เอพี - ศาสตราจารย์ ม.ฮาร์วาร์ด ชื่อดัง เจ. มาร์ค แรมเซเยอร์ (J. Mark Ramseyer) ถูกนักศึกษาล่ารายชื่อให้ออกมาขอโทษ รวมนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์อีกกว่าพันกดดัน หลังตีพิมพ์ผลงานวิชาการอ้าง หญิงคลายอารมณ์เกาหลีช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แท้จริงเป็นหญิงโสเภณี สร้างความไม่พอใจไปทั่ว
เอพีรายงานเมื่อวานนี้ (8 มี.ค.) ว่า ผลงานวิชาการที่ถูกตีพิมพ์เมื่อไม่นานมานี้ของศาสตราจารย์ ม.ฮาร์วาร์ด ชื่อดัง เจ. มาร์ค แรมเซเยอร์ (J. Mark Ramseyer) ได้ออกมาโต้แย้งการศึกษาที่มีอย่างเป็นวงกว้างเกี่ยวกับ “หญิงคลายอารมณ์” ของกองทัพญี่ปุ่นช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งถูกบังคับให้ทำงานอยู่ในซ่องของกองทัพ โดยในงานวิจัยเขายืนยันว่า แท้จริงแล้วหญิงเหล่านี้ตกลงปลงใจยอมทำงานในฐานะหญิงโสเภณีเอง โดยเขาปฏิเสธเรื่องราวเกี่ยวกับหญิงคลายอารมณ์ที่ว่าถูกทหารญี่ปุ่นบังคับนั้นเป็นแค่เรื่องที่แต่งขึ้น และไม่มีเรื่องความรุนแรงหรือการบังคับจากทหารกองทัพญี่ปุ่นต่อหญิงเกาหลีเพื่อให้ทำงานในซ่องของกองทัพแม้แต่น้อย
เอพีชี้ว่า ฝ่ายค้านที่มีเป็นจำนวนมากได้ชี้ว่า จำนวนมากของเหยื่อเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อเมื่ออายุยังน้อยและพวกเธอเหล่านั้นไม่มีความสามารถที่จะแสดงการยินยอมต่อทางเพศได้ ถึงแม้หากว่ามีสัญญาว่าจ้างทางเพศตามเช่นที่แรมเซเยอร์กล่าวอ้างจริง
บทความของแรมเซเยอร์เพิ่มความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งได้กดดันให้โตเกียวต้องออกมาขอโทษและจ่ายค่าเยียวยาต่อเหยื่อเหล่านี้
เอพีรายงานว่า มีกลุ่มนักวิชาการหลายร้อยคนร่วมลงงานในจดหมายเปิดผนึกประณามงานวิจัยชิ้นนี้ของแรมเซเยอร์ และบทความหญิงคลายอารมณ์ของเขายังทำให้เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ร่วมใจในการออกมาตอบโต้ โดยอังคารที่ผ่านมา (2) สำนักข่าวทางการเกาหลีเหนือได้ออกมาประณามแรมเซเยอร์ว่า “เป็นพวกกอบโกย” และ “นักวิชาการจอมปลอม”
ทั้งนี้ แรมเซเยอร์เป็นศาสตราจารย์ด้านการศึกษากฎหมายญี่ปุ่นประจำคณะกฎหมายมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บทความวิชาการหญิงคลายอารมณ์ของเขามีชื่อว่า “Contracting for sex in the Pacific War” นั้น ถูกเผยแพร่ทางออนไลน์มาตั้งแต่ธันวาคมปีที่แล้ว และมีกำหนดที่จะถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการอินเตอร์เนชันแนล รีวิว ด้านกฎหมายและเศรษฐศาสตร์ ประจำเดือนมีนาคม แต่ทว่าการเผยแพร่ถูกสั่งระงับชั่วคราวโดยให้เหตุผลว่า อยู่ระหว่างการสอบสวน
ขณะเดียวกัน บรรดานักประวัติศาสตร์ได้ออกมาชี้ว่า ไม่มีหลักฐานปรากฏในบทความ โดยทั้งกลุ่มนักวิชาการประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสถาบันอื่นได้ต่างตรวจสอบแหล่งที่มาอ้างอิงบทความของแรมเซเยอร์ พร้อมกับยืนยันว่า ไม่พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ “สัญญาที่เขาออกมาอ้าง”
อเล็กซิส ดัดเดน (Alexis Dudden) นักประวัติศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยคอนเนกติกัตด้านญี่ปุ่นและเกาหลีใต้สมัยใหม่ออกมาโต้บทความอื้อฉาวของแรมเซเยอร์ โดยเรียกว่า “เป็นบทความจอมปลอม” และไม่มีคุณค่ามาตรฐานทางวิชาการ
นอกจากนี้ ยังมีนักเศรษฐศาสตร์กว่า 1,000 คน ลงนามในจดหมายเปิดผนึกเพื่อประณามผลงานของแรมเซเยอร์ โดยชี้ว่าเขาบิดเบือนทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ รวมไปถึงยังมีนักศึกษาประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเองอีกหลายร้อยคนลงชื่อเรียกร้องให้แรมเซเยอร์ออกมาขอโทษ
เอพีชี้ว่า ที่เกาหลีใต้ประเด็นหญิงคลายอารมณ์นั้น ถือเป็นประเด็นสำคัญ พบว่า มีนักเคลื่อนไหวออกมาประณามแรมเซเยอร์พร้อมเรียกร้องให้เขาลาออกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด รวมไปถึงรัฐมนตรีกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัวเกาหลีใต้แถลงกล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยต่อบทความวิชาการชิ้นนี้
ด้าน ลี ยอง-ซู (Lee Yong-soo) อดีตเหยื่อหญิงคลายอารมณ์ วัย 92 ปี กล่าวแสดงความเห็นต่อคำอ้างของแรมเซเยอร์ ว่า “ช่างน่าขบขัน” และเรียกร้องให้เขาออกมาขอโทษในสิ่งนี้