มูลนิธิ เฮอริเทจ ฟาวเดชัน (Heritage Foundation) สถาบันวิจัยฝ่ายอนุรักษนิยมของสหรัฐฯ เผยแพร่ดัชนีวัดเสรีภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Freedom Index) ประจำปี 2021 ซึ่งไม่มีรายชื่อ “ฮ่องกง” รวมอยู่ด้วย โดยอ้างว่าสาเหตุที่ไม่นำมาพิจารณาก็เนื่องจากฮ่องกงตกอยู่ภายใต้การควบคุมของ “จีน” ไปแล้ว
คำประกาศดังกล่าวยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของมหานครการเงินแห่งนี้ย่ำแย่ลงไปอีก ในขณะที่จีนเองก็ยกระดับปราบปรามฝ่ายต่อต้านที่เคยออกมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่ฮ่องกงเมื่อช่วงปี 2019
ดัชนี Economic Freedom Index มุ่งวัดระดับเสรีภาพทางเศรษฐกิจและปัจจัยเกื้อหนุนการทำธุรกิจในแต่ละประเทศและดินแดนทั่วโลก ซึ่งฮ่องกงรั้งแชมป์เบอร์ 1 เกือบตลอด 26 ปีที่ผ่านมา (พลาดไปเพียงปีเดียว) และถือเป็นข้อมูลที่ฝ่ายบริหารฮ่องกงเองก็ภาคภูมิใจและนำไปอ้างอิงอยู่เสมอ
อย่างไรก็ตาม ชื่อของฮ่องกงได้ถูกลบหายไปจากดัชนีประจำปี 2021 ซึ่งเผยแพร่ในวันนี้ (4 มี.ค.) โดยคณะผู้จัดทำให้เหตุผลว่า ฮ่องกง “ไม่ได้เป็นอิสระจากจีน” มากพอที่จะถูกพิจารณาแยกต่างหากได้
“การสูญเสียเสรีภาพทางการเมืองและอำนาจปกครองตนเองขั้นสูงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ฮ่องกงแทบจะไม่แตกต่างอะไรเลยกับเมืองศูนย์กลางการค้าอื่นๆ ของจีนอย่างเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง” เอ็ดวิน เจ. เฟิลเนอร์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเฮอริเทจฟาวเดชัน เขียนลงในวอลล์สตรีทเจอร์นัลเมื่อวันพุธ (3)
“ความสัมพันธ์ระหว่างฮ่องกงกับจีนถูกทำให้เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ประเพณีการใช้กฎหมายคอมมอนลอว์แบบอังกฤษ, เสรีภาพในการแสดงออก และระบอบประชาธิปไตย กลับอ่อนแอลงไปมาก”
ตอนที่ฮ่องกงรั้งแชมป์ Economic Freedom Index ครบ 25 ปีซ้อนเมื่อปี 2019 รัฐบาลฮ่องกงระบุว่าความสำเร็จนี้เกิดมาจาก “ความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ, กระบวนการยุติธรรมที่มีคุณภาพสูง, การไม่อดทนต่อปัญหาทุจริตคอรัปชัน, ความโปร่งใสของรัฐบาล, กฎระเบียบที่มีประสิทธิภาพ และความเปิดกว้างของระบบการค้าโลก”
ฮ่องกงมาเสียแชมป์ครั้งแรกให้กับ “สิงคโปร์” เมื่อปีที่แล้ว หลังจากที่รัฐบาลจีนเริ่มนำกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่มาบังคับใช้ ทว่าตอนนั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ของฮ่องกงยังปฏิเสธความกังวล และทำนายว่ามหานครแห่งนี้จะกลับมาทวงบัลลังก์คืนได้ในอีกไม่ช้า
ตรงกันข้าม... เวลานี้ทั้งฮ่องกงและมาเก๊าได้ถูกนับรวมว่าเป็น “จีน” ซึ่งติดโผลำดับที่ 107 ของโลกจากทั้งหมด 178 ประเทศ ร่วมชั้นกับยูกันดาและอัฟกานิสถาน
ในดัชนีปีล่าสุด สิงคโปร์ยังคงรั้งแชมป์อันดับ 1 ตามมาด้วยนิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย, สวิตเซอร์แลนด์ และไอร์แลนด์ ซึ่ง 5 อันดับแรกนี้จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจ “เสรี” (คะแนนระหว่าง 100-80)
สำหรับประเทศไทยมีคะแนน 67.9 เทียบเท่าโปแลนด์ และอยู่ในลำดับที่ 42 ของโลก จัดเป็นกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจเสรีปานกลาง (คะแนนระหว่าง 69.9-60)
(ที่มา : เอเอฟพี, The Heritage Foundation)