ญี่ปุ่นเริ่มโครงการวัคซีนโควิด-19 แล้วในวันพุธ (17 ก.พ.) ด้วยการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ แก่บรรดาเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลโตเกียว ในขณะที่ นายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูงะ พยายามพลิกสถานการณ์การแพร่ระบาด ก่อนเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกในฤดูร้อนนี้
สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นออกอากาศภาพบรรดาเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลกำลังเข้ารับการฉีดวัคซีน โดยพวกเขาเป็นหนึ่งในบรรดาบุคลากรด้านการแพทย์ 40,000 คน ที่เป็นเป้าหมายได้รับวัคซีนโควิด-19 เป็นกลุ่มแรกๆ
การฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ประชากร 126 ล้านคน ของญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว กลายเป็นเป้าหมายสำคัญสูงสุดของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี ซูงะ เนื่องจากศึกโอลิมปิกเกมส์ ที่กรุงโตเกียวเป็นเจ้าภาพ จะมีกำหนดเริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม หลังเลื่อนมาจากปีที่แล้ว
กระนั้นกว่าที่โครงการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนจะแล้วเสร็จโดยสมบูรณ์ คาดหมายว่า คงจะใช้เวลานานนับปี โดยในระยะแรกๆ นั้นจะเป็นการฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ราว 3.7 ล้านคน และคนสูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไป 36 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นอาจประสบปัญหาติดขัดบางประการ ด้วยมีความกังวลว่าอาจเสียเปล่าวัคซีนของไฟเซอร์จำนวนหลายล้านโดส เนื่องจากขาดแคลนเข็มฉีดยาที่จำเป็นสำหรับแบ่งวัคซีนบรรจุขวดออกเป็นแต่ละโดส
เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม มีรายงานว่า ไฟเซอร์ พิจารณาปรับเปลี่ยน ปริมาตรการใช้วัคซีนบรรจุขวด จากเดิมที่ให้ฉีดได้ขวดละ 5 โดส เป็น 6 โดส และจำเป็นต้องเปลี่ยนเข็มฉีดยาใหม่ให้สอดคล้องกันด้วย
ก่อนหน้านี้ วัคซีนที่ไฟเซอร์พัฒนาร่วมกับไบโอเอ็นเท็ค ถูกระบุอย่างเป็นทางการว่า ฉีดได้ 5 โดส/ขวด โดยเมื่อถูกทำให้ละลายแล้ว แต่ละขวดจะถูกเจือจางด้วยน้ำเกลือปริมาตร 1.8 มิลลิลิตร ทำให้วัคซีนหลังผสมมีปริมาตร 2.25 มิลลิลิตร และแบ่งฉีดโดส ละ 0.3 มิลลิตร ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วสามารถฉีดได้เกิน 7 โดสด้วยซ้ำ
แต่ทฤษฎีกับการปฏิบัตินั้นแตกต่างกันเพราะบุคลากรการแพทย์ไม่สามารถคำนวณปริมาตรยาได้อย่างแม่นยำในการทำให้ครบ 7 โดส เพื่อฉีดให้ครบพอดีคน กระนั้นหากมีอุปกรณ์ที่เหมาะสม พวกเขาสามารถฉีดได้ใน 6 ครั้ง ด้วยปริมาณที่น่าเชื่อถือ
ญี่ปุ่นลงนามในสัญญาต่างๆ สำหรับสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 รวมแล้วกว่า 314 ล้านโดส จากไฟเซอร์, แอสตราเซเนกา และโมเดอร์นา ซึ่งเพียงพอสำหรับประชากร 157 ล้านคน ในขณะที่จนถึงตอนนี้ ญี่ปุ่นพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ราวๆ 451,000 คน ในนั้นเสียชีวิต 7,013 ราย
แม้เคสผู้ติดเชื้อรายวันลดลงในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังพุ่งแตะระดับสูงสุดในช่วงต้นเดือนมกราคม แต่โตเกียวและจังหวัดอื่นๆ 9 แห่ง ยังคงอยู่ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อป้องกันการปะทุรอบใหม่ของโรคระบาดใหญ่
(ที่มา: รอยเตอร์/เอเจนซี)