xs
xsm
sm
md
lg

In Pics & Clips : ‘นาซา’ เผยคลิปวินาทียาน ‘เพอร์เซเวียแรนซ์’ ลงจอดดาวอังคารพร้อม ‘เสียง’ แรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) เผยแพร่คลิปวิดีโอการลงจอดบนดาวอังคารของยานสำรวจเพอร์เซเวียแรนซ์ (Perseverance) ซึ่งถูกส่งไปกระทำภารกิจค้นหาร่องรอยสิ่งมีชีวิตในอดีตบนดาวเคราะห์สีแดง รวมถึงคลิปเสียง “ลม” ที่พัดอยู่บนพื้นผิวของดาวเคราะห์ดวงนี้

วิศวกรนาซาได้เปิดเผยคลิปเสียงซึ่งถูกบันทึกหลังจากที่ยานเพอร์เซเวียแรนซ์ลงแตะพื้นผิวดาวอังคารแล้ว

“สิ่งที่คุณได้ยินเป็นเวลา 10 วินาที คือเสียงลมบนพื้นผิวดาวอังคารที่ถูกบันทึกด้วยไมโครโฟน และถูกส่งกลับมายังพวกเราที่อยู่บนโลก” เดฟ กรูเอล หัวหน้าทีมวิศวกรผู้ดูแลระบบกล้องและไมโครโฟนบนยานเพอร์เซเวียแรนซ์ ระบุ

คลิปวิดีโอความยาว 3 นาที 25 วินาที เผยให้เห็นขณะที่ร่มชูชีพสีแดง-ขาวขนาดใหญ่ถูกใช้เพื่อชะลอความเร็ว จากนั้นแผ่นป้องกันความร้อน (heat shield) ที่ปกป้องตัวยานขณะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวอังคารได้หลุดออก และยานสำรวจได้ร่อนลงจอดอย่างนุ่มนวลบริเวณหลุ่มอุกกาบาตเยเซโร (Jezero Crater) ซึ่งอยู่ทางเหนือของเส้นศูนย์สูตรบนดาวอังคาร

“นี่เป็นครั้งแรกที่เราสามารถบันทึกภาพเหตุการณ์การลงจอดบนดาวอังคารได้” ไมเคิล วัตกินส์ ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น (Jet Propulsion Laboratory) ของนาซาซึ่งทำหน้าที่ควบคุมภารกิจนี้ ระบุ

เจสสิกา แซมูเอลส์ ผู้จัดการภารกิจยานเพอร์เซเวียแรนซ์บนดาวอังคาร ยืนยันว่ายานสำรวจลำนี้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ และวิศวกรกำลังตรวจสอบระบบและเครื่องมือต่างๆ บนตัวยาน รวมถึงเตรียมส่งเฮลิคอปเตอร์โดรนขนาดจิ๋ว “อินเจนูอิตี (Ingenuity)” ขึ้นบินสำรวจบนดาวอังคารซึ่งมีบรรยากาศเบาบางเพียง 1% ของโลก






เพอร์เซเวียแรนซ์ซึ่งออกเดินทางจากโลกเมื่อวันที่ 30 ก.ค.ปีที่แล้ว และฟันฝ่าระยะทางถึง 470 ล้านกิโลเมตร จนกระทั่งไปถึงพื้นผิวดาวอังคารเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (18) จะทำภารกิจหลักในการสำรวจหาร่องรอยสิ่งมีชีวิตเป็นเวลา 2 ปีเศษ แต่คาดว่าจะยังคงใช้การต่อไปได้อีกนานหลังจากนั้น เช่นเดียวกับยานคิวริออซิตี (Curiosity) ซึ่งยังสามารถทำงานอยู่ได้แม้จะผ่านมาแล้ว 8 ปีตาม

ยานสำรวจซึ่งมีขนาดพอๆ กับรถ SUV และน้ำหนักราว 1 ตันนี้ถูกติดตั้งแขนหุ่นยนต์ยาว 7 ฟุต, กล้อง 19 ตัว, ไมโครโฟน 2 ตัว รวมถึงอุปกรณ์ล้ำสมัยอีกหลายอย่างที่จะช่วยให้มันสามารถทำภารกิจเก็บตัวอย่างหินและดิน 30 ตัวอย่างใส่ท่อปิดผนึกเพื่อส่งกลับมาวิเคราะห์ยังโลกในราวๆ ปี 2030

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ดาวอังคารเคยมีอุณหภูมิพื้นผิวที่อุ่นและมีความชื้นสูงกว่าในปัจจุบัน และในขณะที่ภารกิจสำรวจครั้งก่อนๆ มุ่งประเมินศักยภาพในการอาศัยอยู่บนดาวอังคาร แต่ภารกิจของเพอร์เซเวียแรนซ์คือการไขปริศนาว่าดาวดวงนี้เคยมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่จริงๆ หรือไม่ในอดีต

(ที่มา : เอเอฟพี)








กำลังโหลดความคิดเห็น