เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชิลีแถลงล็อกดาวน์ทั่วกรุงซันติอาโกเมื่อวันพฤหัสบดี(10มิ.ย.) หลังพบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันพุ่งสูง เลวร้ายที่สุดหนหนึ่งนับตั้งแต่โรคระบาดใหญ่เริ่มต้นขึ้น แม้ประชาชนมากกว่าครึ่งได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว
สถานการณ์ดังกล่าว น่าจะก่อความกังวลแก่บรรดาเจ้าหน้าที่ของชาติอื่นๆ ซึ่งกำลังถกเถียงกันว่าควรเร่งรีบหรือไม่ในการเปิดเศรษฐกิจ ท่ามกลางโครงการฉีดวัคซีนที่มีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว โดย ชิลี พบผู้ติดเชื้อรายวันทั่วประเทศเพิ่มขึ้นถึง 17% ในช่วง 2 สัปดาห์หลังสุด และเพิ่มขึ้น 25% ในเขตมหานครต่างๆอย่างเช่นกรุงซันติอาโก ซึ่งเป็นถิ่นพำนักของประชากรครึ่งค่อนประเทศ
โฮเซ หลุยส์ เอสปิโนซา ประธานสหพันธ์สมาคมพยาบาลแห่งชาติชิลี(FENASENF) เปิดเผยว่าเวลานี้เตียงในห้องไอซียูมีคนไข้ครองแล้วกว่า 98% พร้อมระบุว่าสมาชิกของสหพันธ์กำลังอยู่ในสภาพที่ใกล้จะแบกรับภาระไม่ไหวแล้ว
ชิลีเป็นหนึ่งในชาติที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงที่สุดในโลก เวลานี้มีประชาชน 75% จากทั้งหมด 15 ล้านคนได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้วอย่างน้อยๆ 1 โดส ในนั้นเกือบ 58% ฉีดครบแล้ว 2 โดส หากนับบนพื้นฐานอัตราการฉีดต่อจำนวนประชากร พวกเขาถือเป็นชาติลำดับต้นๆที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงสุดในทวีปอเมริกาและเป็นอันดับ 5 ของโลก
จนถึงตอนนี้ ชิลี ใช้วัคซีนไปแล้วเกือบ 23 ล้านโดส แบ่งเป็นซิโนแวค 17.2 ล้นโดส ไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค 4.6 ล้านโดสและแอสตร้าเซนเนก้าราวๆ 1 ล้านโดส
พวกผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ระบุว่าวัคซีนไม่ได้มีประสิทธิภาพ 100% และต้องใช้เวลาก่อนวัคซีนจะไต่ระดับสูงประสิทธิภาพสูงสุดของมัน นอกจากนี้แล้วตัวเลขการติดเชื้อที่พุ่งสูงยังเกิดจากความเหนื่อยล้าของประชาชนในการปฏิบัติตามมาตรการล็อกดาวน์ และการปรากฏตัวของไวรัสตัวกลายพันธุ์
กระทรวงสาธารณสุขชิลีชี้แจงว่าจากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ทั้งหมด 7,716 คนในวันพุธ(9มิ.ย.) และวันพฤหัสบดี(10มิ.ย.) มีอยู่ 73% ที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบถ้วน และ 74% อายุต่ำกว่า 49 ปี
นายแพทย์เซซาร์ คอร์เคส แพทย์ฉุกเฉินของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชิลี กล่าวว่าเมื่อปีที่แล้วผู้คนยอมหยุดอยู่บ้านท่ามกลางความวิตกต่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่เวลานี้พวกเขากลัวตกงานมากกว่า
"เมื่อปีที่แล้ว มีการแพร่กระจายเชื้อในระดับต่ำและมาตรการควบคุมโรคได้ผล เพราะว่าประชาชนกลัวตาย แต่สิ่งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นในตอนนี้" อย่างไรก็ตามเขาบอกว่าหากปราศจากวัคซีนแล้ว ชิลีอาจเผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่
คณะผู้ควบคุมกฎระเบียบด้านสาธารณสุขของชิลี บอกว่าจากการถอดรหัสพันธุกรรมของบรรดาผู้ติดเชื้อระหว่างเดือนธันวาคมถึงมิถุนายน ยืนยันว่าตัวกลายพันธุ์บราซิล P1 พบแพร่หลายที่สุดในประเทศ
ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อรายหนึ่ง ณ โรงพยาบาลขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงซันติอาโก ซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม ระบุว่าวัคซีนเพียงอย่างเดียวไม่อาจช่วยให้โรงพยาบาลต่างๆหลุดพ้นจากวิกฤตแบกรับภาระหนักเกินไปได้
"ประชาชนราวๆ 10% แม้กระทั่งพวกเขาฉีดวัคซีนแล้ว จะไม่ได้รับการป้องกันจากการติดเชื้ออาการรุนแรง ดังนั้นอาจมีคนหลายแสนจำเป็นต้องเข้าไอซียู" เขากล่าว "และด้วยระบบสาธารณสุขใกล้ถึงขีดจำกัดแล้วในเวลานี้ จำนวนเปอร์เซ็นต์เท่านั้นมันก็มากพอที่จะทำให้ระบบสาธารณสุขของเรารองรับไม่ไหว"
(ที่มา:รอยเตอร์ส)