ราคาน้ำมันขยับขึ้นเกือบ 2% แตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี ในวันอังคาร (15 มิ.ย.) จากความคาดหมายอุปสงค์จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2021 ส่วนวอลล์สตรีทปิดลบแรง กังวลเลขเงินเฟ้อและยอดค้าปลีก ขณะที่ทองคำปรับลดเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้น 1.24 ดอลลาร์ ปิดที่ 72.12 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอนงวดส่งมอบเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้น 1.13 ดอลลาร์ ปิดที่ 73.99 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ตลาดเคลื่อนไหวในแดนบวก หลังเทรดเดอร์น้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกในวันอังคาร (15 เม.ย.) มองเห็นราคาน้ำมันน่าจะทรงตัวอยู่เหนือระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ท่ามกลางความคาดหมายว่าอุปสงค์จะคืนสู่ระดับก่อนหน้าโรคระบาดใหญ่ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2022
รัสเซลล์ ฮาร์ดี ซีอีโอของวิตอล ประมาณการว่า ราคาน้ำมันน่าจะแกว่งตัวอยู่ระหว่าง 70 ถึง 80 ดอลลลาร์ในช่วงที่เหลือของปี 2021 จากความคาดหมายที่ว่าโอเปกและพันธมิตร (โอเปกพลัส) จะยังคงปฏิบัติตามข้อตกลงลดกำลังผลิต แม้อิหร่านจะคืนการส่งออก หากว่าสหรัฐฯ กลับเข้าร่วมข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ทำไว้กับเตหะราน
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในวันอังคาร (15 มิ.ย.) ปิดในแดนลบ จากข้อมูลเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและยอดค้าปลีกที่ซึมเซา แม้ได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มปิโตรเลียม หลังราคาน้ำมันดีดตัว
ดาวโจนส์ ลดลง 94.42 จุด (0.27 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 34,299.33 จุด เอสแอนด์พี ลดลง 8.56 จุด (0.20 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,246.59 จุด แนสแดค ลดลง 101.29 จุด (0.71 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 14,072.86 จุด
ข้อมูลเศรษฐกิจที่ชี้ให้เห็นว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น ถูกเผยแพร่ออกมาในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน 2 วัน ที่จะปิดฉากด้วยคำแถลงในวันพุธ (16 มิ.ย.) ซึ่งจะบ่งบอกถึงก้าวย่างต่อไปของธนาคารกลางแห่งนี้
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกลดลง 1.3% ในเดือนพฤษภาคม หลังจากเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือนเมษายน นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่ายอดค้าปลีกลดลง 0.8% ในเดือนพฤษภาคม
ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ดีดตัวขึ้น 0.8% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.6% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนเมษายน
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พุ่งขึ้น 6.6% ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2010 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 6.3% หลังจากดีดตัวขึ้น 6.2% ในเดือนเมษายน
แม้มีความกังวลต่อตัวเลขเงินเฟ้อ แต่ทองคำ ในฐานะสินทรัพย์เสี่ยงต่ำปิดลบ 3 วันติดในวันอังคาร (15 มิ.ย.) หลังดอลลาร์ทรงตัว โดยราคาทองคำตลาดโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนสิงหาคม ลดลง 9.50 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,856.40 ดอลลาร์ต่อออนซ์
(ที่มา : รอยเตอร์/เอเอฟพี)