“อองซานซูจี” ผู้นำโดยพฤตินัยของพม่า และบุคคลระดับสูงอื่นๆ จากพรรครัฐบาล ถูกควบคุมตัวในปฏิบัติการจู่โจมช่วงเช้ามืด จากการเปิดเผยของโฆษกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยในวันจันทร์ (1 ก.พ.)
ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลพลเรือน และกองทัพผู้ทรงอิทธิพลลุกลามบานปลายมาหลายวัน ซึ่งโหมกระพือความกังวลเกี่ยวกับการรัฐประหาร ตามหลังศึกเลือกตั้งที่ทางกองทัพกล่าวหารัฐบาลพลเรือนว่าโกงเลือกตั้ง หลังจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) คว้าชัยชนะเหนือพรรคการเมืองฝักใฝ่ทหารอย่างถล่มทลายในเดือนพฤศจิกายน
เมียว ยุ้น (Myo Nyunt) โฆษกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยกับรอยเตอร์ทางโทรศัพท์ บอกว่า นางซูจี, ประธานาธิบดีวิน มิ้น และผู้นำคนอื่นๆ ถูกพาตัวไปในตอนเช้า
“ผมได้ยินข่าวว่าท่านประธานาธิบดี และที่ปรึกษาแห่งรัฐ ถูกคุุมตัวในเนปิดอว์ ผมได้ยินว่าพวกเขาถูกกองทัพพาตัวไป” โฆษกระบุ “ด้วยสถานการณ์ที่เรากำลังมองเห็นในตอนนี้นั้น เราจำเป็นต้องสันนิษฐานว่ากองทัพกำลังก่อการรัฐประหาร”
“ผมอยากบอกกับคนของเราว่าอย่าตอบโต้ผลีผลาม และผมอยากบอกพวกเขาให้ปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย” เขากล่าว พร้อมคาดหมายว่าตัวเขาเองจะถูกควบคุมตัวเช่นกัน ทั้งนี้ต่อมาสำนักข่าวรอยเตอร์พยายามติดต่อกับ เมียว ยุ้น แต่ไม่สามารถติดต่อได้
รอยเตอร์พยายามสอบถามไปยังกองทัพ แต่ทางโฆษกของกองทัพปฏิเสธแสดงความคิดเห็นใดๆ
สายโทรศัพท์ต่อไปยังกรุงเนปิดอว์ ไม่สามารถใช้งานได้ในตอนเช้าตรู่ของวันจันทร์ (1 ก.พ.) ขณะที่ MRTV สถานีโทรทัศน์แห่งรัฐเขียนบนเฟซบุ๊ก บอกว่าไม่สามารถออกอากาศได้ สืบเนื่องจากปัญหาขัดข้องทางเทคนิค
ข่าวลือเกี่ยวกับรัฐประหารนี้ มีขึ้นในขณะที่รัฐสภาพม่ากำหนดเปิดประชุมกันที่เมืองเนปิดอว์วันจันทร์ (1 ก.พ.) หลังจากพรรคเอ็นแอลดีคว้าชัยชนะอย่างถล่มทลายในศึกเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน
สมาชิกพรรคแอลดีพีอีกคนซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนามเนื่องจากกลัวถูกแก้แค้น บอกว่าบุคลอีกรายที่ถูกควบคุมตัวก็คือ Han Thar Myint สมาชิกของคณะกรรมการบริหารกลางของพรรค
การควบคุมตัวอองซานซูจี มีขึ้นหลังจาก 1 สัปดาห์ที่กองทัพยกระดับกล่าวหารัฐบาลพลเรือน และทางโฆษกของกองทัพเมื่อวันอังคารที่แล้ว ปฏิเสธตัดความเป็นไปได้ของการก่อรัฐประหาร
อองซานซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพวัย 75 ปี ก้าวขึ้นสู่อำนาจ หลังคว้าชัยในศึกเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 2015 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากเธอถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านพักนานหลายทศรรษต่อกรณีต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย อันทำให้เธอกลายเป็นบุคคลระดับสัญลักษณ์ในเวทีระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม สถานะของอองซานซูจีในเวทีระหว่างประเทศได้รับความเสียหาย หลังเธอเพิกเฉยต่อปฏิบัติการของกองทัพพม่าที่ลงมือกวาดล้างมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่อย่างหนักหน่วงในปี 2017 จนผู้คนนับแสนต้องอพยพหนีตายข้ามไปยังฝั่งบังกลาเทศ แต่เธอยังเป็นที่นิยมอย่างมากในบ้านเกิดของเธอ
กองทัพพม่าบอกเมื่อวันเสาร์ (30 ม.ค.) ว่าจะปกป้องและยึดมั่นรัฐธรรมนูญ และปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย หลังความเห็นเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ โหมกระพือความกังวลเกี่ยวกับการรัฐประหาร
คณะกรรมการเลือกตั้งของพม่าปฏิเสธคำกล่าวหาของทหารที่ว่ามีการโกงเลือกตั้ง ระบุว่าไม่พบความผิดพลาดใหญ่หลวงใดๆ เพียงพอที่จะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของการโหวต
(ที่มา : รอยเตอร์/เอเอฟพี)