หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนความเสี่ยงจากการฉีดวัคซีนแบบผสมผสานหลายยี่ห้อซึ่งบางประเทศเริ่มคิดจะทำ ชี้เป็น “เทรนด์อันตราย” เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลรองรับเพียงพอ
ดร.โสมยา สวามีนาธัน หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ WHO ได้เอ่ยเตือนระหว่างการแถลงข่าวขององค์การอนามัยโลกวานนี้ (12 ก.ค.) ว่า “มันเป็นเทรนด์ที่ค่อนข้างอันตรายในตอนนี้ เพราะเรายังไม่มีข้อมูลและไม่มีหลักฐานมากพอที่สนับสนุนการจับคู่วัคซีนต่างชนิด หากผู้คนในประเทศต่างๆ ตัดสินใจกันเองว่าจะฉีดวัคซีนยี่ห้อไหนเป็นเข็มที่ 1, 2, 3 และ 4 มันอาจจะสร้างความปั่นป่วนได้”
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อกำลังศึกษาว่าผู้ที่รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดฉีดโดสเดียวของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันควรจะต้องได้รับการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีน mRNA ของไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นาหรือไม่ เนื่องจากมีข้อมูลว่าวัคซีน mRNA นั้นมีประสิทธิภาพสูงกว่าในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา
ขณะเดียวกัน บริษัท ไฟเซอร์ ก็พยายามผลักดันให้หน่วยงานกำกับดูแลด้านสาธารณสุขของสหรัฐฯ และยุโรปอนุมัติการฉีดวัคซีนบูสเตอร์เข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมถึง ดร.สวามีนาธัน มองว่าขณะนี้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ยืนยันทางการแพทย์ว่าวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 3 คือสิ่งจำเป็น
“เราจะต้องอิงกับหลักฐานและข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ความต้องการของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง” เธอกล่าว
แทนที่จะมุ่งเสนอขายวัคซีนบูสเตอร์ให้แก่ประเทศร่ำรวยที่ฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่แล้ว ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกระบุวานนี้ (12) ว่า บริษัทยาชั้นนำ เช่น ไฟเซอร์ ควรจะรีบจัดส่งวัคซีนให้แก่ WHO เพื่อนำไปฉีดแก่ประชากรในประเทศยากจน ซึ่งมีความจำเป็นยิ่งยวดที่จะต้องใช้มัน เนื่องจากโควิด-19 สายพันธุ์เดลตากำลัง “แพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว”
คำเตือนจาก WHO มีขึ้นหลังจากที่เมื่อวานนี้ (12) คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติของไทยได้มีมติเห็นชอบฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดสให้บุคลากรการแพทย์ด่านหน้า อนุมัติฉีดวัคซีนโควิดสลับชนิด เข็มที่ 1 ซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ระยะห่าง 3-4 สัปดาห์ และเห็นชอบฉีดวัคซีนแบบบูสเตอร์ โดยให้วัคซีนเข็มที่ 3 ห่างจากเข็ม 2 ในระยะ 3-4 สัปดาห์ขึ้นไป เน้นใช้แอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนกระตุ้นหลัก เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์เดลตา
ที่มา : รอยเตอร์