ที่ประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติในวันอังคาร(18พ.ค.) เตรียมพิจารณาร่างญัตติไม่ผูกมัดญัตติหนึ่ง เรียกร้องระงับจัดหาและส่งมอบอาวุธแก่คณะรัฐประหารพม่าในทันที จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ยูเอ็นรายหนึ่งในวันอาทิตย์(16พ.ค.)
ต่างจากญัตติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ญัตติของที่ประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติเป็นมติที่ไม่ผูกพัน แต่จะเป็นการส่งสารทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้หากไม่สามารถบรรลุความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ เมื่อนั้นที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเต็มคณะ ซึ่งประกอบด้วยรัฐสมาชิก 193 ชาติ จะทำการโหวตญัตติดังกล่าว
ร่างญัตติเสนอโดยผู้แทนจากลิกเทนสไตน์ ภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ และมันจะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมเต็มคณะในเวลา 19.00 จีเอ็มทีของวันอังคาร(18พ.ค.) ตรงกับเมืองไทย 02.00น.เช้ามืดวันพุธ(19พ.ค.)
โฆษกสหประชาชาติรายหนึ่งเปิดเผยกับเอเอฟพีว่าร่างญัตตินี้เรียกร้องให้ระงับจัดหาทั้งทางตรงทางอ้อม ขายหรือส่งมอบอาวุธทุกชนิด กระสุน รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้องด้านการทหาร
ร่างนี้ ซึ่งเจรจากันมานานหลายสัปดาห์ ได้รับการสนับสนุนจากประเทศต่างๆ 48 ชาติ แต่เกาหลีใต้เป็นเพียงชาติเดียวของเอเชียที่ให้การสนับสนุน
ทั้งนี้ร่างญัตติดังกล่าวยังเรียกร้องให้กองทัพ "ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน" และหยุดใชเความรุนแรงทุกรูปแบบกับพวกผู้ประท้วงอย่างสันติ เช่นเดียวกับปล่อยตัวประธานาธิบดีวิน มิ้นต์ นางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และทุกคนที่ถูกควบคุมตัว ตั้งข้อหาและจับกุมโดยพลการ นับตั้งแต่เหตุรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์
นอกจากนี้แล้วร่างญัตติดังกล่าวยังเรียกร้องให้นำฉันทมติ 5 ข้อที่ 10 ผู้นำจากสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน) เห็นพ้องต้องกันในวันที่ 24 เมษายน มาใช้ในทันที เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ทูตพิเศษของยูเอ็นที่จะเดินทางไปเยือนพม่า และเพื่อมอบการเข้าถึงด้านมนุษยธรรมอย่างปลอดภัยและไร้ข้อจำกัด
ความเคลื่อนไหวของสหประชาชาติมีขึ้นหลังจากเอ็นจีโอหลายแห่งเรีบกร้องมานานให้ใช้มาตรการปิดล้อมอาวุธกับพม่า
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ในถ้อยแถลงต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพม่ามาแล้ว 4 ครั้ง ทว่าแต่ละครั้งนี้มันถูกลดระดับให้อ่อนลง ในการเจรจาต่างๆนานา โดยเฉพาะจากจีน
(ที่มา:เอเอฟพี)