xs
xsm
sm
md
lg

สงครามวัคซีนต้านโควิด ไม่มีคำว่า มนุษยธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: นพ นรนารถ



สงครามความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ล้วนมีต้นเหตุมาจากการแย่งชิงทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน แรงงาน ทรัพยากรธรรมชาติ กรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครองทรัพย์สิน

ในยามวิกฤตเข้าตาจน มนุษย์พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอด สัญชาติดิบที่ถูกปกปิดไว้ภายใต้ค่านิยม บรรทัดฐานของสังคมที่แสดงออกด้วยคำพูดที่สวยหรู จะเผยตัวออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน

ความขัดแย้งระหว่างอียูกับอังกฤษในเรื่อง วัคซีนต้านโควิด-19 ก็เช่นกัน

วันศุกร์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการอียู ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป ประกาศควบคุมการส่งออกวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ผลิตจากโรงงานในประเทศสมาชิกอียู ซึ่งหมายถึงโรงงานผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกาที่เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ โดยเฉพาะวัคซีนที่จะส่งไปยังอังกฤษ สหรัฐฯ และแคนาดา โดยยกเว้นให้กับวัคซีนที่ส่งไปให้กับประเทศกำลังพัฒนา

ในวันเดียวกันนั้น คณะกรรมาธิการอียูยังประกาศให้มีการตรวจสอบวัคซีนที่ขนส่งผ่านไอร์แลนด์เข้าไปในไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งถือเป็นการละเมิดข้อตกลงเบรกซิต ที่ยกเว้นการตรวจสอบสินค้าผ่านแดนระหว่างไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสมาชิกอียูกับไอร์แลนด์เหนือ ที่เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรที่ออกจากอียูไปแล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงการตั้งด่านระหว่างพรมแดนของสองประเทศ

ภายหลังจากถูกตำหนิอย่างรุนแรงจากอังกฤษ และไอร์แลนด์เหนือ คณะกรรมาธิการอียูซึ่งมีนางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน สตรีชาวเยอรมันเป็นประธาน ก็กลับลำยกเลิกคำสั่งตรวจสอบการเคลื่อนย้ายวัคซีนจากไอร์แลนด์เข้าไอร์แลนด์เหนือ แต่ยังคงคำสั่งควบคุมการส่งออกวัคซีน โดยให้รัฐบาลประเทศที่โรงงานวัคซีนตั้งอยู่มีอำนาจตัดสินใจ

องค์การอนามัยโลกวิจารณ์ว่า การควบคุมการส่งออกวัคซีนของอียู จะทำให้การระบาดยืดเยื้อยาวนานออกไป

ในขณะเดียวกัน อียูก็ถูกตั้งคำถามถึงจุดยืนในเรื่องการค้าเสรี การไหลเวียนของสินค้า บริการ โดยปราศจากอุปสรรคกีดกัน และหลักการเรื่องมนุษยธรรมที่ตัวเองป่าวประกาศมาโดยตลอด

การประกาศควบคุมการส่งออกวัคซีนจากโรงงานผลิตในอียู มีเป้าหมายเพื่อสกัดการส่งออกวัคซีนของแอสตราเซเนกาไปที่อังกฤษ ภายหลังจากอียูได้รับแจ้งจากแอสตราเซเนกาว่า ไม่สามารถส่งวัคซีน 100 ล้านโดส ให้ภายในเดือนมีนาคม ตามที่รับปากไว้ได้เพราะโรงงานที่เบลเยียมมีปัญหาการผลิต โดยจะส่งให้ได้เพียง 1 ใน 3 ของปริมาณที่อียูสั่งจอง

เรื่องนี้ทำให้อียูหาว่า แอสตราเซเนกาผิดสัญญา และขอให้แอสตราเซเนกาสั่งวัคซีนจากโรงงานผลิตในอังกฤษมาทดแทนส่วนที่ขาดไป แต่แอสตราเซเนกาปฏิเสธ โดยอ้างว่า วัคซีนที่ผลิตจากโรงงานในอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษจองไว้หมดแล้ว ในสัญญาซื้อวัคซีนของอียู ระบุว่า สามารถใช้วัคซีนจากโรงงานในอังกฤษได้ แต่ต้องให้อังกฤษมีวัคซีนใช้อย่างเพียงพอก่อน จึงเป็นที่มาของการออกประกาศควบคุมการส่งอออกวัคซีนแอสตราเซเนกา

อียูรวมศูนย์การสั่งจองวัคซีนจากผู้ผลิตรายต่างๆ ให้คณะกรรมาธิการอียู รับผิดชอบการสั่งจอง เพื่อจะได้มีข้อต่อรองเรื่องราคา และปริมาณ อีกทั้งป้องกันไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในหมู่สมาชิก 27 ประเทศ ที่มีทั้งชาติที่ร่ำรวยและยากจน ส่วนอังกฤษ แยกตัวจากอียูตั้งแต่ปีที่แล้ว สั่งจองวัคซีนได้เองกับผู้ผลิต

อังกฤษสั่งซื้อวัคซีนของแอสตราเซเนกา 100 ล้านโดสในเดือนพฤษภาคม อียูช้ากว่าถึง 3 เดือน โดยสั่งจอง 300 ล้านโดสในเดือนสิงหาคม แอสตราเซเนกาบอกว่า การที่อียูสั่งซื้อช้ากว่าอังกฤษ 3 เดือน ทำให้มีเวลาน้อยในการแก้ไขปัญหาการผลิตที่เกิดขึ้นในโรงงานที่เบลเยียม ในขณะที่โรงงานที่อังกฤษเริ่มการผลิตไปก่อนแล้ว จึงมีเวลาปรับปรุงแก้ไขกระบวนการผลิต

นอกจากนั้น อียูเคยรับปากว่า จะให้เงิน 300 ล้านเหรียญสนับสนุนการลงทุนปรับปรุงกระบวนการผลิตของโรงงานที่เบลเยียม แต่แอสตราเซเนกายังไม่ได้รับเงินก้อนนั้นเลย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาการผลิต

วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เป็นเรื่องใหม่ ที่ยังไม่เคยมีใครผลิตมาก่อน โดยเฉพาะวัคซีนแอสตราเซเนกา และวัคซีนไฟเซอร์ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่ การทดลองวัคซีนโดยทั่วไปต้องใช้เวลาหลายปีจึงจะได้ผลที่สมบูรณ์ แค่สถานการณ์การระบาดที่รุนแรงไม่สามารถรอได้ ต้องรีบฉีดให้ประชาชนโดยเร่งด่วน กระบวนการผลิตก็ยังไม่ ร้อยเปอร์เซ็นต์ต้องแก้ไขตามสถานการณ์ รวมทั้งประสิทธิภาพของวัคซีนที่ยังไม่มีใครรู้

อียูเพิ่งจะรับรองวัคซีนแอสตราเซเนกา เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมานี้เอง ในวันเดียวกันนั้น ทางการเยอรมนีกลับเผยแพร่คำเตือนว่า ไม่ควรฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาให้กับคนที่มีอายุเกิน 55 ปี เพราะไม่มีข้อมูลผลการทดลองกับคนกลุ่มนี้

ตอนนี้ อังกฤษมีอัตราการฉีดวัคซีนมากที่สุด คือ ในประชากร 100 คน มีผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 11.9 คน รองลงมาคือ สหรัฐฯ 7.4 คนต่อประชากร 100 คน อียูเป็นอันดับ 3 อัตรา 2.4 คนต่อประชากร 100 คน คิดเป็นจำนวนประมาณ 10.5 ล้านคนเท่านั้น จากจำนวนประชากรอียู 27 ประเทศ 448 ล้านคน

ความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนของคณะกรรมาธิการยุโรป ถูกโยนให้เป็นความผิดของผู้ผลิตวัคซีนอย่างแอสตราเซเนกา การสั่งควบคุมการส่งออกวัคซีนจากโรงงานผลิตในอียู เป็นการเอาตัวรอดให้พ้นจากความรับผิดชอบของคณะผู้บริหารอียู โดยลืมไปแล้วว่า ตัวเองเคยโจมตีการกีดกัน ปกป้องการค้า และการเชิดชูหลักการว่าด้วยมนุษยธรรมไว้อย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น