xs
xsm
sm
md
lg

จีนตัดสินใจถูกต้องแล้ว ที่ไม่ยอมก้มหัวให้แก่ ‘ระเบียบโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง’ ซึ่งสหรัฐฯประกาศบังคับใช้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เคน โมค



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

China is right not to cave to US-imposed post-WW2 global order
by Ken Moak
09/04/2021

สหรัฐฯประสบความสำเร็จเรื่อยมาในการใช้มาตรการแซงก์ชั่นมาธำรงรักษาอำนาจควบคุมเหนือระบบการเงินของโลกเอาไว้ ทว่ากลับเจออุปสรรคหนักหน่วงในเวลานี้เมื่อพยายามนำมาใช้เล่นงานจีน

สหรัฐฯกล่าวหาจีนว่ากำลังคุกคามระบอบประชาธิปไตย ด้วยการไม่ยินยอมปฏิบัติตามระเบียบโลกที่สถาปนาขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ว่าแต่ว่าทำไมจีนควรต้องเคารพปฏิบัติตามล่ะ? ในเมื่อระบบที่พูดถึงกันอยู่นี้ มีจุดมุ่งหมายที่จะประคับประคองฐานะครอบงำโลกของอเมริกาเอาไว้ และกำราบปราบปรามการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจ, เทคโนโลยี, และการทหารของบรรดาประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ซึ่งก็รวมถึงของประเทศจีนด้วย

เป็นความจริง มีประเทศเอเชียบางราย เป็นต้นว่า ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, และชาติอื่นๆ อีกไม่กี่แห่ง ลงแรงใช้ความพยายามจนประสบความสำเร็จในการบรรลุถึงสถานะการเป็นเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว ทว่านั่นก็เนื่องจากพวกเขาต้องนำตนเองให้สยบนบนอบฐานะความเป็นเจ้าใหญ่นายโตของอเมริกา แต่ถ้ามีประเทศใดๆ เชื่อว่าพวกเขาอยู่ในฐานะที่สามารถท้าทายสหรัฐฯได้ พวกเขาก็จะต้องเผชิญความพิโรธโกรธกริ้วจากวอชิงตัน

ประเทศที่สามารถยกเป็นตัวอย่างสำหรับกรณีที่กล่าวมานี้ ได้แก่ญี่ปุ่น การผงาดขึ้นมาอย่างโดดเด่นของเศรษฐกิจแดนอาทิตย์อุทัยจากกองเถ้าถ่านแห่งสงครามโลกครั้งที่สอง ต้องตกเข้าสู่อาการชะงักงันไปอย่างมากมายทีเดียวในปี 1985 เมื่อสหรัฐฯบังคับให้ญี่ปุ่นต้องลงนามในข้อตกลง “พลาซ่า แอคคอร์ด” (Plaza Accord) ที่ส่งผลกระทบซึ่งที่สุดแล้วทำให้แดนอาทิตย์อุทัยตกลงสู่ภาวะเงินฝืดเป็นเวลาหลายทศวรรษ ขณะที่ชื่อเสียงสูงส่งทางด้านเทคโนโลยีและด้านอุตสาหกรรมการผลิตก็อ่อนแอลงไป คงจะต้องใช้เวลายาวนานทีเดียวกว่าที่ญี่ปุ่นจะสามารถกอบกู้ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและทางเทคโนโลยีในอดีตของตนกลับคืนมาได้ใหม่

ย้อนกลับไปที่เรื่องระเบียบโลกยุคหลังสงคราม ซึ่งสหรัฐฯคือผู้มีบทบาทมากที่สุดในการประกาศบังคับใช้ ในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่สองเกือบๆ จะยุติลง เรื่องที่มหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรนำโดยสหรัฐฯ จะเป็นผู้ชนะในสงครามความขัดแย้งกับมหาอำนาจฝ่ายอักษะที่ประกอบด้วยเยอรมนี, ญี่ปุ่น, และอิตาลี ถือเป็นข้อสรุปที่แน่นอนชัดเจนและใครๆ ต่างมองเลยข้ามไปแล้ว นั่นจึงเร่งรัดให้เหล่าชาติสัมพันธมิตรที่กำลังจะได้รับชัยชนะอยู่รอมร่อแล้วจัดการประชุมเบรตตันวูดส์ (Bretton Woods Conference) ขึ้นที่เมืองเบรตตันวูดส์ รัฐนิวแฮมป์เชียร์ สหรัฐอเมริกา ในปี 1944 เพื่อจัดวางระเบียบสำหรับทั่วโลกในยุคหลังสงคราม

สามารถมองเห็นกันได้ว่าโลกยุคหลังสงครามจะกลายเป็นโลกที่ครอบงำโดยสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นผู้เขียนระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ในประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ, แนวคิดอุดมการณ์ทางการเงิน, และปัญหาอื่นๆ

ผู้แทนของสหรัฐฯในที่ประชุมคราวนั้น ซึ่งได้แก่ แฮร์รี เด็กซ์เตอร์ ไวต์ (Harry Dexter White ดูประวัติของเขาเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Harry_Dexter_White) ได้ปฏิเสธข้อเสนอของสหราชอาณาจักรที่ให้ใช้ “บังคอร์” (bancor) [1] เป็นสกุลเงินตราโลกสำหรับการค้าระหว่างประเทศ และธุรกรรมทางการเงินอื่นๆ และนั่นในท้ายที่สุดได้นำไปสู่การที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯค่อยๆ กลายเป็นสกุลเงินสำรองของทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่ก็เพราะแรงกดดันของฝ่ายอเมริกัน

แน่นอนทีเดียว สหรัฐฯยังมีฐานะเป็นชาติเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดและชาติค้าขายรายใหญ่ที่สุดของโลกอีกด้วย สหรัฐฯยังสัญญาที่จะรับซื้อทองคำจำนวนเท่าใดก็ได้ที่มีผู้เสนอขายให้ในราคาตายตัว ซึ่งเรื่องนี้มีส่วนช่วยมากทีเดียว เนื่องจากอยู่ในยุคที่ทั่วโลกต่างยึดถือมาตรฐานทองคำ และเงินดอลลาร์สหรัฐฯถูกถือว่า “ดีพอๆ กับทองคำ”

สถานะการเป็นสกุลเงินตราของโลก เอื้ออำนวยให้สหรัฐฯมีอำนาจเกินเลยออกไปจากดินแดนของตนเอง หรือ อำนาจนอกอาณาเขต (extraterritorial power) กลายเป็นการเปิดทางให้สหรัฐฯสามารถแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นๆ ด้วยการประกาศมาตรการแซงก์ชั่น ที่ปฏิเสธไม่ให้พวกเขาเหล่านั้นเข้าถึงเงินดอลลาร์ เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯคือสื่อกลางระหว่างประเทศสำหรับการแลกเปลี่ยนและการชำระหนี้ ชาติซึ่งถูกแซงก์ชั่นจึงเผชิญภาวะเศรษฐกิจสะดุดชะงัก สร้างความทุกข์ยากเดือดร้อนแสนสาหัสแก่ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน อย่างที่พวกประเทศเฉกเช่น เวเนซุเอลา และ อิหร่าน สามารถพิสูจน์ยืนยันได้

สหรัฐฯนั้นไม่เคยรู้สึกละอายใจเลยในเรื่องการใช้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต และดำเนินการแซงก์ชั่นประเทศต่างๆ จำนวนมาก รวมทั้งพวกเจ้าหน้าที่ของจีนและบริษัทของจีน ด้วยข้อหาว่า “มีความประพฤติมิชอบ” หรือก็คือการไม่ยอมทำตามหลักเกณฑ์ที่สหรัฐฯกำหนดจัดวางออกมา

การแซงก์ชั่นเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายที่จะปฏิเสธไม่ให้รัฐบาลนั้นๆ หรือพวกเจ้าหน้าที่รายบุคคลสามารถเข้าถึงเงินดอลลาร์, อายัดทรัพย์สินต่างๆ ของพวกเขา และอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ด้วยจุดประสงค์ที่จะกระตุ้นยั่วยุให้เกิดความไม่พอใจขึ้นภายใน หรือกระทั่งเกิดการก่อกบฎแข็งข้อภายในประเทศนั้นๆ ขึ้นมา ทั้งนี้ การไม่สามารถทำธุรกิจหรือทำการค้ากับประเทศอื่นๆ อย่างคล่องตัว ย่อมทำให้การเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจต้องติดขัดชะงักงัน นำไปสู่ความยากจนและความทุกข์ยากลำบาก ดังนั้นจึงหวังกันว่าประชาชนจะลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลของพวกเขา หรือกระทั่งบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

ขณะที่มาตรการแซงก์ชั่นใช้ได้ผลเมื่อกระทำกับพวกชาติเล็กๆ แต่มันกลับก่อให้เกิดแรงสะท้อนกลับเมื่อนำมาใช้กับจีน แดนมังกรนั้นมีขนาดใหญ่เกินไป และสกุลเงินหยวนจีนก็กำลังได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ให้ใช้ชำระหนี้ในการทำธุรกรรมทางการค้าและการลงทุน จึงกำลังเป็นการลดทอนประสิทธิภาพแห่งมาตรการแซงก์ชั่นของสหรัฐฯ นอกจากนั้นแล้ว เศรษฐกิจสหรัฐฯกับเศรษฐกิจจีนยังมีการผูกติดพันพัวเข้าด้วยกันอย่างลึกซึ้ง

แท้ที่จริงแล้ว มาตรการแซงก์ชั่นที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ใช้เล่นงาน หัวเว่ย และกิจการเทคโนโลยีของจีนรายอื่นๆ ได้สร้างความเจ็บปวดให้แก่สหรัฐฯมากพอๆ กับที่เกิดขึ้นกับจีน ขณะที่การแซงก์ชั่นเหล่านี้ส่งผลชะลอความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีน มันก็ทำให้พวกบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯตกอยู่ในอาการปั่นป่วนทางการเงิน รวมทั้งทำให้พวกบริษัทอย่างเช่น แอปเปิล ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกสกัดกั้นไม่ให้เข้าสู่ตลาดจีนซึ่งมีขนาดใหญ่โตมหึมา และเป็นตัวสร้างรายได้ก้อนยักษ์ให้แก่บริษัทอเมริกันเหล่านี้

สหรัฐฯได้กระชับฐานะครอบงำเหนือทั่วโลกของตนให้แน่นหนายิ่งข้นอีก ด้วยการก่อตั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และ ธนาคารโลก (World Bank) ขึ้นมาที่เบรตตันวูดส์ และสหรัฐฯก็กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่สถาปนาขึ้นมาใหม่ๆ หมาดๆ ในตอนนั้นทั้งสองแห่งนี้ โดยครอบครองหุ้นและสิทธิการออกเสียงเอาไว้มากกว่า 16.5% ยิ่งมีระเบียบกฎเกณฑ์ด้วยว่าจะต้องใช้เสียงข้างมากถึง 85% จึงจะสามารถทำให้ข้อเสนอใดๆ ที่เสนอกันออกมากลายเป็นนโยบายที่นำไปปฏิบัติได้ด้วยแล้ว จึงส่งผลให้ในทางเป็นจริงแล้วสหรัฐฯสามารถบงการนโยบายทั้งด้านการปล่อยกู้และการดำเนินงานของสถาบันเหล่านี้

กรณีที่เป็นตัวอย่างในเรื่องนี้ ได้แก่อาร์เจนตินาซึ่งเศรษฐกิจทรุดตัวย่ำแย่ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 จากการที่เศรษฐกิจของประเทศใกล้พังครืน ได้บังคับให้อาร์เจนตินาหันมาหาไอเอ็มเอฟเพื่อขอความช่วยเหลือ และก็ได้รับเงินกู้จำนวน 7,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมเงื่อนไขที่รัฐบาลจะต้องดำเนินมาตรการเข้มงวดทางด้านการคลัง แต่ปรากฏว่าเงื่อนไขเหล่านี้มีแต่ทำให้อาการป่วยไข้ทางเศรษฐกิจของประเทศละตินอเมริกาแห่งนี้ยิ่งทรุดตัว และกำลังทำให้ภาวะติดหนี้สินรุงรังและภาระทางการเงินของอาร์เจนตินาหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยเหตุนี้ เงินกู้ที่ตั้งเงื่อนไขแบบ “ฉันทามติวอชิงตัน” (Washington Consensus) บังคับให้อาร์เจนตินาต้องปฏิบัติตาม จึงกลับกลายเป็น “กับดักหนี้สิน” แต่อาร์เจนตินาไม่ใช่ประเทศเดียวที่เผชิญสภาพเช่นนี้ แท้ที่จริง ชาติกำลังพัฒนาอื่นๆ ก็พบเห็นอยู่เป็นประจำว่าพวกเขามีพันธะผูกพันอันเข้มงวดที่จะต้องปฏิบัติตาม เพื่อให้ได้รับเงินกู้เพิ่มขึ้น เพียงเพื่อที่จะนำเงินกู้ก้อนใหม่ๆ นี้ไปใช้คืนเงินกู้ก้อนเก่าๆ ก่อนหน้าเท่านั้นเอง ดังนั้นจึงกลายเป็นการทำให้พวกเขาต้องติดหนี้ติดสินสหรัฐฯและประเทศตะวันตกอื่นๆ ไปตลอดกาล สืบเนื่องจากการที่ชาติเหล่านั้นสามารถควบคุมไอเอ็มเอฟและเวิลด์แบงก์เอาไว้

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯเองกลับหันมาพึ่งพาอาศัยวิธีกู้หนี้ยืมสินจนขาดดุลงบประมาณอยู่เป็นประจำ เพื่อพลิกฟื้นสภาพเศรษฐกิจดำดิ่งของตนเอง ภายหลังวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2008 สหรัฐฯหันไปใช้วิธีการที่เรียกว่า “การผ่อนคลายทางปริมาณ” (quantitative easing หรือ QE) อันเป็นกระบวนการที่ ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า เฟเดอรัล รีเสิร์ฟ (Federal Reserve นิยมเรียกกันย่อๆ ว่า เฟด) “พิมพ์ธนบัตร” ออกมา เพื่อรับซื้อตราสารหนี้และพันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐฯ

รายรับที่ระดมมาได้จากกระบวนการ QE ได้ถูกใช้ไปในการช่วยเหลือกอบกู้พยุงไม่ให้ธุรกิจต่างๆ และแบงก์แห่งต่างๆ ของอเมริกา ซึ่งได้รับการพิจารณาว่า “ใหญ่เกินกว่าที่จะปล่อยให้ล้ม” (too big to fail) ต้องล้มละลายไป พิจารณาจากแง่มุมนี้ก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่าสหรัฐฯไม่ได้ปฏิบัติยึดมั่นในสิ่งที่ตนเองเที่ยวเทศนาสั่งสอน และยิ่งเพิ่มน้ำหนักให้แก่เหตุผลข้อโต้แย้งที่ว่า สหรัฐฯได้จัดตั้ง “กับดักหนี้สิน” ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นวิธีการหนึ่งในการป้องกันไม่ให้พวกเศรษฐกิจกำลังพัฒนาทั้งหลาย สามารถพัฒนาก้าวหน้าไปได้

เรื่องสหรัฐฯกีดกันไม่ให้เศรษฐกิจกำลังพัฒนาทั้งหลาย สามารถพัฒนาก้าวหน้าต่อไปนั้น กรณีหนึ่งซึ่งเข้าข่ายนี้เช่นกัน ได้แก่การที่สหรัฐฯกำลังสั่งห้ามไม่ให้บริษัทเทคโนโลยีของตนจำหน่ายชิประดับก้าวหน้าให้แก่จีน โดยอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ อย่างไรก็ดี แรงจูงใจที่แท้จริงนั้นคือความประสงค์ที่จะชะลอ ถ้าหากไม่สามารถเข่นฆ่าความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีของจีนให้ด่าวดิ้นไปเสียเลย ทั้งนี้ไม่มีประเทศไหนเลยที่เคยร้องเรียนขึ้นมาว่าผลิตภัณฑ์ของจีนกำลังเป็นภัยคุกคามความมั่นคงแห่งชาติ จวบจนกระทั่ง ทรัมป์ ตัดสินใจหยิบยกเหตุผลนี้ขึ้นมาอ้าง ซึ่งก็อิงอาศัยอยู่แต่กับหลักฐานที่ไม่ได้รับการพิสูจน์หรือการคาดเดาเอาเท่านั้น

ทั้งหลายทั้งปวงตามที่กล่าวมา จีนจึงตัดสินใจถูกต้องแล้วที่ไม่เดินตามระเบียบโลกหลังสงครามซึ่งสหรัฐฯประกาศบังคับใช้ อันที่จริงแล้ว จีนสามารถที่จะโต้แย้งได้ด้วยซ้ำไปว่า การที่ประเทศคอมมิวนิสต์รายหนึ่งเฉกเช่นแดนมังกรนี้ สามารถที่จะก้าวขึ้นมากลายเป็นอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ได้ ก็เพราะจีนท้าทายกฎระเบียบและค่านิยมต่างๆ ที่สหรัฐฯจัดวางเอาไว้และอยู่ในสไตล์ของสหรัฐฯนั่นเอง ด้วยเหตุผลนี้เอง จีนจึงน่าที่จะยึดมั่นอย่างต่อเนื่องอยู่กับ “สังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะของจีน” (socialism with Chinese characteristics) ในฐานะที่เป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและแผนการก่อสร้างทางแนวความคิดอุดมการณ์ของตน

เคน โมค สอนวิชาทฤษฎีเศรษฐกิจ, นโยบายภาคสาธารณะ, และกระแสโลกาภิวัตน์ในระดับมหาวิทยาลัยมาเป็นเวลา 33 ปี เขายังเป็นผู้เขียนร่วมของหนังสือเรื่อง China's Economic Rise and Its Global Impact (Palgrave McMillan, 2015) สำหรับหนังสือเล่มที่ 2 ของเขาซึ่งใช้ชื่อว่า Developed Nations and the Impact of Globalization ได้รับการจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Palgrave McMillan Springer

หมายเหตุผู้แปล

[1] บังคอร์ (bancor) สกุลเงินเหนือรัฐ (supranational currency) สำหรับใช้กันทั่วโลก ซึ่ง จอห์น เมย์นาร์ด เคย์นส์ (John Maynard Keynes) และ อี. เอฟ. ชูมัคเคอร์ (E. F. Schumacher) เป็นผู้ขบคิดขึ้นมาในช่วงปี 1940-1942 และสหราชอาณาจักรได้หยิบยกขึ้นมาเสนอภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ตามข้อเสนอนี้ สกุลเงินตราเหนือรัฐซึ่งจะก่อตั้งกันขึ้นมาใหม่นี้ จะใช้กันในการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะเป็นหน่วยทางบัญชีภายในระบบชำระบัญชีพหุภาคี ที่จะใช้ชื่อว่า สหภาพชำระบัญชีระหว่างประเทศ (International Clearing Union) ซึ่งก็จะต้องมีการก่อตั้งกันขึ้นมาเช่นเดียวกัน

เคย์นส์สามารถทำให้ข้อเสนอนี้กลายเป็นข้อเสนออย่าเงป็นทางการของสหราชอาณาจักร ณ การประชุมเบรตตันวูดส์ (ชื่ออย่างเป็นทางการคือ การประชุมสหประชาชนว่าด้วยเงินตราและการเงิน United Nations Monetary and Financial Conference) ทว่าไม่ได้รับการยอมรับ

(ดูเพิ่มเติมได้ท่ https://en.wikipedia.org/wiki/Bancor)

กำลังโหลดความคิดเห็น