ออสเตรเลียขยายมาตรการล็อกดาวน์ครอบคลุมประชากรเกินครึ่งประเทศ ท่ามกลางความพยายามของหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่จะยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ “เดลตา” ซึ่งทำให้ 2 รัฐใหญ่ที่สุดของแดนจิงโจ้มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ออสเตรเลียพบผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วประเทศรวมทั้งหมด 90 รายในวันอังคาร (20 ก.ค.) ขณะที่คำสั่งล็อกดาวน์ในรัฐเซาท์ออสเตรเลียทำให้ขณะนี้มีประชากรออสซี่กว่า 14.5 ล้านคนที่ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งเก็บตัวในที่พักอาศัย
เซาท์ออสเตรเลียเริ่มบังคับใช้คำสั่งล็อกดาวน์เป็นเวลา 1 สัปดาห์เมื่อ 18.00 น. วานนี้ (20) โดยตลอดช่วง 7 วันข้างหน้า ประชาชนจะสามารถออกจากบ้านได้ด้วยเหตุผลเพียง 5 ประการเท่านั้น ได้แก่ เพื่อดูแลและแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (care and compassion) ปฏิบัติภารกิจที่จำเป็น ซื้อสิ่งของอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ด้วยเหตุผลทางการแพทย์ ซึ่งรวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และเพื่อออกกำลังกาย
ร้านค้า สถานศึกษา มหาวิทยาลัย สถานที่พักสำหรับท่องเที่ยวช่วงวันหยุด คาเฟ่ ผับ ร้านอาหาร และไซต์งานก่อสร้างทั้งหมดจะต้องปิดชั่วคราว ส่วนการผ่าตัดที่ไม่เร่งด่วน งานแต่งงาน งานศพ งานประมูลสินค้า จะต้องถูกเลื่อนออกไปก่อน
“สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ในเซาท์ออสเตรเลียคือโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา เราจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เด็ดเดี่ยวและรวดเร็ว” สตีเวน มาร์แชลล์ นายกรัฐมนตรีประจำรัฐเซาท์ออสเตรเลีย ระบุ
ขณะเดียวกัน ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ในชุมชน 13 รายเมื่อวานนี้ (20) ทำให้ทางการรัฐวิกตอเรียตัดสินใจขยายมาตรการล็อกดาวน์ 7 วันต่อไปอีกอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือจนถึงวันที่ 27 ก.ค.
รัฐวิกตอเรียยังงดรับผู้เดินทางจากนิวเซาท์เวลส์เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ยกเว้นเฉพาะแรงงานที่ได้รับอนุญาตหรือผู้ที่เดินทางมาด้วยเหตุผลด้านความเมตตากรุณา อีกทั้งยังประกาศให้รัฐเซาท์ออสเตรเลียเป็น “พื้นที่สีแดง” ซึ่งหมายความว่าใครก็ตามจากรัฐดังกล่าวที่จะเดินทางเข้ามายังรัฐวิกตอเรียจะต้องได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ
รัฐนิวเซาท์เวลส์พบผู้ติดเชื้อใหม่ 78 รายทั่วนครซิดนีย์เมื่อวันอังคาร (20) และในขณะที่มาตรการล็อกดาวน์เขตซิดนีย์และปริมณฑลจะมีผลจนถึงวันที่ 30 ก.ค. แต่หลายฝ่ายเกรงว่าอาจจำเป็นต้องขยายเวลาออกไปอีก เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังคงสูงอยู่
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลกลางออสเตรเลียซึ่งมีคะแนนนิยมตกต่ำสุดในรอบปี เนื่องจากโครงการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า โดยจนถึงตอนนี้มีพลเมืองออสซี่ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสเพียงราวๆ 11%
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าซึ่งถือเป็นวัคซีนหลักของออสเตรเลียถูกแนะนำให้ใช้เฉพาะกับประชากรที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีความเสี่ยงเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในคนที่อายุต่ำกว่า ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ยังคงขาดแคลน และถูกจำกัดการใช้เฉพาะในกลุ่มคนอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป
ที่มา : 7News, รอยเตอร์