนนั้นมีมากกว่าความเสี่ยง
ซู ปาวอร์ด นักโลหิตวิทยา ที่ปรึกษาของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ผู้นำการวิจัย ระบุว่า เหตุการณ์นี้มักส่งผลกระทบกับคนหนุ่มสาวที่มีสุขภาพแข็งแรง และมีความอันตรายอย่างยิ่งหากว่ามันก่อเลือดออกในสมอง
อย่างไรก็ตาม เธอเน้นว่าเคสผลข้างเคียงอาการดังกล่าวที่พุ่งสูงในระยะแรก เวลานี้ได้ลดน้อยลงไปแล้ว ผลจากการตัดสินใจของสหราชอาณาจักรที่มอบวัคซีนทางเลือกให้แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปีแทน ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม
"เราไม่เห็นเคสใหม่ของภาวะลิ่มเลือดอุดตันในช่วง 4 สัปดาห์หลังสุด และมันคือความโล่งใจอย่างมหาศาล" เธอบอกกับผู้สื่อข่าว
โดยรวมแล้วอาการนี้มีอัตราการเสียชีวิตราว 23% แต่จะเพิ่มขึ้นเป็น 73% หากเกิดในสมอง หรือที่เรียกว่า ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำสมอง (cerebral venous sinus thrombosis - CVST) แต่วิธีการรักษาต่างๆ อย่างเช่นถ่ายพลาสมาเลือด ช่วยเพิ่มอัตรารอดชีวิตสำหรับเคสรุนแรงต่างๆ เป็น 90%
พวกนักวิจัยแสดงความหวังว่าผลการศึกษาจะเป็นเครื่องดลใจสำหรับยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีน และเน้นย้ำความสำคัญของการเข้าฉีดวัคซีน
ทั้งนี้ ผลการวิจัยดังกล่าวเผยแพร่อยู่ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์
(ที่มา : รอยเตอร์)