(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
Huawei targets Tesla, investing US$1bn in EVs
by Dave Makichuk
13/04/2021
ยักษ์ใหญ่เทเลคอมจีนที่ถูกสหรัฐฯ เล่นงานหนักรายนี้จะจับมือเป็นพันธมิตรกับ 3 ผู้ผลิตรถ เพื่อทำยานยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนด้วยตนเอง ซึ่งจะใช้ชื่อ “หัวเว่ย” เป็นแบรนด์รอง ทำนองเดียวกับที่เครื่องพีซีติดป้ายบอกว่าชิปข้างในเป็น “อินเทล”
ถึงแม้กำลังถูกปิดล้อมบีบคั้นอย่างหนักจากมาตรการแซงก์ชันของสหรัฐฯ แต่ หัวเว่ย ก็ตัดสินใจที่จะแข่งขันชิงชัยกับหนึ่งในคู่แข่งซึ่งมีความก้าวหน้าที่สุดและไฮเทคที่สุดในโลก - คู่แข่งดังกล่าวนี้ก็ไม่ใช่ใครอื่น คือ บริษัทเทสลา อิงก์
ตามรายงานข่าวที่เผยแพร่ในสื่อบลูมเบิร์ก บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลจีส์ จะลงทุนเป็นจำนวนเงินราว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการวิจัยเทคโนโลยียานยนต์ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวมันเอง และยานยนต์ไฟฟ้า เป็นการเร่งรัดแผนการที่จะแข่งขันกับ เทสลา อิงก์ ตลอดจน เสียวหมี่ คอร์ป ในเวทีตลาดยานยนต์ซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก
อันที่จริง เทคโนโลยีขับเคลื่อนยานยนต์แบบอัตโนมัติของหัวเว่ย เวลานี้ก็ล้ำหน้ากว่าของ เทสลา ในบางด้านอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีของหัวเว่ยสามารถปล่อยให้ยานยนต์แล่นไปด้วยตัวมันเองเป็นระยะทางมากกว่า 1,000 กิโลเมตร โดยปราศจากการเข้าแทรกแซงของมนุษย์ อีริค สีว์ (Eric Xu) ประธานหมุนเวียนคนปัจจุบันของหัวเว่ย บอกกับพวกนักวิเคราะห์ทางอุตสาหกรรม ที่เมืองเสิ่นเจิ้น เมื่อวันจันทร์ (12 เม.ย.) ที่แล้ว
รายงานข่าวของบลูมเบิร์กบอกต่อไปว่า ยักษ์ใหญ่เทเลคอมสัญชาติจีนรายนี้ เบื้องต้นเลยจะจับมือเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตรถยนต์ 3 แห่ง ในการทำรถยนต์ขับเคลื่อนได้ด้วยตนเอง โดยที่รถยนต์เหล่านี้จะมีชื่อหัวเว่ย ปรากฏให้เห็นในฐานะเป็นแบรนด์รอง (sub-brand) แบรนด์หนึ่ง สีว์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ผู้บริหารของบริษัทที่ผลัดเปลี่ยนกับเข้าทำหน้าที่เป็นประธานของหัวเว่ย กล่าวแจกแจง
ทั้งนี้ หัวเว่ยจะรักษาให้แวดวงพันธมิตรของตนในลักษณะนี้มีขนาดเล็กๆ เอาไว้ และให้โลโก้ของบริษัทได้รับการประดับอยู่ที่รถ ซึ่งนำเอาเทคโนโลยีขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติของหัวเว่ยไปใช้ --ไม่แตกต่างจากที่บริษัทอินเทลคอร์ป สามารถเรียกร้องความสนใจให้กับไมโครโปรเซสเซอร์ของตนที่ติดตั้งอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี— สีว์ กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับผู้ผลิตรถยนต์ 3 รายที่หัวเว่ยไปตกลงจับมือร่วมทีมด้วยกันแล้ว ได้แก่ กลุ่ม BAIC (BAIC Group ชื่ออย่างเป็นทางการคือ Beijing Automotive Industry Holding Co., Ltd.), บริษัท ฉงชิ่ง ฉางอาน ออโตโมบิล (Chongqing Changan Automobile Co.) และบริษัท กว่างโจว ออโตโมบิล กรุ๊ป (Guangzhou Automobile Group Co. หรือ GAC Group) บลูมเบิร์กรายงาน
ขณะที่ทางด้านสำนักข่าวเอเอฟพีบอกว่า หัวเว่ยยังวางแผนการเดินหน้าต่อไปในเรื่องการช่วยการพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ สำหรับการเชื่อมต่อระดับ 5จี ความเร็วจัดขนาดซูเปอร์ฟาสต์ ซึ่งกำลังจะมาถึงแล้ว, รวมทั้งในด้านคลาวด์ คอมพิวติ้ง (cloud computing), และในธุรกิจซอฟต์แวร์
“ด้วยการปรับเปลี่ยนเหล่านี้ในพอร์ตโฟลิโอ เราจึงมีความมั่นใจมากว่าเราสามารถอยู่รอดต่อไปได้” สีว์ กล่าว
เขาระบุด้วยว่า ทั้งยุทธศาสตร์โดยรวมของหัวเว่ย และมาตรการเฉพาะเจาะจงต่างๆ ของหัวเว่ย ล้วนแล้วแต่แวดล้อมเรื่องที่จะทำให้บริษัทสามารถอยู่รอดต่อไปได้ และการพัฒนาเพื่อผลในระยะยาว
เอเอฟพีชี้ว่า ตั้งแต่ปี 2018 โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในขณะนั้นได้เปิดฉากการรณรงค์อย่างแข็งกร้าวเพื่อมุ่งทำให้ หัวเว่ย ตกอยู่ในฐานะโดดเดี่ยวถูกตัดขาดจากทั่วโลก โดยอ้างเหตุผลความวิตกกังวลที่ว่าอุปกรณ์เครือข่ายการสื่อสารโทรคมนาคมของบริษัทนี้ที่ถูกติดตั้งไปทั่วโลก อาจถูกรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนใช้เพื่อการสอดแนมหรือการบ่อนทำลาย
ทั้งทางการจีนและหัวเว่ยต่างปฏิเสธข้อกล่าวหานี้อย่างเดือดดาล และตอบโต้ว่าสหรัฐฯไม่เคยแสดงหลักฐานออกมาพิสูจน์สนับสนุนการกล่าวอ้างของตนเลย
มาตรการต่างๆ ที่คณะบริหารทรัมป์นำมาใช้เล่นงานหัวเว่ยนั้น เอเอฟพรายงานว่า มีทั้ง การห้ามบริษัทเข้าไปทำธุรกิจในตลาดสหรัฐฯ, การความพยายามกีดกั้นตัดขาดหัวเว่ยออกจากห่วงโซ่อุปทานชิ้นส่วนในระดับทั่วโลก, รวมทั้งการบีบคั้นพวกชาติพันธมิตรของสหรัฐฯให้ห้ามหรือถอดถอนเครื่องมืออุปกรณ์ของหัวเว่ยออกจากระบบการสื่อสารโทรคมนาคมระดับชาติของพวกเขา
ครั้นเมื่อคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีเครื่องบ่งชี้ใดๆ ว่าสหรัฐฯจะมีการผ่อนคลายการเล่นงานหัวเว่ย
หัวเว่ยนั้นเป็นซัปพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของโลกในเรื่องเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับใช้ทำเครือข่ายการสื่อสารโทรคมนาคม รวมทั้งยังเป็นซัปพลายเออร์ระดับท็อป 3 ในเรื่องสมาร์ตโฟน เคียงคู่กับ ซัมซุง และ แอปเปิล
แต่บริษัทได้หลุดออกจากการเป็น 1 ในบิ๊กทรีของวงการโทรศัพท์มือถือตอนช่วงปลายปี 2020 เมื่อยอดขายหล่นฮวบฮาบสืบเนื่องจากประสบความยากลำบากในการเข้าถึงชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ ที่จำเป็น ทั้งนี้ตามความเห็นของพวกผู้ติดตามแวดวงอุตสาหกรรมนี้หลายๆ ราย
ในส่วนยอดขายยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีน บริษัทวิจัย คานาลิส (Canalys) ประมาณการว่า น่าจะเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 50% แค่เฉพาะในปีนี้ปีเดียว เนื่องจากพวกผู้บริโภคต่างให้การต้อนรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ราคาของรถประเภทนี้ก็ต่ำลงมามาก รายงานข่าวของบลูมเบิร์กชี้
ซอฟต์แวร์ด้านข้อมูลข่าวสารและด้านนันทนาการของหัวเว่ย เวลานี้สามารถพบติดตั้งอยู่ในรถยนต์ของค่ายเมอร์ซิเดส-เบนซ์ และหัวเว่ยยังได้ร่วมทีมกับพวกผู้เล่นภายในจีน อย่างเช่น บริษัท บีเอไอซี บลูพาร์ก นิว เอเนอจี เทคโนโลยี (BAIC BluePark New Energy Technology Co.) เพื่อพัฒนาระบบต่างๆ ของรถยนต์อัจฉริยะ
บลูมเบิร์กบอกว่า รถโมเดลแรกซึ่งเกิดขึ้นจากการจับมือเป็นพันธมิตรกันระหว่าง หัวเว่ย กับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน มีชื่อว่า Arcfox αS HBT มีกำหนดเปิดตัวในงานแสดงรถยนต์ ออโต้ เซี่ยงไฮ้ (Auto Shanghai) เดือนเมษายนนี้ ทั้งนี้ งานนี้เริ่มต้นรอบสื่อมวลชนแล้วในวันจันทร์ (19 เม.ย.) นี้
“ผมก็ไม่ทราบว่าพวกเขากำลังคุยโตเกินจริงหรือเปล่านะ แต่ทีมของผมพูดกันว่า พวกเขาสามารถสร้างรถที่ขับเคลื่อนด้วยตัวมันเองโดยไม่มีการแทรกแซงของมนุษย์เลย ให้แล่นไปได้เป็นระยะทาง 1,000 กิโลเมตร นั่นแปลว่าทำได้ดีกว่า เทสลา แล้วนะ” สีว์ กล่าวเมื่อวันจันทร์ (12 เม.ย.)
สีว์ยังบอกด้วยว่า หัวเว่ยจะเพิ่มความพยายามในการพัฒนาระบบปฏิบัติการโทรศัพท์มือถือของบริษัทเองขึ้นมา หลังจากการแซงก์ชั่นของสหรัฐฯได้ตัดหัวเว่ยออกไม่สามารถใช้แอนดรอยด์ โอเอส ของกูเกิล ได้
อย่างไรก็ดี พวกนักวิเคราะห์ลงความเห็นกันว่า นี่ถือเป็นงานสุดหินทีเดียว เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิล และ iOS system ของแอปเปิล เวลานี้สามารถครอบงำทั่วโลกได้อย่างมั่นคงหนาแน่นขนาดไหน