สหรัฐฯในวันพฤหัสบดี(3มิ.ย.) ระบุยืนหยัด "เคียงข้างประชาชนชาวจีน" ในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ก่อนวาระครบรอบเหตุการณ์ปราบปรามนองเลือด "เทียนอันเหมิน" ของปักกิ่ง ท่ามความตึงเครียดระหว่างสองชาติเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่
แอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯบอกว่าประเทศของเขาจะนับถือความเสียสละของเหล่าผู้เสียชีวิตเมื่อ 32 ปีก่อน และบรรดานักเคลื่อนไหวผู้กล้าหาญที่สานต่อความพยายามมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ต้องเผชิญการปราบปรามอย่างไม่ลดละของรัฐบาล"
"สหรัฐฯจะยังคงยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวจีน ในขณะที่พวกเขาเรียกร้องให้รัฐบาลของพวกเขาเคารพสิทธิมนุษยชนอันเป็นสากล" บลินเคนระบุ พร้อมเรียกร้องขอความ "โปร่งใส" ในเหตุการณ์ปราบปรามนองเลือดจัตุรัสเทียนอันเหมิน ในนั้นรวมถึง "ตัวเลขที่ครบถ้วนของจำนวนผู้เสียชีวิต ถูกคุมขังหรือสูญหาย"
แม้การพูดคุยกันเกี่ยวกับปฏิบัติการใช้รถถังและทหารเข้าปราบปรามผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่ชุมนุมกันอย่างสันติในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 1989 เป็นเรื่องต้องห้ามในจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ในเขตกึ่งการปกครองตนเองฮ่องกง มีการจุดเทียนรำลึกถึงเหตุการณ์เป็นประจำทุกปีในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามการแสดงออกของผู้ประท้วงฝักใฝ่ประชาธิปไตยได้ถูกสกัดในปีนี้ โดยตำรวจหลายพันนายถูกส่งเข้าประจำการบังคับใช้คำสั่งห้ามชุมนุม และเจ้าหน้าที่เตือนว่าอาจงัดกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่มาใช้กับบรรดาผู้ที่ไม่ยอมปฏิบัติตาม
เมื่อปีที่แล้ว ได้มีคำสั่งห้ามจุดเทียนรำลึกถึงเหตุการณ์นองเลือดเช่นกัน โดยอ้างเหตุผลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่ประชาชนหลายหมื่นขัดขืนคำสั่งห้ามออกมาชุมนุุมกันอยู่ดี
"การประท้วงเทียนอันเหมินสะท้อนการดิ้นรนพื่อประชาธิปไตยและเสรีภาพในฮ่องกง แต่แผนจุดเทียนเพื่อระลึกถึงเหตุสังหารหมู่จัตุรัสเทียนอันเหมินถูกห้ามโดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น" บลิงเคนกล่าว
ถ้อยแถลงมีขึ้นไม่กี่ชั่วโมง หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ขึ้นบัญชีดำบรรดาบริษัทจีนเพิ่มเติม โดยจำกัดบริษัทเเหล่านี้ไม่ให้เข้าถึงนักลงทุนสหรัฐฯ ในความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมทางทหารของจีน
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่วอชิงตันอยู่ระหว่างทบทวนสถานะทางการทูตของพวกเขากับจีน ในประเด็นต่างๆนานาไล่ตั้งแต่การค้า แข่งกันเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีและสิทธิมนุษยชน
(ที่มา:เอเอฟพี)