อว. เผยฉีดวัคซีนทั่วโลกแล้ว 894 ล้านโดส ใน 173 ประเทศ/เขตปกครอง ส่วนอาเซียนฉีดแล้วทุกประเทศ รวมกันกว่า 22 ล้านโดส ไทยฉีดแล้วมากกว่า 6 แสนโดส
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยข้อมูลสถิติการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกแล้ว 894 ล้านโดส ใน 173 ประเทศ/เขตปกครอง โดยขณะนี้อัตราการฉีดล่าสุดรวมกันทั่วโลกที่ 16.6 ล้านโดสต่อวัน และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณารายประเทศพบว่า อิสราเอลได้ฉีดวัคซีนครอบคุลมเกินครึ่งของประชากรแล้ว ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีจำนวนการฉีดวัคซีนสูงที่สุดที่ 209 ล้านโดส โดยมีชาวอเมริกันกว่า 70 ล้านคน ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว
ด้านอาเซียนขณะนี้ทุกประเทศได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แล้ว มียอดรวมกันที่ประมาณ 22 ล้านโดส โดยสิงคโปร์ฉีดวัคซีนในสัดส่วนประชากรมากที่สุดในภูมิภาค (14.6% ของประชากร) ในขณะที่อินโดนีเซียฉีดวัคซีนในจำนวนมากที่สุดที่ 16 ล้านโดส สำหรับประเทศไทยข้อมูล ณ วันที่ 19 เมษายน 2564 ได้ฉีดวัคซีนแล้วกว่า 618,583 โดส โดยฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขมากที่สุดในสัดส่วนกว่า 42%
ในการฉีดวัคซีน จำนวน 894 ล้านโดสนี้ อว. ขอรายงานสถิติที่สำคัญ คือ
1. ประเทศที่ฉีดวัคซีนแล้วมากที่สุด 3 ประเทศลำดับแรกที่ฉีดวัคซีนมากกว่า 100 ล้านโดส รวมกันเกือบ 60% ของปริมาณการฉีดวัคซีนทั่วโลก
1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 209.41 ล้านโดส (32.7% ของจำนวนการฉีดทั่วโลก)
2. จีน จำนวน 189.81 ล้านโดส (6.8%)
3. อินเดีย จำนวน 122.62 ล้านโดส (4.5%)
2. ประเทศที่ฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรมากที่สุด มี 8 ประเทศที่ฉีดวัคซีนให้กับประชากรอย่างน้อย 25% แล้ว ได้แก่ (เฉพาะประเทศที่มีประชากรมากกว่า 500,000 คน)
1. อิสราเอล (57% ของประชากร) (ฉีดวัคซีนของ Pfizer/BioNTech และ Moderna)
2. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (44.8%) (ฉีดวัคซีนของ AstraZeneca/Oxford, Pfizer/BioNTech, Sinopharm และ Gamaleya)
3. มัลดีฟส์ (42.9%) (ฉีดวัคซีนของ AstraZeneca/Oxford)
4. บาห์เรน (35.5%) (ฉีดวัคซีนของ AstraZeneca/Oxford, Pfizer/BioNTech, Sinopharm และ Gamaleya)
5. ชิลี (34.4%) (ฉีดวัคซีนของ Pfizer/BioNTech และ Sinovac)
6. สหรัฐอเมริกา (32.7%) (ฉีดวัคซีนของ Pfizer/BioNTech Moderna และ Johnson&Johnson)
7. ภูฏาน (32.1%) (ฉีดวัคซีนของ AstraZeneca/Oxford)
8. สหราชอาณาจักร (32%) (ฉีดวัคซีนของ AstraZeneca/Oxford และ Pfizer/BioNTech)
3. จำนวนการฉีดวัคซีนแยกตามภูมิภาค
1. เอเชียและตะวันออกกลาง 46.75%
2. อเมริกาเหนือ 26.44%
3. ยุโรป 18.04%
4. ละตินอเมริกาและแคริบเบียน 6.93%
5. แอฟริกา 1.65%
6. โอเชียเนีย 0.19%
4. ในภูมิภาคอาเซียน ได้ฉีดวัคซีนแล้วครบ 10 ประเทศ รวมจำนวน 22,984,902 โดส ได้แก่
1. สิงคโปร์ จำนวน 1,667,522 โดส (14.6% ของประชากร) ฉีดวัคซีนของ Pfizer และ Moderna
2. อินโดนีเซีย จำนวน 16,740,076 โดส (3.1% ของประชากร) ฉีดวัคซีนของ Sinovac
3. มาเลเซีย จำนวน 1,135,015 โดส (1.7% ของประชากร) ฉีดวัคซีนของ Pfizer และ Sinovac
4. กัมพูชา จำนวน 418,569 โดส (1.3% ของประชากร) ฉีดวัคซีนของ Sinopharm
5. พม่า จำนวน 1,040,000 โดส (1% ของประชากร) ฉีดวัคซีนของ AstraZeneca
6. ฟิลิปปินส์ จำนวน 1,255,716 โดส (0.6% ของประชากร) ฉีดวัคซีนของ Sinovac และ AstraZeneca
7. ไทย จำนวน 618,583 โดส (0.4% ของประชากร) ฉีดวัคซีนของ Sinovac และ AstraZeneca
8. ลาว จำนวน 40,732 โดส (0.3% ของประชากร) ฉีดวัคซีนของ Sinopharm
9. บรูไน จำนวน 2,323 โดส (0.3% ของประชากร) ฉีดวัคซีนของ AstraZeneca
10. เวียดนาม จำนวน 66,366 โดส (<0.1% ของประชากร) ฉีดวัคซีนของ AstraZeneca
5. ข้อมูลการฉีดวัคซีนล่าสุดของประเทศไทย ณ วันที่ 19 เมษายน 2564
จัดสรรวัคซีนแล้วทั้งหมด 1,161,849 โดส
จำนวนการฉีดวัคซีนสะสม 618,583 คน ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็น
-เข็มแรก 535,925 โดส
-เข็มสอง 82,658 โดส
กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการฉีดวัคซีน เรียงตามสัดส่วนมากที่สุด ได้แก่
-บุคลากรการแพทย์/สาธารณสุข และ อสม. 41.8%
-ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 39.6%
-เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 9.5%
-ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 4,4%
-บุคคลที่มีโรคประจำตัว อย่างละ 4.7%