เอเจนซีส์/รอยเตอร์ - เยนส์ ชพาห์น (Jens Spahn) รัฐมนตรีสาธารณสุขเยอรมัน กำลังอยู่ในระหว่างพิจารณาที่จะใช้วัคซีนโควิด-19 ของจีนและรัสเซีย หากว่า EU อนุมัติเพื่อแก้ปัญหาวัคซีนโควิด-19 เพียงพอในประเทศ นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ลั่นชาวเมืองเบียร์ทุกคนต้องได้ฉีดภายในสิ้นฤดูร้อนนี้
หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ รายงานเมื่อวานนี้ (1 ก.พ.) ว่า ในการแถลงของเยนส์ ชพาห์น (Jens Spahn) รัฐมนตรีสาธารณสุขเยอรมัน ก่อนหน้าการประชุมซัมมิตฉุกเฉินวัคซีนโควิด-19 ร่วมกับบริษัทยาผู้ผลิตเพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าในการแจกวัคซีนให้ประชาชน
การประชุมที่มีนายกรัฐมนตรีหญิง อังเกลา แมร์เคิล ที่จะนั่งเป็นประธานตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากสาธารณะเรียกร้องให้การแจกจ่ายวัคซีนให้เร็วมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา มีประชาชนเยอรมันแค่ 2 ล้านคน ได้รับวัคซีน เปรียบเทียบกับอังกฤษที่สามารถให้วัคซีนกับประชาชนไปแล้วกว่า 10 ล้านคน แต่ทว่าเยอรมันได้แจกวัคซีนโควิด-19 สำหรับโดสที่ 2 ให้กับประชาชนของตัวเองมากกว่า
ชพาห์นชี้ว่า หากว่าวัคซีนได้รับการพิจารณาแล้วว่ามีความปลอดภัยและได้ผล ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญว่าเป็นชาติใดที่ผลิตวัคซีนเหล่านี้ขึ้นมา หากว่ามันได้ผล
รัฐมนตรีสาธารณสุขเยอรมันชี้ว่า เขารู้สึกเจ็บปวดที่ต้องเห็นความล่าช้าในการแจกจ่าย ซึ่งบรรดาผู้แสดงความเห็นต่างออกมาชี้ว่า ความกระตือรือร้นของรัฐบาลเยอรมันต่อการแก้ปัญหาเกิดขึ้นไม่กี่วันหลัง EU มีปัญหาความขัดแย้งกับอังกฤษในประเด็นวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท แอสตราเซเนกา เกี่ยวข้องกับจำนวนวัคซีนที่ทาง EU จะได้รับและการมีส่วนร่วมลงทุนในการคิดค้น
ชพาห์นเชื่อว่า ในเวลานี้ 70% ของผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราเยอรมันได้รับภูมิคุ้มกันโควิด-19 ซึ่งเกิดขึ้น 1 ปี หลังการระบาดอย่างหนักในยุโรป เขากล่าวว่า “ซึ่งผมคิดว่าพวกเราค่อนข้างโชคดี”
ปัญหาโครงการแจกวัคซีนในเยอรมันเกิดขึ้น เนื่องมาจากมีจำนวนโดสไม่เพียงพอทำให้ในหลายภูมิภาคต้องประกาศยกเลิกโครงการฉีดวัคซีนไป ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายของเยอรมันต่างกล่าวโทษไปถึงสัญญาซื้อขายระหว่างบริษัท แอสตราเซเนกาและคณะกรรมาธิการยุโรปว่าข้อตกลงนั้นเลื่อนลอยและไม่สมบูรณ์โดยที่ไม่ได้ระบุอย่างเจาะจงถึงสิ่งที่จะต้องถูกส่งและจะต้องเกิดขึ้นเมื่อใด
รอยเตอร์รายงานว่า แมร์เคิลได้ออกมาให้คำมั่นสัญญาในวันอังคาร (2) ว่า เธอจะต้องทำให้ประชาชนเยอรมันทุกคนได้รับวัคซีนโควิด-19 ให้ได้ภายในสิ้นฤดูร้อนที่จะถึง
ซึ่งถึงแม้ว่าสำนักงานด้านการกำกับยาแห่งสหภาพยุโรป EMA จะอนุมัติการใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ทว่า ผู้กำกับยาเยอรมันยังคงยืนยันที่จะไม่ให้มีการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาในกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 65 ปีขึ้นไปเนื่องมาจากขาดการทดลองในคนกลุ่มนี้
สอดคล้องกับโปแลนด์ที่ออกมาประกาศในวันอังคาร (2) โปแลนด์จะแจกวัคซีนแอสตราเซเนกาให้กับประชาชนอายุระหว่าง 18-60 ปีเท่านั้น
เยอรมันรายงานตัวเลขโควิด-19 วันนี้ (2) ว่า เยอรมันมีเคสใหม่เพิ่ม 6,114 คน และเสียชีวิตเพิ่ม 861 คน
และในวันเดียวกันนี้ (2) สหภาพยุโรปได้ประกาศใช้มาตรการเข้มงวดต่อการเดินทางเข้ามาภายในดินแดนประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปของกลุ่มนักท่องเที่ยวนอกสังกัดอียู โดยชาวต่างชาติที่จะได้รับอนุญาตต้องมาจากประเทศที่มีเคสป่วยโรคโควิด-19 น้อยมากหรือแทบไม่มีการระบาดของสายพันธุ์ต่างๆ
รอยเตอร์ชี้ว่า เอกอัครราชทูตชาติ EU ต่างเห็นชอบต่อมาตรการบังคับใช้ใหม่ในที่ประชุมบรัสเซลส์ ซึ่งชาวต่างชาตินอกสหภาพยุโรปนั้นรวมไปถึง อังกฤษ และสหรัฐฯ
โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะได้รับอนุญาตเข้าสหภาพยุโรปต้องเดินทางมาจากประเทศที่ไม่มีเคสป่วยโควิด-19 มากกว่า 25 เคส/ประชากร 100,000 คน ภายใน 14 วัน ของการเดินทาง ซึ่งเป็นอัตราการติดเชื้อที่ต่ำกว่าทุกประเทศในสหภาพยุโรป รอยเตอร์ชี้
ซึ่งมีบางชาติเป็นต้นว่า เยอรมัน ได้ออกมาตรการที่เข้มงวดมากกว่านั้น ขณะที่เบลเยียมสั่งห้ามการเดินทางที่ไม่จำเป็นเข้าและออกนอกประเทศไปจนถึงมีนาคม
และวันพฤหัสบดี (28 ม.ค.) ทางEU ได้ตัด “ญี่ปุ่น” ออกจากกลุ่มประเทศที่สามารถเดินทางเข้ายุโรปโดยปราศจากข้อจำกัดทางโควิด-19
และในเวลานี้ทำให้มีแค่ 7 ประเทศเท่านั้น ที่ได้รับอนุญาตเดินทางเข้าสหภาพยุโรป ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน นิวซีแลนด์ รวันดา สิงคโปร์ เกาหลีใต้ รวมไทยอยู่ในนั้น
ซึ่งภายใต้การเดินทางเข้ายุโรปแบบที่ไม่สำคัญ (non-essential travel) ชาติสมาชิกยุโรปได้รับการร้องขอให้อนุญาตเข้าสู่ประเทศโดยปราศจากการจำกัด เป็นต้นว่า คำสั่งการกักตัวภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวด