รัฐบาลฟิลิปปินส์ลงนามในข้อตกลงจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 จำนวน 40 ล้านโดส ที่พัฒนาโดยไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค ถือเป็นการสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 ครั้งใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์จนถึงปัจจุบัน
คาร์ลิโต กัลเวซ หัวหน้าฝ่ายจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาลฟิลิปปินส์ เปิดเผยในวันอาทิตย์ (20 มิ.ย.) ว่า การส่งมอบวัคซีนจะเริ่มในช่วงปลายเดือนกันยายน "มันจะช่วยยกระดับโครงการสร้างภูมิคุ้มกันแก่ประชาชนของเราขึ้นอย่างมาก และจะช่วยให้เป้าหมายบรรลุภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงปลายปีเป็นความจริง" เขากล่าว
เวลานี้ฟิลิปปินส์สั่งซื้อวัคซีนจากบรรดาผู้ผลิตต่างๆ แล้วกว่า 113 ล้านโดส ในนั้น 26 ล้านโดสจากซิโนแวคของจีน 10 ล้านโดสจากสปุตนิกวีของรัสเซีย 20 ล้านโดสจากโมเดอร์นา และ 17 ล้านโดสจากแอสตร้าเซนเนก้า
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันฟิลิปปินส์เพิ่งฉีดวัคซีนประชาชนไปได้เพียงราวๆ 8 ล้านโดส ในนั้นประมาณ 6 ล้านโดสเป็นการฉีดโดสแรก ถือว่าล่าช้าอย่างมากจากเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการฉีดวัคซีนประชาชนให้ได้สูงสุด 70 ล้านคนในปีนี้ ในประเทศที่มีประชากร 110 ล้านคน
ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงกลางเดือนฟิลิปปินส์ได้เริ่มโครงการฉีดวัคซีนแก่ประชาชน 35 ล้านคนที่ต้องทำงานนอกบ้าน และยังคงเดินหน้าการฉีดวัคซีนให้คนกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ที่เป็นเป้าหมายลำดับต้นๆ อย่างเช่นบุคลากรด้านสาธารณสุขและคนชรา
อย่างไรก็ตาม อุปทานวัคซีนทั่วกรุงมะนิลายังคงมีอย่างจำกัด ในขณะที่เคสผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในหลายจังหวัดก็เพิ่มขึ้น สถานการณ์เหล่านั้นก่อความซับซ้อนในความพยายามยกระดับโครงการฉีดวัคซีนในประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย
ฟิลิปปินส์คาดหมายด้วยว่า พวกเขาจะได้รับวัคซีน 44 ล้านโดสผ่านโครงการโคแว็กซ์ ขณะเดียวกัน ก็อยู่ระหว่างการเจรจาสั่งซื้อวัคซีนที่พัฒนาโดยโนวาแว็กซ์และจอห์นสันแอนด์จอห์นสันอีกราว 16 ล้านโดส
กัลเวซเผยว่า ฟิลิปปินส์จะอนุญาตให้วัคซีนไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคกับเด็กอายุ 12 ถึง 15 ปี ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเริ่มฉีดในช่วงปลายปี
เพื่อช่วยยกระดับการตอบสนองต่อโรคระบาดใหญ่ของรัฐบาลฟิลิปปินส์ คณะผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์จากกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอลได้เดินทางมาถึงกรุงมะนิลาแล้ว โดยอิสราเอล ซึ่งเป็นชาติแถวหน้าของโลกในการแจกจ่ายวัคซีน ประสบความสำเร็จในการลดเคสผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศ และกลับมาเปิดเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ ประชากรส่วนใหญ่ของอิสราเอลฉีดวัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค
กัลเวซ ระบุว่า คณะผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ของอิสราเอล จะมาแบ่งปันยุทธศาสตร์ต่างๆ ในนั้นรวมถึงแนวทางจัดการปัญหาลังเลเข้ารับวัคซีน
(ที่มา : รอยเตอร์)