วัคซีนซิโนแวคของจีนมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ 67% ข้อมูลจากการศึกษาขนาดในโลกจริงในชิลี ที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นับเป็นปัจจัยบวกสำคัญของวัคซีนตัวนี้ ซึ่งอยู่ภายใต้การพินิจพิเคราะห์อย่างละเอียด เกี่ยวกับระดับการป้องกันของมันต่อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
นอกจากประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการแล้ว ข้อมูลของรัฐบาลชิลีที่เผยแพร่ในรายงาน ยังพบด้วยว่าวัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไปอีกที่ 85% ในการป้องกันการติดเชื้ออาการรุนแรงถึงขั้นเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และ 80% ในการป้องกันการเสียชีวิต พร้อมระบุว่าข้อมูลดังกล่าวน่าจะพิสูจน์ว่าวัคซีนตัวนี้คือ “ตัวเปลี่ยนเกม”
โรดริโก ยาเนซ รัฐมนตรีช่วยการค้าของชิลี ผู้เจรจาจนบรรลุข้อตกลงกับซิโนแวค สำหรับใช้ชิลีเป็นเจ้าภาพในการทดลองทางคลินิก และสั่้งซื้อวัคซีนของซิโนแวคจำนวน 60 ล้านโดส ในช่วง 3 ปี ระบุว่า ผลการทดลองดังกล่าวแสดงให้เห็น ชิลี เสี่ยงเดิมพันได้ถูกต้อง
“สำหรับวัคซีนตัวดังกล่าวมันคือตัวเปลี่ยนเกม และผมคิดว่ามันเป็นการยืนยันอย่างชัดเจนในประเด็นเกี่ยวกับประสิทธิภาพของมัน” เขาบอกกับรอยเตอร์
สต๊อกวัคซีนซิโนแวคของชิลีเหลือน้อยเต็มที และด้วยคำสั่งซื้อรวม 14.2 ล้านโดส จะได้รับการส่งมอบอย่างครบถ้วนในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ยาเนซ เผยว่า เขากำลังเจรจาขอซื้อวัคซีนเพิ่มเติมอีก 4 ล้านโดส และด้วยเหตุดังกล่าว ตอนนี้ชิลีจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้วัคซีนของไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคมากขึ้น
การเปิดเผยข้อมูลของซิโนแวคครั้งนี้ ทำให้ชิลีกลายเป็นไม่กี่ประเทศ ในนั้นรวมถึงสหราชอาณาจักรและอิสราเอล ที่ใช้โครงการฉีดวัคซีนอันรวดเร็วของพวกเขา ทำความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนนอกการทดลองทางคลินิกแบบควบคุม ซึ่งต้องเผชิญกับปัจจัยผันแปรต่างๆที่ไม่อาจคาดเดาได้ในสังคม
ก่อนหน้านี้ การศึกษาในโลกจริงในอิสราเอล เกี่ยวกับประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ เป็นการศึกษาผลในประชาชน 1.2 ล้านคน ผสมผสานระหว่างผู้ได้รับวัคซีนกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน
กระทรวงสาธารณสุขอิสราเอล เปิดเผยในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ว่า จากผลการศึกษาพบอัตราติดเชื้อโควิด-19 ลดลงถึง 95.8% ในหมู่ประชาชนที่ได้รับวัคซีนของไฟเซอร์ครบ 2 โดส นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า วัคซีนของไฟเซอร์มีประสิทธิภาพ 98% สำหรับป้องกันอาการไข้ต่างๆ หรือปัญหาด้านการหายใจจากการติดเชื้อ และมีประสิทธิภาพมากถึง 98.9% ในการป้องกันการเสียชีวิต และ 99.2% ป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรง
ผลการค้นพบดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่รวบรวมทั่วประเทศจนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ จากบรรดาชาวอิสราเอลที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสไปแล้วอย่างน้อยๆ 2 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น
ในส่วนของการศึกษาในชีลี เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของวัคซีนโคโรนาแวค เป็นการศึกษาในประชาชนราว 10.5 ล้านคน ทั้งคนที่ได้รับวัคซีนและไม่ได้รับวัคซีน โดยที่วัคซีนของซิโนแวคนั้นจะฉีด 2 เข็ม ห่างกันเป็นเวลา 28 วัน
ข้อมูลของวัคซีนซิโนแวคที่เผยแพร่โดยรัฐบาลชิลี ถือว่าออกมาในทิศทางที่ดีกว่าข้อมูลครั้งก่อนๆ เกี่ยวกับประสิทธิภาพของมันในการทดลองทางคลินิก
ก่อนหน้านี้ ในการทดลองในบราซิล บ่งชี้ว่า ประสิทธิภาพโดยทั่วไปของวัคซีนซิโนแวคในการป้องกันการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ อยู่ในระดับที่เกิน 50% เพียงเล็กน้อย แม้มันจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นในการป้องกันการติดเชื้ออาการปานกลางไปจนถึงเคสรุนแรงจนถึงเข้าต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล
อินโดนีเซีย อนุมัติใช้ในกรณีฉุกเฉินวัคซีนซิโนแวค บนพื้นฐานของข้อมูลชั่วคราวที่แสดงประสิทธิภาพ 65% ขณะที่การทดลองในตุรกี พบมันมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ 83.5% และป้องกันการติดเชื้ออาการรุนแรงถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล 100%
ผลการศึกษาในชิลีเป็นการศึกษาผลกระทบของการใช้วัคซีนในหมู่ผู้คนในระบบสาธารณสุขระหว่างวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ถึง 1 เมษายน ประเมินตามตามเพศ อายุ โรคประจำตัว รายได้และเชื้อชาติ
ผู้เขียนผลการศึกษาเน้นย้ำว่า ผลต่างๆ จากการทดลอง ยกตัวอย่างเช่น ระดับการป้องกันการเสียชีวิตที่ต่ำลงเมื่อเทียบกับการทดลองในคลินิก ควรพิจารณาร่วมกับการแพร่ระบาดระลอกสองของโรคระบาดใหญ่ ซึ่งเป็นการแพร่ระบาดที่รุนแรงมาก
การทดลองครั้งนี้ยังมีการเปรียบเทียบกันระหว่างกลุ่มคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน กลุ่มคนที่ได้รับวัคซีนโดสแรกไปแล้วมากกว่า 14 วัน และกลุ่มคนที่ได้รับวัคซีนโดสสองไปแล้วมากกว่า 14 วัน ซึ่งพบว่าประสิทธิภาพการป้องกันไวรัสของวัคซีนซิโนแวคจะสูงขึ้นมากหลังจากได้รับวัคซีนครบ 2 โดส
(ที่มา: รอยเตอร์)