xs
xsm
sm
md
lg

‘อินเดีย’ เจอ ‘ไซโคลนลูก 2’ ซ้ำเติมวิกฤตโควิด สื่อดังวอนผู้นำญี่ปุ่นยกเลิกจัด ‘โอลิมปิก’ ก.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพมุมกว้างแสดงให้เห็นสภาพน้ำท่วมขณะที่พายุไซโคลน “ยาอาส” เคลื่อนเข้าใกล้เมืองภาดรัค รัฐโอริสสา ประเทศอินเดีย ในวันพุธ (26 พ.ค.)  ภาพนี้ถ่ายจากคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ทางสื่อสังคม
อินเดียเผชิญพายุไซโคลนเป็นลูกที่ 2 ในรอบระยะเวลาแค่ 2 สัปดาห์ โดยมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 2 คน ซ้ำเติมวิกฤตโควิด ซึ่งยังมองไม่เห็นทางออก ขณะที่ WHO ระบุ พบไวรัสสายพันธุ์อินเดียใน 60 ประเทศ และดินแดนทั่วโลก ในอีกด้านหนึ่ง อาซาฮีชิมบุง สื่อดังที่เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนโตเกียวโอลิมปิกอย่างเป็นทางการ เรียกร้องผู้นำญี่ปุ่นยกเลิกการแข่งขันซึ่งกำหนดจัดขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้า โดยชี้ว่าประชาชนต้องแบกรับความเสี่ยงมากเกินไป รวมทั้งระบบสาธารณสุขก็จะยิ่งรับภาระหนักอึ้ง

สัปดาห์ที่ผ่านมา ไซโคลน “เตาะแต่” ถล่มภาคตะวันตกของอินเดีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 155 คน ถือเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ

ในวันพุธ (26 พ.ค.) ไซโคลน “ยาอาส” ได้ขึ้นฝั่งพัดถล่มภาคตะวันออกของแดนภารตะ โดยหอบเอาฝนตกหนัก ลมกระโชกแรงความเร็ว 155 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พอๆ กับพายุเฮอริเคนระดับ 2 ตลอดจนคลื่นสูงเข้ามาด้วย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 คนในเมืองดิกาในรัฐเบงกอลตะวันตก ซึ่งยังพบบ้านเรือนเสียหายเกือบ 20,000 หลัง น้ำเอ่อล้นแม่น้ำกว่าสิบสายบนเกาะต่างๆ และน้ำล้นเขื่อนหลายแห่ง โดยที่ก่อนหน้านี้ ได้มีการอพยพประชาชนกว่า 1.5 ล้านคนในรัฐเวสต์เบงกอลและรัฐโอริสสาออกจากพื้นที่เสี่ยง ไปยังที่ปลอดภัยแล้ว

เจ้าหน้าที่อินเดียกังวลว่า ภัยธรรมชาติเช่นนี้จะทำให้ความพยายามในการต่อสู้กับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่คร่าชีวิตผู้คนแดนภารตะไปถึง 310,000 คนแล้ว ยิ่งยากลำบากมากขึ้น

บันคิม ชันดรา ฮาซรา มุขมนตรีรัฐเบงกอลตะวันตก เผยว่า ได้แจกจ่ายหน้ากากป้องกันให้ประชาชนในศูนย์หลบภัย แต่ยอมรับว่าการเว้นระยะห่างทางสังคมถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง

ปัจจุบันอินเดียกำลังเผชิญการระบาดระลอกสองซึ่งแพร่ระบาดรุนแรงขึ้นกว่าเดิม เมื่อเจอกับไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะสายพันธุ์บี.1.617 ที่พบครั้งแรกในอินเดีย

เมื่อวันพุธ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เปิดเผยรายงานที่ระบุว่า ขณะนี้พบไวรัสสายพันธุ์นี้อย่างเป็นทางการใน 53 ดินแดนทั่วโลก รวมทั้งยังได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวอย่างไม่เป็นทางการว่า พบไวรัสสายพันธุ์อินเดียในอีก 7 ดินแดน และรายงานระบาดวิทยารอบสัปดาห์ฉบับล่าสุดของ WHO ก็ระบุตัวเลขรวมไว้ที่ 60 ดินแดน

WHO ยังรายงานว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาทั่วโลกมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ลดลงต่อเนื่องคือประมาณ 4.1 ล้านคน และ 84,000 คนตามลำดับ หรือลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 14% สำหรับยอดผู้ติดเชื้อ และ 2% สำหรับยอดผู้เสียชีวิต

ยุโรปเป็นภูมิภาคที่จำนวนเคสใหม่และผู้เสียชีวิตลดลงมากที่สุด ตามด้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่อเมริกา เมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก แอฟริกา และแปซิฟิกตะวันตกตัวเลขคงที่เท่ากับสัปดาห์ก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม รายงานสำทับว่า แม้แนวโน้มทั่วโลกลดลงตลอดช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่และผู้เสียชีวิตยังถือว่าสูงอยู่ เป็นต้นว่า อินเดียซึ่งพบเคสใหม่มากที่สุดในรอบ 7 วันที่ผ่านมานั้น จำนวนผู้ป่วยได้ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 23% ทว่าตัวเลขเคสคือ 1,846,055 คน

รายงานยังปรับปรุงข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสสายพันธุ์ที่น่ากังวล ซึ่งประกอบด้วย สายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในอังกฤษ (บี.1.1.7), แอฟริกาใต้ (บี.1.351), บราซิล (พี.1) และอินเดีย (บี.1.617)

สายพันธุ์ บี.1.1.7 เวลานี้มีรายงานว่าพบใน 149 ดินแดน ส่วน บี.1.351 พบใน 102 ดินแดน และ พี.1 พบใน 59 ดินแดน

สำหรับ บี.1.617 WHO ยังแบ่งย่อยออกมาเป็น 3 สาย (บี.1.617.1, บี.1.617.2 และ บี.1.617.3) โดย บี.1.617.1 มีรายงานว่าพบใน 41 ดินแดน บี.1.617.2 พบใน 54 ดินแดน และ บี.1.617.3 พบใน 6 ดินแดน

รวมกันแล้ว ทั้ง 3 สายของไวรัสกลายพันธุ์ บี.1.617 มีรายงานอย่างเป็นทางการว่าพบใน 53 ดินแดน และมีรายงานอย่างไม่เป็นทางการในอีก 7 ดินแดน

ส่วนสายพันธุ์ที่ต้องจับตามี 6 สายพันธุ์ ประกอบด้วย 1 สายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในหลายประเทศ, 2 สายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในอเมริกา และอีก 3 สายพันธุ์ที่เหลือพบครั้งแรกในบราซิล ฟิลิปปินส์ และฝรั่งเศส

รายงานทิ้งท้ายว่า ยิ่งระบาดมากขึ้นเท่าไร ยิ่งมีโอกาสมากขึ้นที่ไวรัสโคโรนาจะวิวัฒนาการต่อไป และการลดการระบาดด้วยวิธีการควบคุมและป้องกันโรคตามที่กำหนดคือ องค์ประกอบของยุทธศาสตร์ระดับโลกในการลดโอกาสการกลายพันธุ์ของไวรัส

ขณะเดียวกัน เมื่อวันพุธ หนังสือพิมพ์อาซาฮี ชิมบุง ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการรายหนึ่งของโตเกียวโอลิมปิก ได้เผยแพร่บทบรรณาธิการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูงะ ประเมินสถานการณ์อย่างเป็นกลาง และตัดสินใจยกเลิกการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกตามที่กำหนดไว้ในเดือนกรกฎาคม

ทั้งนี้ โพลหลายสำนักบ่งชี้ว่า ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการจัดโอลิมปิกในอีกสองเดือนข้างหน้า เนื่องจากกังวลว่า นักกีฬาและทีมเจ้าหน้าที่ต่างชาตินับหมื่นคนอาจนำโควิดเข้ามาระบาดหนักยิ่งขึ้น ขณะที่ญี่ปุ่นปิดประเทศเกือบสมบูรณ์มาตั้งแต่ปีที่แล้ว และโครงการฉีดวัคซีนให้ประชาชนยังล่าช้าอยู่มาก

อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นไม่นาน อาซาฮี ชิมบุง ได้ออกคำแถลงยืนยันว่า บริษัทยังคงมุ่งมั่นในการเป็นผู้สนับสนุนโตเกียวโอลิมปิก 2020 อย่างเป็นทางการ และบทบรรณาธิการดังกล่าวเป็นความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเท่านั้น

ทางด้าน ไซโกะ ฮาชิโมโตะ ประธานโตเกียวโอลิมปิก 2020 ยังยืนยันจัดการแข่งขันตามกำหนด โดยเปิดเผยว่า จากการตรวจสอบผู้ที่จะเดินทางเข้าร่วมการแข่งขันเกือบ 7,000 คน จาก 50 ประเทศ รวมทั้งหมด 4 รอบ พบผู้ติดเชื้อโควิดเพียงรายเดียว ซึ่งถือเป็นหลักฐานชัดเจนว่า มาตรการป้องกันไวรัสโคโรนาของญี่ปุ่นมีประสิทธิภาพ พร้อมกันนั้น เขายังอ้างอิงความสำเร็จในการจัดการแข่งขันกีฬาในประเทศต่างๆ

(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)

สภาพน้ำท่วมขังถนนสายหนึ่งภายหลังฝนตกกระหน่ำเนื่องจากอิทธิพลของพายุไซโคลน “ยาออส” ที่เมืองดิกา ในรัฐเบงกอลตะวันตก ทางภาคตะวันออกของอินเดีย วันพุธ (26 พ.ค.)


กำลังโหลดความคิดเห็น