xs
xsm
sm
md
lg

จีนส่ง‘โมดูลเทียนเหอ’ขึ้นสู่วงโคจร หลักชัยสำคัญจัดตั้ง‘สถานีอวกาศถาวร’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้คนเฝ้าชมจรวดลอง-มาร์ช 5บี ที่บรรทุกโมดูลหลัก “เทียนเหอ” ของสถานีอวกาศถาวรของจีน ขึ้นจากศูนย์ส่งจรวดเหวินชาง ในมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) วันพฤหัสบดี (29 เม.ย.)
จีนประสบความสำเร็จเมื่อวันพฤหัสบดี (29 เม.ย.) ในการส่งโมดูลแรกสำหรับการก่อตั้งสถานีอวกาศของตนเอง ที่วางแผนเริ่มปฏิบัติการตอนปลายปี 2022 ถือเป็นหลักชัยสำคัญสำหรับแผนการส่งมนุษย์อวกาศขึ้นไปประจำการอย่างถาวร

จีนทุ่มเงินเป็นพันเป็นหมื่นล้านดอลลาร์ในการสำรวจอวกาศ ถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการสร้างสถานภาพที่โดดเด่นขึ้นยิ่งในเวทีโลก และเป็นภาพสะท้อนความยิ่งใหญ่ด้านเทคโนโลยีของตนเอง

โมดูลแรกที่ส่งขึ้นสู่อวกาศนี้มีชื่อว่า “เทียนเหอ” ถือเป็นโมดูลหลักของสถานีอวกาศ โดยจะเป็นพื้นที่อยู่อาศัยสำหรับนักบินอวกาศ 3 คนรวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ช่วยชีวิต “เทียนเหอ” ถูกส่งขึ้นจากสถานีปล่อยจรวดในเมืองเหวินชาง มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ด้วยจรวดลอง-มาร์ช 5บี โดยสถานีทีวีของทางการถ่ายทอดให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับชม

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวในสารแสดงความยินดีกับความสำเร็จคราวนี้ โดยระบุว่า สถานีอวกาศของจีน ซึ่งจะใช้ชื่อว่า “เทียนกง” (วิมานสวรรค์) เป็นขั้นตอนสำคัญในการสร้างประเทศที่ยิ่งใหญ่ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

จีนตั้งเป้าขึ้นเป็นมหาอำนาจอวกาศภายในปี 2030 และเร่งผลักดันโครงการอวกาศ เช่น การเยือนดวงจันทร์ การปล่อยยานอวกาศไร้ลูกเรือขึ้นสู่ดาวอังคาร และการสร้างสถานีอวกาศของตัวเอง

คาดว่า สถานีอวกาศเทียนกง จะเริ่มปฏิบัติงานได้ในปี 2022 หลังภารกิจขนส่งและประกอบโมดูลต่างๆ ขณะอยู่ในวงโคจรรอบโลกระดับต่ำ ราว 11 ภารกิจสำเร็จเสร็จสิ้น ซึ่งก็รวมถึงการส่งโมดูลอื่นอีก 2 โมดูล ยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุม 4 ลำ และยานขนส่ง 4 ลำ

เมื่อแล้วเสร็จ สถานีอวกาศแห่งนี้จะคล้ายกับสถานีอวกาศ “มีร์” ของโซเวียตที่ขึ้นสู่วงโคจรนับจากทศวรรษ 1980 จนถึงปี 2001

สำหรับสถานีอวกาศของจีนคาดว่า จะขึ้นสู่วงโคจรที่ระดับ 400-450 กิโลเมตรจากพื้นโลก และปฏิบัติภารกิจราว 15 ปี

สถานีอวกาศเทียนกงที่มีน้ำหนักกว่า 90 ตันเล็กน้อย จะมีขนาดราว 1 ใน 4 ของสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)โดยนอกเหนือจากโมดูลหลักที่ปล่อยขึ้นไปคราวนี้แล้ว ยังประกอบด้วยอีกสองโมดูลเพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ และจะติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ตลอดจนถึงอุปกรณ์ทดลอง เช่น อุปกรณ์ทดลองอะตอมที่อุณหภูมิเย็นจัด ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมอวกาศจีน

ไป่ หลินฮู รองหัวหน้าแผนกออกแบบสถานีอวกาศ เผยว่า โมดูลหลักจะมีพื้นที่อยู่อาศัย 50 ลูกบาศก์เมตรสำหรับนักบินอวกาศ 3 คน พร้อมติดตั้งอุปกรณ์โทรคมนาคมขั้นสูงเพื่อให้นักบินอวกาศสามารถเรียกดูเว็บไซต์ต่างๆ ไม่ต่างจากที่คนบนโลกใช้อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์

จีนเคยส่ง ห้องปฏิบัติการ หรือ สถานีอวกาศต้นแบบ ที่ใช้ชื่อว่า “เทียนกง-1” ขึ้นสู่อวกาศเมื่อเดือนกันยายน 2011 และห้องปฏิบัติการนี้กลายเป็นโมดูลต้นแบบในการวางรากฐานสำหรับสถานีอวกาศที่มีนักบินอวกาศประจำอยู่เป็นการถาวร

เทียนกง-1 ตกลงกลับสู่ชั้นบรรยากาศโลกในปี 2018 หลังจากหยุดทำงานนาน 2 ปี โดยที่จีนได้ส่งห้องปฏิบัติการเทียนกง-2 ขึ้นสู่วงโคจรไปก่อนแล้วตั้งแต่ปี 2016

ทั้งนี้ สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างอเมริกา รัสเซีย แคนาดา ยุโรป และญี่ปุ่น มีกำหนดปลดประจำการหลังปี 2024 แม้นาซาระบุว่า สถานีอวกาศนี้ยังสามารถปฏิบัติงานได้จนถึงหลังปี 2028 ก็ตาม

หลังจากไอเอสเอสที่ต้อนรับนักบินอวกาศครั้งแรกในปี 2000 ปลดประจำการ เทียนกงของจีนอาจเป็นสถานีอวกาศเดียวที่อยู่บนวงโคจรของโลก

ปักกิ่งยังไม่มีแผนการที่เฉพาะเจาะจงในการใช้สถานีอวกาศสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศแบบเดียวกับISS แต่หน่วยงานด้านอวกาศของจีนเคยระบุว่า พร้อมร่วมมือกับประเทศอื่นๆ แม้ขอบเขตความร่วมมือยังไร้ความชัดเจนก็ตาม

กระนั้น สำนักงานอวกาศยุโรปได้ส่งมนุษย์อวกาศไปรับการฝึกอบรมที่จีนเพื่อเตรียมพร้อมทำงานในสถานีอวกาศของจีนในอนาคต

นอกจากนี้เมื่อเดือนมีนาคม จีนยังเปิดเผยว่า กำลังวางแผนสร้างสถานีอวกาศบนดวงจันทร์อีกแห่งหนึ่งร่วมกับรัสเซีย ซึ่งจะประกอบด้วยศูนย์วิจัยเพื่อการทดลองและจะเป็นโครงการความร่วมมือด้านสถานีอวกาศนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดของจีน

(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)

วงออเคสตราบรรเลงพร้อมคณะนักร้องประสานเสียง ขณะจรวดลอง-มาร์ช 5บี ที่บรรทุกโมดูลหลัก “เทียนเหอ” ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศจากศูนย์เหวินชาง ในมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ)  วันพฤหัสบดี (29 เม.ย.)
กำลังโหลดความคิดเห็น