ยูเอ็นเตือนการระดมยิงและปูพรมโจมตีทางอากาศระหว่างการสู้รบของกองทัพอัฟกานิสถาน กับกลุ่มตอลิบาน เพื่อแย่งชิงเมืองเอกของจังหวัดเฮลมันด์ ส่งผลร้ายต่อพลเมืองมากที่สุด โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 40 คน และบาดเจ็บกว่า 100 คนในรอบ 24 ชั่วโมงล่าสุด ขณะเดียวกัน อเมริกาประกาศพร้อมรับผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันอีกหลายพันคนที่เคยทำงานให้อเมริกาและตกอยู่ในความเสี่ยงถูกล่าสังหาร เพิ่มเติมจากโครงการช่วยเหลือชุดแรกหลายหมื่นคน อย่างไรก็ดี คนเหล่านี้ต้องเดินทางออกจากอัฟกานิสถานเอง รวมทั้งอาจต้องรออยู่ในประเทศที่สามกว่า 1 ปี
เจ้าหน้าที่อัฟกานิสถานเผยว่า กลุ่มตอลิบานได้เข้ายึดสถานีทีวีและวิทยุท้องถิ่นกว่าสิบแห่งในเมืองลัชการ์กาฮ์ ซึ่งเป็นเมืองเอกของจังหวัดเฮลมันด์ที่อยู่ทางใต้ของประเทศ และการต่อสู้ดุเดือดที่ยืดเยื้อมาหลายวันทำให้เหลือเพียงสถานีเดียวที่ยังออกอากาศ แต่เป็นสถานีที่สนับสนุนตอลิบาน
นับตั้งแต่กองทหารต่างชาตินำโดยสหรัฐฯ เริ่มถอนออกไปจากอัฟกานิสถานเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ตอลิบานได้ยึดพื้นที่มากมายในชนบท กระนั้น ความพยายามในการเข้ายึดเมืองเอกของจังหวัดต่างๆ ในขณะนี้เผชิญการต่อต้านอย่างหนักจากกองทัพรัฐบาล
หน่วยปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือในอัฟกานิสถานของสหประชาชาติ (ยูนามา) ทวิตเมื่อวันอังคาร (3 ส.ค.) ว่า การระดมยิงของตอลิบานและการโจมตีทางอากาศของรัฐบาลอัฟกานิสถานและกองกำลังสหรัฐฯ สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินพลเรือนมากที่สุด โดยในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีประชาชนอย่างน้อย 40 คนเสียชีวิต และบาดเจ็บกว่า 100 คนในเมืองลัชการ์ กาฮ์
ทั้งนี้ การเสียเมืองนี้จะถือเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ทั้งด้านยุทธศาสตร์และจิตวิทยาสำหรับรัฐบาลอัฟกานิสถานที่ให้คำมั่นปกป้องเมืองต่างๆ อย่างถึงที่สุด หลังจากเสียพื้นที่ชนบทกว้างขวางให้ตอลิบานในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา
ที่เมืองเฮรัต เมืองสำคัญทางภาคตะวันตก เจ้าหน้าที่อัฟกานิสถานเผยว่า กองกำลังของรัฐบาลสามารถขับไล่ตอลิบานออกจากหลายพื้นที่ ซึ่งรวมถึงบริเวณใกล้สนามบินที่มีความสำคัญต่อการจัดส่งเสบียงและอาวุธ
ทางด้านอเมริกาและอังกฤษต่างประณามตอลิบานว่า กระทำการโหดร้ายรุนแรงที่อาจเข้าข่าย “อาชญากรรมสงคราม” ในเมืองสปิน โบลแด็ก ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนปากีสถาน ขณะที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอิสระของอัฟกานิสถานระบุว่า ตอลิบานตามล่าสังหารเจ้าหน้าที่รัฐทั้งปัจจุบันและในอดีตทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 40 คนในเมืองนี้
ขณะเดียวกัน เมื่อวันจันทร์ (2) แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงว่า อเมริกาพร้อมรับชาวอัฟกันอีกหลายพันคนที่เคยทำงานให้อเมริกา และตกอยู่ในความเสี่ยงถูกล่าสังหาร เพิ่มเติมจากที่ประกาศรับไปแล้วราว 20,000 คนซึ่งสมัครเข้าโปรแกรมสำหรับล่ามแปลภาษาที่ให้ความช่วยเหลือกองทหารและนักการทูตอเมริกันในอัฟกานิสถาน
แผนการล่าสุดจะให้สิทธิชาวอัฟกันที่เคยได้รับการว่าจ้างจากองค์กรสื่อหรือองค์การพัฒนาเอกชนของอเมริกา หรือในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากอเมริกา ภายใต้เงื่อนไขว่า ผู้ขอลี้ภัยต้องได้รับการรับรองจากนายจ้างปัจจุบันหรืออดีตนายจ้าง
อย่างไรก็ดี บลิงเคนยอมรับว่า ภารกิจนี้มีความยากลำบากอย่างมากเนื่องจากผู้ที่ต้องการลี้ภัยจะต้องเดินทางออกจากอัฟกานิสถานด้วยตนเอง นอกจากนั้นส่วนใหญ่ต้องรออยู่ในประเทศที่สามเป็นเวลา 12-14 เดือนระหว่างการทำวีซ่า
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คนหนึ่งสำทับว่า แม้อเมริกาไม่ได้ช่วยเหลือผู้ต้องการลี้ภัยในการหลบหนีออกจากอัฟกานิสถาน แต่ได้ขอให้ประเทศอื่นๆ เช่น ปากีสถาน ยอมให้คนเหล่านั้นข้ามแดน
ทว่า ปากีสถานนั้นให้การสนับสนุนตอลิบานมาโดยตลอด อีกทั้งยังก่อความรุนแรงกับชาวอัฟกัน โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยที่นับถืออิสลามนิกายชีอะต์ ชาวฮาซารา ขณะที่อีกประเทศสำคัญที่รองรับผู้อพยพชาวอัฟกานิสถานคืออิหร่านนั้น ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอเมริกา
เจ้าหน้าที่อเมริกันอีกคนสำทับว่า ผู้ที่ต้องการลี้ภัยบางส่วนได้เริ่มเดินทางออกจากอิหร่านไปยังตุรกี ซึ่งขณะนี้รองรับผู้ลี้ภัยจากซีเรียอยู่แล้วหลายล้านคน
อย่างไรก็ดี มีรายงานว่า ช่วงไม่กี่วันมานี้ ล่ามชาวอัฟกันและครอบครัวรวม 400 คนเดินทางถึงอเมริกาแล้ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการโอเปอเรชัน อัลไลด์ เรฟฟิวจ์ ที่อาจครอบคลุมผู้ลี้ภัยกว่า 50,000 คน
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี)