xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง: ความพยายามของทรัมป์ที่จะพลิกผลเลือกตั้งล้มเหลวแล้ว แต่แผลเป็นบาดลึกยังดำรงคงอยู่ในประชาธิปไตยแบบอเมริกัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การกล่าวอ้างอย่างผิดๆ ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ว่าตัวเขาเองเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งสมควรจะได้ครองทำเนียบขาวต่อไปอีก 4 ปี ได้ถูกปฏิเสธจากคำตัดสินของศาลชั้นต่างๆ จนไม่เหลือโอกาสใดๆ แล้ว กระนั้นก็ตาม มันก็ได้ทำให้บาดแผลต่างๆของประเทศยักษ์ใหญ่ที่แตกแยกกันอย่างขมขื่นแห่งนี้ยิ่งลามลงลึกไปอีก และเสี่ยงที่เกิดแผลเป็นอย่างคงทนถาวรขึ้นในระบอบประชาธิปไตยอเมริกัน

“ยาพิษชนิดนี้สามารถที่จะซึมซ่านลึกลงไปในระบอบประชาธิปไตย และสร้างความไม่ถูกต้องชอบธรรมให้แก่วิธีการที่จริงๆ แล้วเป็นการเมืองตามปกติในประเทศนี้” เดวิด ฟาร์เบอร์ อาจารย์ประวัติศาสตร์ผู้หนึ่งแห่งมหาวิทยาลัยแคนซัส ให้ความเห็น

“เราอยู่ในช่วงเวลาที่ความถูกชอบธรรมของสถาบันต่างๆ ของเรา กำลังถูกท้าทายอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย บางทีอาจจะมียกเว้นก็เพียงในระหว่างเกิดสงครามกลางเมือง(สงครามระหว่างรัฐทางตอนเหนือกับรัฐทางภาคใต้ของสหรัฐฯระหว่างปี 1861 ถึง 1865 โดยประเด็นสำคัญยิ่งที่ขัดแย้งกันคือจะดำรงระบอบทาสเอาไว้หรือไม่)”

ทรัมป์นั้นกล่าวโจมตีไม่หยุดไม่หย่อนเรื่องการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทางไปรษณีย์ ซึ่งผู้ที่ใช้วิธีนี้มักเป็นพวกนิยมพรรคเดโมแครตมากกว่าพวกชมชอบพรรครีพับลิกันของเขา โดยที่ปีนี้ยิ่งมีจำนวนมากมายเป็นพิเศษเนื่องจากการเกิดโรคระบาดใหญ่โควิด-19 เขากล่าวหาว่าการโหวตเช่นนี้มีการโกงกันมากมาย ทว่าไม่เคยสามารถแสดงหลักฐานออกมายืนยัน

ทั้งๆ ที่ได้คะแนนโดยตรงจากประชาชนผู้ออกเสียง น้อยกว่า โจ ไบเดน แห่งพรรคเดโมแครต ถึงราว 7 ล้านคะแนน อีกทั้งเขายังพ่ายแพ้ย่อยบับเรื่องจำนวนคณะผู้เลือกตั้ง 232 ต่อ 306 เสียง แต่ทรัมป์ก็ยังคงปฏิเสธไม่ยอมประกาศยอมแพ้

ทรัมป์และพวกพันธมิตรของเขาได้ยื่นฟ้องร้องตามศาลต่างๆ เป็นจำนวนมากกว่า 50 คดี โดยกล่าวหาว่ามีการทุจริตฉ้อโกงตามรัฐหลายๆ รัฐซึ่งเขาปราชัยด้วยคะแนนไม่มาก ดังเช่น แอริโซนา, จอร์เจีย, วิสคอนซิน และกระทั่งในอีกบางรัฐซึ่งเขาถูกทิ้งห่างมากขึ้นไปอีก อย่าง มิชิแกน, เนวาดา, และเพนซิลเวเนีย

แต่ปรากฏว่าทีมรณรงค์หาเสียงของทรัมป์พ่ายแพ้หมดในทุกๆ คดี ยกเว้นคดีเดียวซึ่งสิ่งที่ฟ้องร้องไม่ใช่ประเด็นสลักสำคัญอะไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศาลสูงสุด ซึ่งทรัมป์เป็นผู้ที่เสนอชื่อแต่งตั้งผู้พิพากษ 3 คนจากจำยงยทั้งหมด 9 คน ก็ยังตัดสินยกคำฟ้องร้องของประธานาธิบดีวัย 74 ปีผู้นี้และผู้สนับสนุนเมื่อวันศุกร์ (11 ธ.ค.) ที่ผ่านมา ทำให้ถูกมองกันว่า เขาหมดหนทางต่อสู้ในทางกฎหมายแล้ว

ทั้งนี้ในคดีที่นำขึ้นสู่ศาลสูงสุดดังกล่าว มีผลเท่ากับเป็นการขอให้สั่งยกเลิกบัตรลงคะแนนของผู้ออกเสียงหลายๆ ล้านคนใน 4 รัฐซึ่งทรัมป์เป็นฝ่ายปราชัยอยู่ โดยที่มี ส.ส.ของพรรครีพับลิกันจำนวน 126 คนเข้าร่วมผลักดันด้วย ทำให้พวกนักการเมืองพรรคเดโมแครตและกระทั่งชาวพรรครีพับลิกันบางคน ออกมาแสดงความวิตกกังวล เกี่ยวกับเจตนารมณ์ของเพื่อนสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติของพวกเขาเหล่านี้ ที่ยินยอมหลับหูหลับตากระทำตามความต้องการของทรัมป์

คริส เมอร์ฟีย์ วุฒิสมาชิกสังกัดพรรคเดโมแครตจากรัฐคอนเนตทิคัต บอกว่า ทรัมป์และพวกพันธมิตรในพรรครีพับลิกันของเขากำลัง “ใช้ความพยายามอย่างร้ายแรงสาหัสที่สุดในการโค่นล้มระบอบประชาธิปไตยของเรา ในประวัติศาสตร์ของประเทศชาติแห่งนี้”

ส่วน แนนซี เปโลซี ส.ส.เดโมแครตที่เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ก็กล่าวว่า พวกรีพับลิกันกำลังดำเนินการ “โจมตีทำร้ายอย่างสะเพร่าขาดความยั้งคิดและไม่ก่อเกิดผลอะไรต่อระบอบประชาธิปไตยของเรา”

“รักษาความถูกต้องเอาไว้ได้”

ไม่ใช่มีแต่ศาลยุติธรรมชั้นต่างๆ เท่านั้นที่ต้านทานความพยายามของทรัมป์ในการทำลายการเลือกตั้งคราวนี้ พวกเจ้าหน้าที่จัดการเลือตั้งของรัฐต่างๆ และพวกสมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐต่างๆ ซึ่งจำนวนมากเป็นชาวรีพับลิกันด้วยซ้ำ ก็ได้กระทำอย่างเดียวกันด้วย ดังนั้น จึงกำลังแผ้วถางทางสำหรับให้คณะผู้เลือกตั้งซึ่งมีกำหนดจะประชุมกันในวันจันทร์ (14) ลงมติยืนยันเพื่อรับรองชัยชนะของไบเดนอย่างเป็นทางการ

“ชาวอเมริกันสามารถรู้สึกภาคภูมิใจได้จากข้อเท็จจริงที่ว่าพวกสถาบันด้านตุลาการของเรา และพวกสมาชิกนิติบัญญัติระดับรัฐของเรา ยังคงรักษาความถูกต้องเอาไว้ได้ และไม่โอนเอียงไปตามแรงกดดันทางการเมือง” อาจารย์ฟาร์เบอร์กล่าว

อย่างไรก็ดี มีผลโพลสำรวจความเห็นบ่งชี้ว่า ข้อกล่าวหาอันไม่มีมูลของทรัมป์ในเรื่องมีการทุจริตคดโกงบัตรเลือกตั้งกันอย่างมหาศาล กลับได้รับการตอบรับจากฐานเสียงชาวรีพับลิกันของเขา

ผู้ออกเสียงชาวรีพับลิกันจำนวนถึง 77% ทีเดียว ตามผลโพลที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัย ควินนิเพียค บอกว่าพวกเขาเชื่อว่ามีการทุจริตฉ้อโกงบัตรลงคะแนนกันอย่างมากมาย ขณะที่ผู้ออกเสียงที่เป็นชาวเดโมแครต มีเพียง 3% เท่านั้นที่เชื่ออย่างนั้น

เวนดี ชิลเลอร์ อาจารย์รัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยบราวน์ วิเคราะห์ว่า การกล่าวอ้างของทรัมป์กลายเป็นที่รับฟังกันอย่างกว้างขวางขนาดนี้ได้ ก็ในสภาพแวดล้อมที่ “ผู้คนกำลังรับรู้ข่าวสารกันในสภาพที่โดดเดี่ยวแยกห่างจากคนอื่นๆ อย่างมากๆ”

“พวกเขาโดยพื้นฐานแล้วกำลังออนไลน์กันและกำลังพูดจากับพวกเขาเอง” ชิลเลอร์บอก พร้อมกับชี้ว่า โควิด-19 กำลังกลายเป็นตัวที่คอยบิดเบือน เมื่อเราพยายามใช้วิธีการต่างๆ ในการวัดปฏิกิริยาตอบโต้ของผู้คน สืบเนื่องจากโรคระบาดใหญ่ทำให้ไม่มีสถานที่อื่นๆ ใดอีกแล้ว สำหรับให้พวกเขาสามารถรับฟังสิ่งที่โต้แย้งไปคนละทางกับสิ่งที่พวกเขากำลังเชื่อและกำลังพูดออกมา

ขณะที่ ไมเคิล เนลสัน รองศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่ง โรดส์ คอลเลจ บอกว่า ส่วนหนึ่งของปัญหานี้ยังอยู่ที่ทรัมป์สามารถควบคุมพรรครีพับลิกันเอาไว้ได้อย่างอยู่หมัด

“ไม่มีใครกล้ายืนขึ้นมาพูดสิ่งที่ตรงกันข้ามกับเขา” เนลสันบอก “พวกเขาหวาดกลัวว่าขืนทำอย่างนั้น จะทำให้ผู้ออกเสียงของพวกเขาโกรธเกรี้ยวไม่พอใจ”

ชิลเลอร์ทำนายว่า ในสภาพเช่นนี้ ไบเดนน่าที่จะเผชิญกับ “แรงต้านทานอย่างมากมายมหาศาลในช่วงระยะ 6 เดือนแรกกระทั่ง 1 ปีแรก”

กระนั้นเธอมองในแง่ดีว่า ในที่สุดแล้วโควิดจะสร่างซาจางหายไป เพราะไบเดนจะทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน ขณะที่เธอคิดว่าเศรษฐกิจก็น่าจะเริ่มกระเตื้องดีขึ้น แล้ว “ผู้คนก็จะเริ่มพูดกันว่า ‘โอเค ทรัมป์จากไปแล้ว’”

สำหรับเนลสันบอกว่า ความกังวลของเขา “ไม่ค่อยเป็นเรื่องที่ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นมาในปีหน้าหรือใกล้ๆ กันนักหรอก” หากแต่เขากำลังห่วงใยระยะยาว โดย “ถ้าสิ่งนี้ยังคงดำเนินไปเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า หรือการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีก 2-3 สมัยข้างหน้า”

“คุณก็อาจจะค่อยๆ เริ่มต้นมองเห็นระบอบประชาธิปไตยชนิดที่อยู่ในความเสื่อมทราม”

โธมัส โฮลบรูค อาจารย์ด้านบริหารรัฐกิจ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-มิลวอกี พูดแสดงความวิตกในทำนองเดียวกัน โดยกล่าวว่า เขากังวลเรื่องที่มี “บางคนรู้สึกเหมือนกับว่าการเลือกตั้งคราวนี้ถูกปล้นชิงเอาไป”

นั่นอาจนำไปสู่สภาพที่มีผู้คนจำนวนมากยอมรับยอมอดกลั้นกันยิ่งขึ้น เมื่อได้พบเห็น “กลุ่มชายขอบต่างๆ อย่างเช่น พวกกลุ่มติดอาวุธท้องถิ่นที่ออกมาเคลื่อนไหวในรัฐมิชิแกนเมื่อเร็วๆ นี้”

ทั้งนี้ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีสมาชิกกลุ่มติดอาวุธท้องถิ่นในรัฐมิชิแกน 13 คนถูกจับกุมในข้อหาสมคบคิดกันเพื่อพยายามจี้จับตัวผู้ว่าการรัฐ เกรตเชน วิตเมอร์ ซึ่งมาจากพรรคเดโมแครต แล้วเมื่อสุดสัปดาห์ก่อน ก็มีกลุ่มติดอาวุธชุมนุมประท้วงกันที่ด้านนอกบ้านพักของเจ้าหน้าที่การเลือกตั้งรัฐมิชิแกนคนหนึ่ง

(เก็บความและตัดต่อเพิ่มเติมจากเรื่อง Trump bid to overturn election stymied but scars will remain ของสำนักข่าวเอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น