xs
xsm
sm
md
lg

จับตา! ซากจรวดจีนหลุดวงโคจรกำลังดิ่งใส่โลก คาดใกล้ทะลุชั้นบรรยากาศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บรรยายภาพ : จรวดลองมาร์ช 5 บี ถูกยิงขึ้นจากฐานปล่อยจรวดบนเกาะไหหลำ ประเทศจีน เมื่อวันที่ 29 เมษายน
เศษซากจรวดขนาดใหญ่ที่สุดของจีนที่ปล่อยออกจากฐานเมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน คาดหมายว่าจะดิ่งกลับลงมาทะลุชั้นบรรยากาศโลกในช่วงค่ำวันเสาร์ (8 พ.ค.) หรือเช้าวันอาทิตย์( 9 พ.ค.) ตามเวลามาตรฐานกรีนิช (GMT) จากการเปิดเผยของศูนย์ติดตามยุโรปและสหรัฐฯ ในวันเสาร์ (8 พ.ค.)

กระทรวงการต่างประเทศของจีนยืนยันเมื่อวันศุกร์ (7 พ.ค.) เศษซากเกือบทั้งหมดของจรวดจะถูกเผาไหม้ระหว่างกลับเข้าชั้นบรรยากาศโลก และมีความเป็นไปได้อย่างสูงที่มันจะไม่ก่ออันตรายใดๆ หลังจากกองทัพสหรัฐฯ ออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่ากองบัญชาการอวกาศแห่งอเมริกากำลังติดตามสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าการกลับสู่ชั้นบรรยากาศโลกของเศษซากจรวดที่ไม่อยู่ในการควบคุม

สำนักงานเฝ้าระวังและติดตามอวกาศของอียู (EU SST) คาดการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับกรอบเวลาในการกลับสู่ชั้นบรรยากาศชิ้นส่วนลำตัวจรวดลอง มาร์ช 5B อยู่ที่ประมาณ 02.32 จีเอ็มที ของวันอาทิตย์ (ตรงกับเมืองไทย 09.32 น.) บวกลบราวๆ 139 นาที ส่วนกองบัญชาการอวกาศแห่งสหรัฐฯ ในวันเสาร์ (8 พ.ค.) คาดหมายว่าการกลับสู่ชั้นบรรยากาศจะเกิดขึ้นตอนเวลา 02.04 น.ของวันอาทิตย์ (ตรงกับเมืองไทย 09.02 น.) บวกลบราวๆ 1 ชั่วโมง

ทาง EU SST ระบุบนเว็บไซต์ว่าในทางสถิติแล้วความเป็นไปได้ของการตกกระทบพื้นดินในพื้นที่ชุมชนนั้นอยู่ในระดับ "ต่ำ" แต่เน้นว่าธรรมชาติของวัตถุที่หลุดจากการควบคุมทำให้การคาดเดาใดๆ นั้นเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

เครือข่ายเฝ้าระวังอวกาศของอเมริกา Space-Track ซึ่งรายงานข้อมูลที่รวบรวมโดยกองบัญชาการอวกาศแห่งสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าเศษซากจรวดจะตกแถวๆ ทางเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก แต่ยอมรับผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันเสาร์ (8 พ.ค.) ว่าการคาดการณ์ตำแหน่งของเศษซากจรวดที่ย้อนกลับสู่ชั้นอวกาศส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีความแน่นอน และจะทราบตำแหน่งล่วงหน้าแค่ไม่นาน

จรวด ลองมาร์ช 5 บี ถูกยิงขึ้นจากฐานปล่อยจรวดบนเกาะไหหลำ ประเทศจีน เมื่อวันที่ 29 เมษายน เพื่อปฏิบัติภารกิจขนส่งโมดุลเทียนเหอ ซึ่งเป็นตู้พักอาศัยสำหรับลูกเรือบนสถานีอวกาศจีน นับเป็นการปล่อยจรวดครั้งแรก จากทั้งหมด 11 ภารกิจ ในโครงการสร้างสถานีอวกาศแบบถาวรของจีน

โจนาธาน แม็กดาวเวลล์ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ จากฮาร์วาร์ด บอกกับรอยเตอร์สก่อนหน้านี้ว่า เศษซากของจรวดดังกล่าวมีความเป็นไปได้ว่าอาจหลุดรอดจากการเผาไหม้ หลังจากผ่านชั้นบรรยากาศที่ความเร็วเหนือเสียง และอาจตกลงสู่พื้น บางทีอาจตกในพื้นที่ชุมชน ดังเช่นเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 ซึ่งหนนั้นชิ้นส่วนของจรวด ลองมาร์ช 5 บี อีกลำหนึ่งตกใส่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในไอวอรีโคสต์ ก่อความเสียหายแก่อาคารหลายหลัง แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ

เศษซากจากการปล่อยจรวดของจีนไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในประเทศจีนแต่อย่างใด โดยก่อนหน้านี้เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนเจ้าหน้าที่ในเมืองฉีหยาน มณฑลหูเป่ย ประกาศแจ้งประชาชนทั่วเมืองให้เตรียมพร้อมอพยพ ท่ามกลางความคาดหมายว่าหลายชิ้นส่วนของซากจรวดจะตกลงในพื้นที่

“การกลับสู่ชั้นบรรยากาศของลองมาร์ช 5 บี ถือว่าไม่ปกติ เพราะว่าระหว่างการปล่อย ท่อนแรกของจรวดไต่ระดับถึงความเร็ววงโคจรแทนที่วิถีจะลดลงอย่างเช่นทั่วๆ ไป” แอร์โรสเปซ คอร์ปอเรชัน ระบุในบล็อกโพสต์ “ตอนนี้ลำตัวจรวดเปล่าโคจรเป็นรูปวงรีรอบโลก และมันกำลังถูกลากเข้าสู่ชั้นบรรยากาศแบบไม่มีการควบคุม”

“ซากจรวดสูญเสียระดับความสูงมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว แต่ความเร็วของการโคจรยังคงไม่แน่นอน เนื่องจากตัวแปรต่างๆ ของชั้นบรรยากาศที่ไม่อาจคาดเดาได้” แอร์โรสเปซ คอร์ปอเรชัน ระบุ

พวกผู้เชี่ยวชาญคาดหมายว่าเศษซากจรวดนี้มีน้ำหนักประมาณ 20 ตัน ถือเป็นหนึ่งในซากอวกาศที่มีน้ำหนักมากที่สุดที่ดิ่งกลับสู่โลก

(ที่มา : รอยเตอร์ส)


กำลังโหลดความคิดเห็น