xs
xsm
sm
md
lg

สงครามลูกผสมที่ ‘ไบเดน’ นำมาใช้เล่นงาน‘จีน’ ไม่ใช่ของใหม่ เพียงแค่เพิ่มเติมขึ้นจากของเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: แมดิสัน ถัง และ โจดี อีแวนส์


ยูเอสเอส แบร์รี เรือพิฆาตติดตั้งขีปนาวุธนำวิถี ชั้น อาร์ลีห์เบิร์ก ของสหรัฐฯ  ขณะปฏิบัติการอยู่ในทะเลจีนใต้เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2020 (ภาพจากแฟ้ม เผยแพร่โดยกองทัพเรือสหรัฐฯ)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

More of the same: Biden’s hybrid war against China
by Madison Tang and Jodie Evans

20/05/2021

นโยบายในการเลือกเอาประเทศจีนที่กำลังก้าวผงาด ขึ้นมาเป็นเป้าหมายสำหรับ "การปิดล้อม” เพื่อธำรงรักษาฐานะความเหนือล้ำกว่าใครๆ ของสหรัฐฯเอาไว้ เป็นสิ่งที่มีการวางแผนกำหนดกันขึ้นมานมนานแล้ว

แผนการเสนองบประมาณรายจ่ายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ สำหรับปีงบประมาณหน้า ได้รับการประกาศออกมาเมื่อไม่นานมานี้ โดยปรากฏว่าเป้าหมายงบประมาณของกระทรวงกลาโหม (เพนตากอน) ถูกกำหนดเอาไว้ที่ 715,000 ล้านดอลลาร์สูงขึ้น 1.6% จากยอด 704,000 ล้านดอลลาร์สำหรับปี 2021 ซึ่งตราเป็นกฎหมายบังคับใช้ภายใต้คณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์

ทั้งนี้กรอบโครงของข้อเสนองบประมาณกลาโหมสำหรับปี 2022 นี้ ระบุว่า เหตุผลความชอบธรรมข้อสำคัญที่สุดสำหรับการเพิ่มการใช้จ่ายทางการทหารเช่นนี้ ก็คือเพื่อตอบโต้ภัยคุกคามของประเทศจีน รวมทั้งบอกด้วยว่า จีนเป็น “ความท้าทายอันดับแรกสุด” ของสหรัฐฯ

ภายในข้อเสนอนี้ มีการรับรองอนุมัติคำขอของ พลเรือเอกฟิลิป เดวิดสัน (Admiral Philip Davidson) ผู้บัญชาการของกองบัญชาการทหารภาคอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ (US Indo-Pacific Command) ที่ต้องการได้งบประมาณจำนวน 4,700 ล้านดอลลาร์สำหรับใช้ใน "แผนการริเริ่มเพื่อการป้องปรามในแปซิฟิก” (Pacific Deterrence Initiative) ซึ่งจะเพิ่มสมรรถนะทางทหารของสหรัฐฯในเกาะกวมและภูมิภาครอบๆ กองบัญชาการทหารภาคพื้นอินโด-แปซิฟิก ยังของบประมาณเพิ่มเติมอีก 27,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงระหว่างปี 2022 ถึง 2027 เพื่อนำมาสร้างเครือข่ายขีปนาวุธที่สามารถยิงใส่เป้าหมายด้วยความแม่นยำสูง โดยจะติดตั้งตามหมู่เกาะต่างๆ ซึ่งอยู่รายล้อมประเทศจีน

การที่สหรัฐฯใช้ความก้าวร้าวตามอำเภอใจฝ่ายเดียวต่อจีนเช่นนี้ –โดยกระทำในรูปแบบลูกผสม นั่นคือเป็นสงครามทั้งทางด้านเศรษฐกิจ,กฎหมาย, ข้อมูลข่าวสาร, และการทหาร – ต้องถือว่ามีอันตรายมากเป็นพิเศษ เนื่องจากนโยบายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นฉันทามติจากทั้งสองพรรคการเมืองใหญ่ในวอชิงตัน

และขณะที่จุดยืนต่อต้านจีนเช่นนี้ สำหรับบางคนบางฝ่ายแล้วอาจจะดูเหมือนเป็นปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้เอง แต่อันที่จริง การผนึกรวมศูนย์นโยบายด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ซึ่งมุ่งเลือกเอาประเทศจีนที่กำลังก้าวผงาด ขึ้นมาเป็นเป้าหมายสำหรับ “การปิดล้อม" เพื่อธำรงรักษาฐานะความเหนือล้ำกว่าใครๆ ของสหรัฐฯเอาไว้นั้น เป็นสิ่งที่มีการวางแผนกำหนดกันขึ้นมานมนานแล้ว

หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1989 สหรัฐฯก็ไม่มีความจำเป็นทางการเมืองใดๆ อีกต่อไปที่จะร่วมมือประสานงานหรือเข้ามีปฏิสัมพันธ์กับประเทศจีน เพื่อการถ่วงดุลสหภาพโซเวียต นับตั้งแต่นั้นมาภายใต้การนำของ แอนดริว มาร์แชลล์ (Andrew Marshall) สมาชิกคนหนึ่งของแรนด์ คอเปอเรชั่น (RAND) และเป็นที่ปรึกษาระดับท็อปของรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ 12 คนต่อเนื่องกัน นโยบายสูงสุดทางทหารของเพนตากอน (หรือที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯเองเรียกว่าเป็น “ความสำคัญเหนือล้ำที่สุดอย่างเต็มขีด” full-spectrum dominance) ก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนโฟกัสสู่การปิดล้อมประเทศจีนที่กำลังก้าวผงาดขึ้นมา

ในปี 1992 พวกอนุรักษนิยมใหม่ (neoconservatives) ได้ร่างเอกสาร “แนวทางปฏิบัติสำหรับการวางแผนด้านกลาโหม (Defense Planning GuidanceหรือDPG)” หรือที่รู้จักเรียกขานกันในนาม “หลักการวูลโฟวิตซ์” (Wolfowitz Doctrine) [1] ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญมุ่งประกาศบทบาทของสหรัฐฯในฐานะเป็นอภิมหาอำนาจที่เหลืออยู่แต่เพียงหนึ่งเดียวของโลก ภายหลังการพังครืนของสหภาพโซเวียต รวมทั้งป่าวร้องอย่างเป็นทางการว่า การปกป้องกีดกัน “การผงาดขึ้นมาอีกครั้งของคู่แข่งรายใหม่” คือวัตถุประสงค์สำคัญที่สุดของสหรัฐฯ

ขณะที่เอกสารฉบับนี้ได้ถูกโยนทิ้งไปในตอนที่รั่วไหลออกมาให้สาธารณชนได้รับทราบกัน สืบเนื่องจากน้ำเสียงผยองอหังการ์ของมัน แต่นักวิชาการและนักหนังสือพิมพ์ เค เจ โน (K J Noh) [2] อธิบายว่า ความคิดความเห็นต่างๆ ของเอกสารดังกล่าวไม่ได้ถูกทิ้งขว้างไปด้วย และในเวลาต่อมาได้ถูกดัดแปลงปรับแต่งเข้าไปอยู่ในเอกสารปี 2000 ชื่อ “การสร้างกิจการกลาโหมของอเมริกาขึ้นมาใหม่” (Rebuilding America’s Defenses)[3] ของกลุ่ม "โครงการเพื่อศตวรรษใหม่ของอเมริกัน” (New American CenturyหรือPNAC)

พร้อมๆ กับมุ่งโฟกัสไปยังพวกชาติที่ถูกระบุอย่างเปิดเผยว่าเป็นศัตรูเฉกเช่น รัสเซีย, เกาหลีเหนือ, อิหร่าน, และอิรัก เอกสาร “การสร้างกิจการกลาโหมของอเมริกาขึ้นมาใหม่” ยังบอกเอาไว้ตรงๆ ว่า “จากการที่ยุโรปเวลานี้ต่างอยู่ในภาวะสันติภาพกันโดยทั่วไปแล้ว ศูนย์กลางของความกังวลในทางยุทธศาสตร์แห่งใหม่จึงดูเหมือนกำลังเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่เอเชียตะวันออก  ภารกิจต่างๆสำหรับกองทัพของอเมริกาจึงไม่ใช่มีการลดทอนหดหายไป หากแต่เป็นการปรับเปลี่ยนเคลื่อนย้ายมากกว่า” และบอกอีกว่า “การยกระดับเพิ่มความแข็งแกร่งทางการทหารของสหรัฐฯในเอเชียตะวันออกคือกุญแจสำคัญสำหรับการรับมือกับการผงาดขึ้นมาสู่สถานะความเป็นมหาอำนาจยิ่งใหญ่ของจีน”

ดังนั้นเมื่อตอนที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตัน ประกาศเรื่อง “การปักหลักให้ความสำคัญกับเอเชีย” (pivot to Asia) ของสหรัฐฯ เอาไว้ในวารสาร “ฟอเรนจ์ โพลิซี” (Foreign Policy) ในปี 2011 ถึงแม้เธอเน้นย้ำแง่มุมที่ว่าการสร้างความสมดุลกันใหม่และโอกาสต่างๆ ในแง่บวกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จะเอื้ออำนวยให้ประโยชน์แก่เศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่เบื้องหลังฉากนั้นเธอกำลังยึดมั่นปฏิบัติตามยุทธศาสตร์กลาโหมของกลุ่มPNAC โดยถือมันเป็นเหตุผลความชอบธรรมในทางสติปัญญาสำหรับการโยกย้ายศักยภาพกำลังนาวีของสหรัฐฯจำนวน 60% มาสู่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก [4] ทั้งนี้การโยกย้ายดังกล่าว ยังครอบคลุมถึงการปิดล้อมประเทศจีนด้วยฐานทัพสหรัฐฯ 400 แห่ง ที่มีทั้งระบบเรดาร์ซึ่งมุ่งล่วงล้ำรุกราน ตลอดจนระบบขีปนาวุธต่างๆ

เพื่อการป้องกันหรือเพื่อมุ่งเปิดฉากโจมตีเอาไว้ก่อน?

เวลานี้สหรัฐฯกำลังเปิดฉากทำสงครามเย็นครั้งใหม่แบบเต็มขั้นกับจีนแล้ว โดยเป็นสงครามที่เปิดแนวรบหลายๆ มิติแบบลูกผสม และกำลังพึ่งพาอาศัยพวกยุทธศาสตร์โหมกระพือเรื่องภัยคุกคามจากภายนอกกันจนฟุ้งเฟ้อ ทำนองเดียวกับที่สถาปนิกนักวางนโยบายการต่างประเทศ แอนดริว มาร์แชลล์ และประดานักอนุรักษนิยมใหม่สายเหยี่ยวซึ่งอยู่ในความอุปถัมภ์ของเขา ได้เริ่มต้นขึ้นมาแล้วตั้งแต่เมื่อเกือบๆ 3 ทศวรรษก่อน

จากการติดตามก้าวคืบเช่นนี้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เหตุผลต่างๆ ที่คณะบริหารโจ ไบเดน หยิบยกขึ้นมาอ้างสำหรับการขยายสงครามและขยายความเป็นศัตรูกับจีนให้บานปลายออกไป –เป็นต้นว่า การกล่าวหาว่ารัฐบาลจีนเป็นผู้รุกรานที่มีอันตราย และสหรัฐฯจะต้องธำรงรักษาสภาวะการป้องกันอย่างแข็งแกร่งเอาไว้เพื่อเป็นการตอบโต้— เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับมูลเหตุจูงใจของสหรัฐฯในการเข้าเกี่ยวข้องพัวพันกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งอยู่ในลักษณะของนักจักรวรรดินิยมไม่ว่าจะเป็นในอดีตที่ผ่านมาและที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้

อย่างที่ เอกสาร “หลักการวูลโฟวิตซ์” ปี 1992 ได้ให้คำนิยามตัวเองอย่างโจ่งแจ้งเปิดเผยว่า นี่เป็นเอกสารซึ่งจะทำหน้าที่เป็น “พิมพ์เขียวสำหรับการธำรงรักษาความสำคัญเหนือล้ำกว่าใครๆ ของสหรัฐฯในทั่วโลก” ประธานาธิบดีไบเดนก็ประกาศก้องเอาไว้ในการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรกของเขาเมื่อวันที่ 25 มีนาคมว่า เขาจะไม่ยอมปล่อยให้จีนแซงหน้าสหรัฐฯ ในฐานะแห่งการเป็นผู้นำของทั่วโลก

“จีนมีเป้าหมายโดยสรุปอยู่อย่างหนึ่ง ... ที่ต้องการจะเป็นประเทศซึ่งมีฐานะนำในโลก, เป็นประเทศที่มั่งคั่งร่ำรวยที่สุดในโลก, และเป็นประเทศมีอำนาจมากที่สุดในโลก” เขาบอกกับพวกผู้สื่อข่าว ณ ทำเนียบขาว “นั่นเป็นสิ่งที่จะไม่เกิดขึ้นมาหรอกในขณะที่ผมเป็นคนดูแลอยู่ เพราะสหรัฐฯนั้นกำลังจะเติบโตขยายตัวอย่างต่อเนื่องไปอีก” [5]

เมื่อสำรวจตรวจตรากันอย่างใกล้ชิดแล้ว ความเห็นที่ว่าจีนเป็นผู้รุกราน และสหรัฐฯเพียงแต่กำลังธำรงรักษาสภาวะทางทหารเพื่อการป้องกันอย่างบริสุทธิ์แท้จริงเอาไว้เท่านั้น ไม่ได้มีาความสอดคล้องกับข้อเท็จจริงเลย

ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯใช้จ่ายในด้านการทหารของตนประมาณสามเท่าตัวของที่จีนใช้ [6] สหรัฐฯมีฐานทัพในต่างแดนอยู่มากกว่า 800 แห่ง [7] เปรียบเทียบกับจีนที่มี 3 แห่ง โดยที่ฐานทางทหารของสหรัฐฯ 800 แห่งเหล่านี้มี 400 แห่งซึ่งกำลังปิดล้อมรายรอบพรมแดนประเทศจีน

กองบัญชาการทหารภาคพื้นอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ กำลังดำเนินการซ้อมรบทางทหารอย่างกว้างขวางและเป็นประจำ ซึ่งรวมไปถึงการจัดเที่ยวบินทดสอบขีปนาวุธด้วย อย่างที่ ฟารีด ซาคาเรีย (Fareed Zakaria) บรรยายเอาไว้ในข้อเขียนเผยแพร่ทางวอชิงตันโพสต์ [8] เมื่อไม่นานมานี้ที่ว่า สหรัฐฯมีจำนวนหัวรบนิวเคลียร์มากเกือบๆ เป็น 20 เท่าตัวของที่จีนมี [9] มีเรือรบในทะเลที่วัดกันเป็นหน่วยน้ำหนัก “ตัน” เท่ากับราวสองเท่าตัวของที่จีนมี [10] และมีทหารมากกว่า 130,000 คนประจำอยู่ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก [11]

กองทัพปลดแอกประชาชนจีน ยังไม่ได้เคยทำสงครามแบบเต็มขนาดนอกชายแดนของตนเลยในรอบระยะเวลากว่า 40 ปีนับตั้งแต่สงครามเวียดนาม [12] ขณะที่สหรัฐฯเข้าทำศึกสู้รบในประเทศอื่นๆ มากกว่า 66 ประเทศนับตั้งแต่ปี 1979 เป็นต้นมา [13]

ที่สำคัญมากก็คือ จีนยึดมั่นในนโยบายว่าด้วยอาวุธนิวเคลียร์ที่จะไม่เป็นผู้ใช้อาวุธนี้เป็นคนแรก [14] และกระทั่งได้เรียกร้องอย่างเปิดเผยให้พวกรัฐมีอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหลายมาจัดทำและเข้าร่วมเป็นภาคีในสนธิสัญญาพหุภาคีว่าด้วยการร่วมกันที่จะไม่เป็นคนแรกซึ่งใช้อาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on Mutual No First Use of Nuclear Weapons) ทว่าสำหรับสหรัฐฯ นั้นไม่เคยประกาศนโยบายที่จะไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์เป็นคนแรกเลยด้วยซ้ำ

ในความเป็นจริงแล้ว นับตั้งแต่กระบวนการ “ทบทวนสภาวะนิวเคลียร์” (Nuclear Posture Review) ของปี 2002 เป็นต้นมา สหรัฐฯก็ได้เตรียมการอย่างเปิดเผยสำหรับการทำสงครามนิวเคลียร์กับจีน [15] โดยข่มขู่คุกคามที่จะก่อให้เกิด “ความเสียหายอย่างชนิดทนรับไม่ไหว” ในการตอบโต้กับ “การก้าวร้าวรุกรานแบบที่ไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ หรือแบบที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์” [16]

สหรัฐฯกำลังสืบต่อความพยายามของตนในการธำรงรักษาสถานะแห่งการเป็นมหาอำนาจระดับโลกเอาไว้อย่างชนิดยอมทุ่มเทสุดตัว แทนที่จะยอมรับการพัฒนาของประเทศอื่นๆ ในฐานะที่เป็นรูปแบบของความก้าวหน้าเชิงบวกสำหรับประชาคมระหว่างประเทศ

แทนที่จะมุ่งยั่วยุให้กลายเป็นสงครามเย็นครั้งใหม่ สหรัฐฯควรที่จะร่วมมือกับจีน ซึ่งคณะบริหารของประเทศนั้นเน้นย้ำอยู่เสมอ ถึงความปรารถนาของตนที่จะธำรงรักษาความเคารพซึ่งกันและกันระหว่างสองฝ่ายและความสัมพันธ์แบบไม่มุ่งเผชิญหน้ากัน ทั้งในวิกฤตการณ์ที่เร่งด่วนต่างๆ และในความกังวลสนใจทางมนุษยธรรมทั้งหลาย อย่างเช่น การบรรเทาปัญหาความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ, ความยากจนของทั่วโลก, และการกระจายแจกจ่ายวัคซีนไปทั่วโลกอย่างมีความเท่าเทียมกันในระหว่างที่เกิดโรคระบาดใหญ่โควิด-19

ข้อเขียนนี้ผลิตโดยโครงการ “Local Peace Economy” (เศรษฐกิจเพื่อสันติภาพท้องถิ่น) ซึ่งเป็นโปรเจ็คต์หนึ่งของIndependent Media Institute (สถาบันสื่อมวลชนอิสระ) ที่เป็นผู้จัดหาข้อเขียนนี้ให้แก่เอเชียไทมส์

แมดิสัน ถัง เป็นผู้จัดการของโครงการรณรงค์ “China Is Not Our Enemy” (จีนไม่ใช่ศัตรูของเรา) ของ “Code Pink: Women for Peace” ขบวนการเอ็นจีโอต่อต้านสงครามและเรียกร้องความเป็นธรรมทางสังคม

โจดี้ อีแวนส์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งCode Pink: Women for Peace และ 826LA องค์การไม่ค้ากำไรที่ตั้งฐานอยู่ในลอสแองเจลิส ซึ่งมุ่งสนับสนุนเด็กๆ ในเรื่องทักษะการเขียนของพวกเขา

เชิงอรรถ

[1] https://www.archives.gov/files/declassification/iscap/pdf/2008-003-docs1-12.pdf

[2] https://www.qiaocollective.com/en/articles/what-is-to-be-done

[3] https://cryptome.org/rad.htm

[4] https://www.bbc.com/news/world-us-canada-18305750

[5] https://www.reuters.com/article/us-usa-biden-china/biden-says-china-wont-surpass-u-s-as-global-leader-on-his-watch-idUSKBN2BH2ZE

[6] https://data.worldbank.org/indicator/MS.MIL.XPND.CD?locations=US-CN

[7] https://www.thenation.com/article/archive/the-united-states-probably-has-more-foreign-military-bases-than-any-other-people-nation-or-empire-in-history/

[8] https://www.washingtonpost.com/opinions/the-pentagon-is-using-china-as-an-excuse-for-huge-new-budgets/2021/03/18/848c8296-8824-11eb-8a8b-5cf82c3dffe4_story.html

[9] https://nationalinterest.org/blog/buzz/chinas-military-biggest-planet-can-it-fight-america-and-win-58862

[10] https://www.brookings.edu/blog/order-from-chaos/2020/09/04/what-the-pentagons-new-report-on-china-means-for-u-s-strategy-including-on-taiwan/

[11] https://www.pacom.mil/About-USINDOPACOM/

[12] https://www.defensenews.com/opinion/commentary/2020/09/17/if-china-loses-a-future-war-entropy-could-be-imminent/

[13] https://davidswanson.org/warlist/

[14] https://www.cfr.org/backgrounder/no-first-use-and-nuclear-weapons

[15] https://www.armscontrol.org/act/2002-04/press-releases/nuclear-posture-review-leaks-outlines-targets-contingencies

[16]https://www.qiaocollective.com/en/articles/what-is-to-be-done


กำลังโหลดความคิดเห็น