เอเจนซีส์ – ยอดผู้ติดเชื้อสะสมของอเมริกาทะลุ 18 ล้านคน ขณะที่ไต้หวันพบผู้ติดเชื้อในท้องถิ่นคนแรกในรอบกว่า 8 เดือน ด้าน WHO เตรียมนัดประชุมหารือวิธีรับมือโควิดกลายพันธุ์ แต่ยังเชื่อเป็นวงจรการระบาดตามปกติ เช่นเดียวกับหัวหน้าที่ปรึกษาด้านวัคซีนของสหรัฐฯ ซึ่งมองว่า วัคซีนที่อนุมัติใช้กันขณะนี้สามารถจัดการกับไวรัสกลายพันธุ์ ที่มีความเป็นไปได้ว่าระบาดอยู่ในสหราชอาณาจักรมาระยะหนึ่งแล้ว
ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ระบุว่า จนถึงค่ำวันจันทร์ (21 ธ.ค.) อเมริกามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมทะลุหลัก 18 ล้าน มาอยู่ที่ 18,006,061 คน ขณะจำนวนเสียชีวิตสะสม มีกว่า 319,000 คน
แม้ยังคงเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลก แต่อเมริกาก็เป็นชาติตะวันตกรายแรกๆ ซึ่งเริ่มการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนามาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว หลังจากอนุมัติฉุกเฉินให้ใช้วัคซีน 2 ตัว นั่นคือที่พัฒนาโดยไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค และที่วิจัยโดยโมเดอร์นา
วันจันทร์ที่ผ่านมา มีการถ่ายทอดสดการฉีดวัคซีนต้านโควิดให้แก่ ว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และภรรยา เพื่อเพิ่มความมั่นใจของประชาชน โดยไบเดนกล่าวว่า นอกจากฉีดวัคซีนแล้ว คนอเมริกันยังต้องสวมหน้ากากป้องกันและปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
สำหรับว่าที่รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส และสามี จะฉีดวัคซีนในสัปดาห์หน้า
นอกจากนั้น ไบเดนยังยกย่องนักวิจัย บุคลากรที่เป็นด่านหน้า รวมถึงคณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ร่วมกันผลักดันการพัฒนาและการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาอย่างรวดเร็วมาก
วันเดียวกัน มอนเซฟ สลาวอี หัวหน้าที่ปรึกษาโครงการวัคซีน “โอเปอเรชัน วาร์ป สปีด” ของคณะบริหารสหรัฐฯ กล่าวถึงประเด็นไวรัสกลายพันธุ์ที่พบในหลายพื้นที่ในอังกฤษขณะนี้ และเป็นสาเหตุให้หลายสิบประเทศงดรับนักเดินทางจากอังกฤษ โดยระบุว่า ยังไม่มีหลักฐานว่า ไวรัสกลายพันธุ์มีความสามารถในการแพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์เดิม พร้อมแสดงความหวังว่า การทดสอบในห้องทดลองของสถาบันสุขภาพแห่งชาติของอเมริกา (เอ็นไอเอช) จะให้คำตอบที่ชัดเจนว่า ไวรัสกลายพันธุ์ตอบสนองต่อวัคซีนและยารักษาที่ใช้กันอยู่ขณะนี้หรือไม่
สลาวอีสำทับว่า เป็นไปได้เช่นกันที่ไวรัสกลายพันธุ์ดังกล่าวอาจระบาดในสหราชอาณาจักรมาระยะหนึ่งแล้ว เพียงแต่นักวิจัยเพิ่งจะเริ่มต้นศึกษาหลังจากมีการระบาดรุนแรงรอบใหม่
ด้าน ไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการด้านรับมือฉุกเฉิน ขององค์การอนามัยโลก (WHO) แสดงความเห็นว่า การระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ในอังกฤษยังไม่ถือว่า เกินการควบคุม อีกทั้งสามารถจัดการได้ด้วยมาตรการที่ใช้กันอยู่ และตั้งข้อสังเกตว่า นับจากไวรัสโคโรนาเริ่มระบาดเมื่อปลายปีที่แล้ว มีหลายครั้งที่อัตราการแพร่เชื้อพุ่งขึ้นสูงมากแต่ก็ถูกกดลงมาได้ในที่สุด
วันอังคาร (22) ฮันส์ คลูจ ผู้อำนวยการฮูประจำภาคพื้นยุโรป เผยว่าWHOจะจัดประชุมเพื่อหารือยุทธศาสตร์ในการรับมือไวรัสกลายพันธุ์ แต่ไม่ได้ระบุวันเวลาในการประชุม
WHO ยังออกแถลงย้ำว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะระบุว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน และเสริมว่า WHO กำลังทำการวิจัยเรื่องนี้
วันเดียวกันนั้น อูกูร์ ซาฮิน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไบโอเอ็นเทคของเยอรมนี ทเผยว่า มีแนวโน้มสูงที่วัคซีนซึ่งมีอยู่จะป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ที่พบในอังกฤษได้ แต่หากจำเป็น บริษัทสามารถดัดแปลงวัคซีนให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมยิ่งขึ้นภายใน 6 สัปดาห์
ทั้งนี้หลังจากอังกฤษ, สหรัฐฯ, และอีกหลายชาติเดินหน้าไปก่อนแล้ว เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สหภาพยุโรป เพิ่งอนุมัติให้ใช้ฉุกเฉินวัคซีนที่ไบโอเอ็นเทคร่วมพัฒนากับไฟเซอร์ โดยสมาชิกหลายชาติประกาศว่า จะเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนตั้งแต่วันอาทิตย์ที่จะถึง (27)
ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานเมื่อวันจันทร์โดยอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาวัคซีนว่า วัคซีนโคโรนาแว็กของชิโนแว็กของจีน มีประสิทธิภาพในการทดสอบขั้นสุดท้ายในบราซิล ซึ่งเป็นประเทศแรกในโลกที่ทำการทดสอบวัคซีนนี้เสร็จสมบูรณ์ โดยอีกสองประเทศที่ทดสอบวัคซีนนี้คือ อินโดนีเซียและตุรกี
วอลล์สตรีท เจอร์นัลเสริมว่า สถาบันบูตันตันในรัฐเซาเปาโลของบราซิลเตรียมเปิดเผยอัตราการป้องกันไวรัสของโคโรนาแว็กในวันพุธ (23)
ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อวันอังคาร ไต้หวันพบผู้ติดเชื้อในท้องถิ่นคนแรกนับจากวันที่ 12 เมษายน เป็นหญิงสาวในวัย 30 ปี ซึ่งเป็นเพื่อนกับนักบินนิวซีแลนด์ที่ได้รับการยืนยันติดโควิดระหว่างบินไปอเมริกาเมื่อต้นสัปดาห์ และทางการกำลังตรวจสอบผู้สัมผัสโรคโดยตรงกว่า 160 คน
เฉิน เซี่ยชุง รัฐมนตรีสาธารณสุขไต้หวัน เผยว่า นักบินนิวซีแลนด์ไม่ให้ข้อมูลผู้ที่ติดต่อด้วยทั้งหมด รวมทั้งสถานที่ที่ไปมาอย่างถูกต้อง และอาจถือว่า ละเมิดกฎหมายควบคุมโรคติดต่อของไต้หวัน
ทางการไทเปได้เผยแพร่รายชื่อสถานที่ที่นักบินคนดังกล่าวเคยเดินทางไปทั้งในและรอบๆ ไทเป และขอให้ประชาชนหมั่นสังเกตอาการของตัวเอง