xs
xsm
sm
md
lg

วุ่นวาย!! อินเตอร์เน็ตทั่วโลกขัดข้อง เว็บไซต์ดังๆ พากันเดี้ยง หลังบริษัท‘ให้บริการคลาวด์’เจอปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เว็บไซต์ดังๆ จำนวนมาก ทั่วโลก “ล่ม” เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ในวันนี้ (8 มิ.ย.) โดยสาเหตุดูเหมือนมาจากความขัดข้องในการให้บริการของ “ฟาสต์ลี่” บริษัทให้บริการคลาวด์รายยักษ์ใหญ่

เว็บไซต์ชื่อดังหลายสิบแห่ง เป็นต้นว่า นิวยอร์กไทมส์, ซีเอ็นเอ็น, บางไซต์ของแอมะซอน, เรดดิต, การ์เดียน, และโฮมเพจของรัฐบาลสหราชอาณาจักร เกิดขัดข้องยูสเซอร์ไม่สามารถเข้าไปได้อยู่ช่วงหนึ่ง

ขณะที่ในเอเชีย เมืองใหญ่ๆ อย่าง ฮ่องกง และสิงคโปร์ ก็ถูกกระทบกระเทือนเช่นกัน โดยที่พวกยูสเซอร์ไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นได้ แต่ในประเทศจีน ซึ่งเว็บไซต์สื่อต่างประเทศส่วนใหญ่ถูกทางการแดนมังกรบล็อกเป็นปกติอยู่แล้ว บนแพลตฟอร์มสื่อสังคมอย่างเช่น เว่ยปั๋ว แทบไม่มีการพูดคุยกันเรื่องการขัดข้องนี้

ทางด้าน ฟาสต์ลี่ (Fastly) ซึ่งตั้งฐานอยู่ที่เมืองซานฟรานซิสโก, สหรัฐฯ แถลงยอมรับว่าเกิดปัญหาขึ้นมา เมื่อเวลาเกือบจะถึง 06.00 น. ตามเวลาภาคตะวันออกของสหรัฐฯ (ตรงกับใกล้ๆ 18.00 น.เวลาเมืองไทย) บริษัทระบุซ้ำๆ ในการอัปเดตอยู่เป็นระยะๆ ทางเว็บไซต์ของตนว่า กำลัง “อยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวนปัญหานี้”

จากนั้นอีกราว 1 ชั่วโมงต่อมา บริษัทบอกว่า “สามารถระบุว่าปัญหาเกิดจากอะไรแล้ว และการซ่อมแซมแก้ไขเพิ่งเสร็จสิ้น บรรดาลูกค้าอาจเจอกับเรื่องมี origin load เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากบริการต่างๆ ทั่วโลกกำลังฟื้นคืนมา” ขณะที่เว็บไซต์จำนวนหนึ่งซึ่งถูกกระทบก่อนหน้านี้ ก็ดูเหมือนกำลังกลับมาออนไลน์ได้ใหม่

ฟาสต์ลี่เป็น เครือข่าย content-delivery network (CDN) รายหนึ่ง ทำหน้าที่ให้บริการ "edge servers" คลาวด์ คอมพิวติ้ง ให้แก่เว็บไซต์ยอดนิยมจำนวนมาก หน้าที่นี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทว่าอยู่ข้างหลังฉาก ไม่ได้ติดต่อกับยูสเซอร์ธรรมดาโดยตรง

เซิร์ฟเวอร์ ที่เรียกว่า edge servers เป็นผู้จัดเก็บ หรือ "cache" พวกคอนเทนต์ อย่างเช่น รูปภาพ และ วิดีโอ เอาไว้ในสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก เพื่อจะได้อยู่ใกล้ๆ กับยูสเซอร์ ซึ่งเปิดทางให้ยูสเซอร์ไปดึงเอามาได้อย่างรวดเร็วขึ้นและราบรื่นยิ่งขึ้น แทนที่จะต้องคอยพยายามเข้าถึงเซิร์ฟเวอร์แท้ๆ ของเว็บไซต์นั้นๆ ฟาสต์ลี่ระบุว่า ด้วยบริการของตนหมายความว่า ยูสเซอร์ในยุโรปที่เข้ามายังเว็บไซต์อเมริกันแห่งหนึ่ง สามารถที่จะดึงคอนเทนต์ไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นราว 200 ถึง 500 มิลลิวินาที

(ที่มา: เอพี)




กำลังโหลดความคิดเห็น