xs
xsm
sm
md
lg

วอชิงตันกระตุ้นอาเซียนกดดันพม่า ขณะเดียวกันก็เร่งฉุดดึงเอเชียอาคเนย์ให้ร่วมต้านอิทธิพลจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 22 เม.ย. 2021) ธงชาติของบางประเทศสมาชิกอาซียน รวมทั้งธงอาเซียน โบกสะบัดอยู่ที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียน ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ทั้งนี้สมาคมอาเซียนกำลังจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศในสัปดาห์นี้
อเมริกาชี้คณะปกครองทหารพม่าเล่นเกมซื้อเวลา ด้วยการขยายกำหนดการจัดการเลือกตั้งเป็น 2 ปี โดย “บลิงเคน” เตรียมใช้การประชุมเสมือนกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกระตุ้นให้ภูมิภาคนี้เพิ่มการกดดันพม่าและแต่งตั้งผู้แทนพิเศษ นอกจากนั้นวอชิงตันยังส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูง ซึ่งรวมถึงรองประธานาธิบดีแฮร์ริส เดินสายเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถี่ยิบในระยะนี้ ตอกย้ำความพยายามของไบเดนในการดึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแนวร่วมต่อต้านอิทธิพลจีน

ในวันอาทิตย์ (1 ส.ค.) หรือ 1 วันก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมอาเซียน จะเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันจันทร์ (2) คณะปกครองทหารพม่าละเมิดคำมั่นสัญญาของตัวเอง โดยประกาศว่าจะจัดการเลือกตั้งและยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินภายในเดือนสิงหาคม 2023 จากที่เมื่อตอนเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของอองซาน ซูจี ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กำหนดกรอบเวลาเอาไว้แค่ 1 ปี

เจ้าหน้าที่อาสุโสคนหนึ่งของอเมริกากล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันจันทร์ (2) ว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวบ่งชี้ว่า อาเซียนต้องเพิ่มความพยายามในการกดดันให้พม่าปฏิบัติตามฉันทมติ 5 ข้อที่ลงนามไว้ เนื่องจากเห็นได้ว่า รัฐบาลทหารพม่ากำลังยื้อเวลาเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง

ทั้งนี้ ในเดือนเมษายน พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำคณะปกครองทหารพม่า ได้เข้าร่วมการประชุมกับสมาชิกอื่นๆ ของอาเซียนเกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่า ซึ่งนำไปสู่คำแถลงฉันทมติ 5 ข้อดังกล่าว ซึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงในพม่าทันที รวมทั้งให้แต่งตั้งผู้แทนพิเศษของอาเซียนเพื่อผลักดันให้มีการปฏิบัติตามฉันทมติ

ทว่า นับจากนั้น มิน อ่อง หล่าย กลับเพิกเฉยต่อคำแถลง และยังไม่มีการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษจนถึงขณะนี้ โดยที่มีชาวพม่ากว่า 900 คนเสียชีวิตจากการปราบปรามของกองทัพในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา

ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนนั้น นอกจากเหล่ารัฐมนตรีของอาเซียนจะหารือกันเองในวันแรกคือวันจันทร์แล้ว ถัดจากนั้นยังจะมีวาระที่อาเซียนประชุมร่วมกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ ตลอดจนประชุมภายใต้กรอบความร่วมมือต่างๆ ต่อเนื่องกันไปตลอดทั้งสัปดาห์

รายงานข่าวระบุว่า ในวาระการประชุมระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ นั้น แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จะเข้าร่วมการหารือซึ่งจัดขึ้นแบบเสมือนจริง โดยเขาเตรียมกระตุ้นให้อาเซียนแต่งตั้งผู้แทนพิเศษเกี่ยวกับสถานการณ์พม่า

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คนเดิมสำทับว่า วอชิงตันยังได้เสนอขยายการมีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน โดยรวมถึงการเปิดกรอบการหารือพหุภาคีระดับรัฐมนตรีกรอบใหม่ๆ ขึ้นมาอีก 5 ด้าน เช่น สภาพภูมิอากาศ และคาดว่าอาเซียนจะตกลงเห็นชอบในไม่ช้า

เขาคาดด้วยว่า ในครั้งนี้บลิงเคนยังจะให้รายละเอียดเกี่ยวกับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของอเมริกาสำหรับการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ของอาเซียน รวมทั้งยังอาจหยิบยกประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษชนของจีนในซินเจียง ฮ่องกง ทิเบต และสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ขึ้นหารือด้วย

วอชิงตันแสดงความต้องการที่จะใช้การประชุมในหลายๆ วาระซึ่งบลิงเคนจะเข้าร่วมกับอาเซียนเที่ยวนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จริงจังกับการมีปฏิสัมพันธ์กับพันธมิตรในภูมิภาคนี้เพื่อร่วมกันต่อต้านการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน

ทั้งนี้ นอกจากการประชุมระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียนแล้ว บลิงเคนยังจะเข้าร่วมการประชุมเสมือนอีก 3 กรอบความร่วมมือที่อาเซียนจะจัดในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ซัมมิตเอเชียตะวันออก การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) ความร่วมมือภายในกรอบหุ้นส่วนลุ่มแม่น้ำโขง-สหรัฐฯ และกลุ่มมิตรประเทศลุ่มแม่น้ำโขง

การที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ประชุมหารือกับประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเวลาใกล้ๆ นี้ ไม่ใช่มีเฉพาะบลิงเคนเท่านั้น รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ยังมีกำหนดเยือนสิงคโปร์และเวียดนามในเดือนนี้ รวมทั้งคาดกันว่า เรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย จะพบกับบลิงเคนที่กรุงวอชิงตันในสัปดาห์นี้เช่นกัน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เพิ่งเดินทางเยือนสิงคโปร์ เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ส่วนในเดือนมิถุนายน เวนดี เชอร์แมน รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐฯ ก็มาเยือนอินโดนีเซีย ไทย และกัมพูชา

(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น