ฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 โดสอาจมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการราวๆ 85% ถึง 90% จากการเปิดเผยของสาธารณสุขอังกฤษ (PHE) ในวันพฤหัสบดี (20 พ.ค.) แต่เน้นด้วยความระมัดระวังว่าข้อมูลยังไม่มากพอสำหรับเป็นข้อสรุป
สหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในชาติที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดใหญ่มากที่สุดในโลก แต่อีกด้านหนึ่งพวกเขาก็เป็นหนึ่งในชาติที่แจกจ่ายวัคซีนรวดเร็วที่สุด ซึ่งมันก่อข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประสิทธิภาพจากการใช้งานจริง
ประเทศแห่งนี้เป็นชาติแรกที่ฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเผชิญคำถามต่างๆเกี่ยวกับโครงสร้างการทดลองทางคลินิก ประสิทธิภาพของวัคซีน และระยะห่างที่เหมาะสมของการฉีดแต่ละโดส
สาธารณสุขอังกฤษระบุว่าผลการค้นพบเบื้องต้นดังกล่าวเป็นผลการวิจัยครั้งแรกเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในโลกจริงหลังฉีดครบ 2 โดส แต่เตือนว่าพวกเขามีความมั่นใจในผลการค้นพบระดับต่ำ และผลลัพธ์จะไม่ได้ข้อสรุปจนกว่าจะรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติม
ในรายงานสังเกตการณ์รายสัปดาห์ สาธารณสุขอังกฤษระบุว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดอยู่ที่ 89% โดยประมาณ เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน และพอๆ กับวัคซีนของไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคที่มีประสิทธิภาพโดยประมาณป้องกันการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ 90%
"ข้อมูลใหม่นี้เน้นย้ำผลลัพธ์อันน่าทึ่งของการฉีดวัคซีนครบ 2 โดส ด้วยโดสที่ 2 ของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามอบการป้องกันสูงสุดถึง 90%" นาดฮิม ซาฮาวี รัฐมนตรีวัคซีน กล่าว
แอสตร้าเซนเนก้าแสดงความยินดีกับผลการค้นพบเบื้องต้น "ข้อมูลโลกจริงจาก PHE เพิ่มเติมหลักฐานหนักแน่นยิ่งขึ้นที่พิสูจน์ถึงประสิทธิภาพวัคซีนของเราต่อโควิด-19" โฆษกระบุ
ส่วน ไมเคิล เฮด นักวิจัยระดับสูงของมหาวิทยาลัยเซาท์แฮมตัน ให้ความเห็นว่า "มันน่าอุ่นใจที่ได้เห็นข้อมูลจากทั้งวัคซีนไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้า ได้มีการเทียบเคียงโดยพื้นฐานวัคซีนทั้ง 2 ตัวในแง่ของประสิทธิภาพการต่อต้านการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ ซึ่งมีประสิทธิภาพออกมาสูงมากหลังจากรับวัคซีนครบ 2 โดส"
สหราชอาณาจักรจ่ายวัคซีนที่ผลิตโดยไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้ามาตั้งแต่เดือนธันวาคมและมกราคมตามลำดับ และในเดือนเมษายนได้เริ่มใช้วัคซีนของโมเดอร์นาเช่นกัน
สาธารณสุขอังกฤษระบุว่าประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์ลดลงเล็กน้อย 10 สัปดาห์หลังจากวัคซีนโดสแรก ก่อนฉีดวัคซีนโดสที่ 2
ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรขยายกรอบเวลาการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ระหว่างโดสแรกกับโดสสองเป็น 12 สัปดาห์ แม้ไฟเซอร์เคยเตือนว่าไม่มีหลักฐานมากพอเกี่ยวกับประสิทธิภาพของมันหากเว้นระยะห่างเกินกว่าที่ใช้ในการทดลองหรือ 3 สัปดาห์
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สหราชอาณาจักรลดระยะเวลาการฉีดระหว่างโดสเหลือ 8 สัปดาห์ในประชาชนอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป โดยมีเป้าหมายคือมอบการป้องกันสูงสุดแก่คนอ่อนแอเพิ่มเติม สืบเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับตัวกลายพันธุ์ B.1.617.2 ซึ่งพบครั้งแรกในอินเดีย
(ที่มา : รอยเตอร์ส)