xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: อังกฤษประเดิมวัคซีน ‘โควิด-19’ ชาติแรกในโลก ‘ไบเดน’ ตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้มะกัน 100 ล้านคนใน 100 วันแรก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อังกฤษเป็นประเทศแรกในโลกที่เริ่มโครงการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ให้แก่ประชากรกลุ่มเสี่ยงเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา จุดประกายความหวังของมวลมนุษยชาติในการเอาชนะโควิด-19 ที่คุกคามวิถีชีวิตผู้คนและเศรษฐกิจโลก ขณะที่ โจ ไบเดน ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ประกาศเป้าหมายฉีดวัคซีนให้แก่พลเมืองอเมริกัน 100 ล้านคนภายใน 100 วันแรกหลังสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง

คุณยาย ‘มาร์กาเร็ต คีแนน’ วัย 90 ปี เป็นบุคคลแรกของโลกที่ได้รับการฉีดวัคซีนที่บริษัทไฟเซอร์พัฒนาร่วมกับไบโอเอ็นเทค ในโครงการสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ของอังกฤษที่เริ่มจากกลุ่มผู้สูงอายุและบุคลากรทางการแพทย์ และคาดว่าจะขยายไปสู่พลเมืองอีกหลายสิบล้านคนภายในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า

วัคซีน BNT162b2 ของไฟเซอร์ซึ่งได้รับอนุมัติให้ใช้งานฉุกเฉินในอังกฤษ ถือเป็นหนึ่งในวัคซีนทางเลือกจากหลายบริษัทชั้นนำที่ช่วยให้โลกเข้าใกล้เป้าหมายในการยุติโรคระบาดใหญ่ซึ่งคร่าชีวิตมนุษย์ไปแล้วกว่า 1.5 ล้านคน

วัคซีนของไฟเซอร์และวัคซีนอีกตัวจากโมเดอร์นา (Moderna) บริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพของสหรัฐฯ มีผลการทดลองยืนยันประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ถึง 95% และ 94% ตามลำดับ ขณะที่วัคซีนของบริษัทยา แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ยังมีประสิทธิภาพเฉลี่ยแค่ราวๆ 70%

ทั้งนี้ คาดว่าสหรัฐฯ จะอนุมัติการใช้งานฉุกเฉินสำหรับวัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคภายในสัปดาห์นี้ หลังจากที่สำนักงานอาหารและยา (FDA) ออกมายืนยันผลทดสอบว่าไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่น่ากังวล

อย่างไรก็ตาม มีรายงานล่าสุดเมื่อวันพุธ (9 ธ.ค.) ว่าวัคซีนของไฟเซอร์ก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ค่อนข้างรุนแรงกับผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ และคาดว่าหน่วยงานสาธารณสุขของประเทศต่างๆ ที่อนุมัติใช้วัคซีนตัวนี้อาจจะต้องกันผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวออกจากโครงการรับวัคซีนไปก่อน

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามคำสั่งบริหารเพื่อให้สิทธิ์ชาวอเมริกันเข้าถึงวัคซีนก่อนที่สหรัฐฯ จะส่งความช่วยเหลือไปยังประเทศอื่น แต่ขณะเดียวกันก็มีรายงานจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สว่า ทำเนียบขาวเคยปฏิเสธข้อเสนอของไฟเซอร์ที่จะจำหน่ายวัคซีนให้แก่อเมริกามากขึ้นกว่าเดิมเมื่อช่วงปลายฤดูร้อน ซึ่งทำให้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ทรัมป์ อาจละทิ้งโอกาสที่จะสั่งซื้อวัคซีนให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานในอเมริกาตลอดช่วงหลายเดือนข้างหน้า

โจ ไบเดน ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ ได้ออกมาเตือนว่าโครงการแจกจ่ายวัคซีนในสหรัฐฯ อาจ “ล่าช้าและติดขัด” หากสภาคองเกรสไม่อนุมัติงบประมาณโดยด่วน พร้อมเตือน ส.ส.และ ส.ว. จากทั้ง 2 พรรคการเมืองให้ร่วมมือกันเพื่อไม่ให้ชาวอเมริกันต้องรอไปอีกนานหลายเดือนกว่าจะได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง

ไบเดน ยังประกาศด้วยว่า รัฐบาลของเขาซึ่งจะเริ่มเข้าบริหารประเทศในวันที่ 20 ม.ค. ปีหน้าจะฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่พลเมืองอย่างน้อย 100 ล้านคนภายใน 100 วันแรก

สหรัฐฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่ามีมาตรการรับมือโรคระบาดที่ด้อยประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อเมริกามีผู้ติดเชื้อสะสมแล้วมากกว่า 15 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 286,000 คน ขณะที่หลายรัฐในอเมริกาต้องฟื้นมาตรการคุมเข้มเพื่อป้องกันโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดหนักในช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งออกคำสั่ง “เก็บตัวอยู่บ้าน” ครอบคลุมพลเมืองเกือบ 30 ล้านคน

นายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด แห่งแคนาดา ยืนยันว่า ไฟเซอร์จะจัดส่งวัคซีนล็อตแรกให้กับรัฐบาลภายในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า และเชื่อว่านโยบายปิดกั้นการส่งออกของสหรัฐฯ จะไม่มีผลกระทบ เนื่องจากไฟเซอร์มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศอื่นๆ ด้วย

บราซิลซึ่งมีผู้ติดเชื้อสะสมมากเป็นอันดับ 3 ของโลกเตรียมเริ่มฉีดวัคซีนโคโรนาวัค (CoronaVac) ที่ผลิตโดยบริษัทซิโนวัคของจีนให้แก่บุคลากรทางการแพทย์, ผู้สูงอายุ และประชากรกลุ่มเสี่ยงในราวต้นปีหน้า ส่วนรัสเซียซึ่งเป็นหนึ่งในชาติที่มีผู้ติดเชื้อโควิดมากที่สุดก็เริ่มฉีดวัคซีน “Sputnik V” ที่ผลิตเองในประเทศให้กับเจ้าหน้าที่กลุ่มเสี่ยงแล้ว

สหภาพยุโรปลงนามสั่งซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากไฟเซอร์จำนวน 300 ล้านโดส หลังจากที่ได้สั่งซื้อวัคซีนจากค่ายอื่นๆ ไปแล้วก่อนหน้า ขณะที่สถานการณ์โควิดในยุโรปหลายประเทศยังคงน่ากังวล ตัวอย่างเช่นเยอรมนีซึ่งได้สั่งขยายมาตรการคุมเข้มทางสังคมไปจนถึงต้นเดือน ม.ค. เพื่อชะลอตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ที่พุ่งเฉลี่ยวันละเกือบ 20,000 คน ส่วนที่เดนมาร์กมีการสั่งปิดโรงเรียนมัธยม, บาร์, คาเฟ่ และร้านอาหารในพื้นที่ราวๆ ครึ่งหนึ่งของประเทศ

ทางฝั่งเอเชียก็มีอยู่หลายประเทศที่คาดว่าจะสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 เป็นกลุ่มแรกๆ ของโลก

รัฐบาลออสเตรเลียทำข้อตกสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 จากผู้ผลิตหลายรายรวมทั้งสิ้น 135 ล้านโดส โดยแบ่งออกเป็นวัคซีนแอสตราเซเนกา 34 ล้านโดส, โนวาแว็กซ์ อิงค์ 40 ล้านโดส, ไฟเซอร์ 10 ล้านโดส และซีเอสแอล 51 ล้านโดส โดยในส่วนของแอสตราเซเนกานั้นคาดว่าจะจัดส่งวัคซีนล็อตแรก 3.8 ล้านโดสให้ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. ปีหน้า

ในส่วนของจีนไม่ได้มีการทำข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีนจากบริษัทยาของตะวันตกโดยตรง ทว่าบริษัทยาเหล่านี้ก็ใช้วิธีจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทเอกชนของจีนแทน ตัวอย่างเช่นแอสตราเซเนกาทำข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนผลิตวัคซีนร่วมกับบริษัท เซินเจิ้น กังไถ ไบโอลอจิคัล โปรดักส์ โดยตั้งเป้าผลิตวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2020 และคาดว่าวัคซีนของแอสตราน่าจะได้รับการอนุมัติรับรองในจีนภายในช่วงกลางปี 2021

ไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทคร่วมมือกับบริษัท เซี่ยงไฮ้ โฟซุน ฟาร์มาชูติคอล กรุ๊ป เพื่อทำการทดลองวัคซีนเฟส 2 ในจีน ขณะที่บริษัท ทิเบต โรดิโอลา ฟาร์มาชูติคอล โฮลดิงส์ ก็ได้นำเข้าวัคซีน Sputnik V จากรัสเซีย และมีแผนที่จะทำการทดลองขั้นต้นและขั้นกลางในจีนด้วย

จีนยังได้อนุมัติรับรองการใช้งานฉุกเฉินสำหรับวัคซีน 3 ตัวที่ผลิตโดยบริษัท ซิโนวัค ไบโอเทค และซิโนฟาร์มซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยทางซิโนฟาร์มนั้นคาดว่าวัคซีน 2 ตัวของบริษัทจะได้รับอนุญาตให้นำไปใช้กับประชาชนทั่วไปภายในปีนี้

มาร์กาเร็ต คีแนน วัย 90 ปี เป็นบุคคลแรกในอังกฤษที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. โดยอังกฤษถือเป็นประเทศแรกในโลกที่เริ่มโครงการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีนจากไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทคจำนวน 120 ล้านโดสในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 และอีก 121 ล้านโดสจากแอสตราเซเนกา ซึ่งจะจัดส่งล็อตแรก 30 ล้านโดสให้ในราวๆ เดือน มี.ค. นอกจากนี้ยังสั่งซื้อวัคซีนของโนวาแว็กซ์อีก 250 ล้านโดสด้วย

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าวัคซีนทุกตัวจะต้องผ่านการทดลองเฟสที่ 1 และเฟสที่ 2 ในญี่ปุ่นเป็นอย่างน้อย จึงจะสามารถขอการอนุมัติใช้งานได้

เกาหลีใต้มีเป้าหมายจัดซื้อวัคซีนให้เพียงพอสำหรับประชากร 10 ล้านคนผ่านโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลก (WHO) และวัคซีนสำหรับประชากร อีก 20 ล้านคนผ่านข้อตกลงที่ทำร่วมกับผู้ผลิตยาต่างๆ ภายในสิ้นปีนี้ โดยคาดว่ารัฐบาลโสมขาวจะเริ่มฉีดวัคซีนให้แก่พลเมืองในช่วงไตรมาส 2 ของปีหน้า เพื่อรอดูผลข้างเคียงของวัคซีนในประเทศอื่นๆ เสียก่อน

สถาบันเซรุ่มของอินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนของแอสตราเซเนการะบุเมื่อวันที่ 23 พ.ย. ว่า ผลการทดลองวัคซีนขั้นสุดท้ายออกมาเป็นที่น่าพอใจ และคาดว่าวัคซีนตัวนี้จะผ่านการรับรองสำหรับใช้งานฉุกเฉินในช่วงสิ้นปี ก่อนที่จะได้รับไฟเขียวสำหรับการใช้งานเต็มรูปแบบในราวๆ เดือน ก.พ.-มี.ค.

วัคซีนอีกตัวซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอินเดียคาดว่าจะมีการเปิดตัวในเดือน ก.พ. ปีหน้า ขณะเดียวกันก็กำลังมีการทดลองวัคซีน Sputnik V ของรัสเซียในขั้นสุดท้ายอยู่ด้วย

ไต้หวันคาดว่าจะได้รับวัคซีนล็อตแรก 15 ล้านโดสผ่านโครงการ COVAX และจากการสั่งซื้อโดยตรงจากผู้ผลิตยารายต่างๆ และมีแนวโน้มว่าจะสั่งซื้อเพิ่มเติมอีก 15 ล้านโดส โดยรัฐบาลตั้งเป้าเริ่มฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2021

มาเลเซียสั่งซื้อวัคซีนจากไฟเซอร์จำนวน 12.8 ล้านโดส และถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ทำข้อตกลงซื้อวัคซีนจากบริษัทยาอเมริกันรายนี้ หลังจากที่เคยแสดงความกังวลเนื่องจากวัคซีนของไฟเซอร์นั้นจะต้องจัดเก็บที่อุณหภูมิต่ำถึง 70 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ คาดว่าไฟเซอร์จะเริ่มจัดส่งวัคซีนจำนวน 1 ล้านโดสให้แก่มาเลเซียภายในไตรมาสแรกของปีหน้า

สำหรับฟิลิปปินส์นั้นมีข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีนจากแอสตราเซเนกา 2.6 ล้านโดส และอยู่ระหว่างเจรจาขอซื้อเพิ่มอีก 1 ล้านโดส ซึ่งจะเพียงพอสำหรับพลเมืองเพียง 1% จากทั้งหมด 108 ล้านคน ขณะเดียวกันก็มีแผนสั่งซื้อวัคซีนจากซิโนวัคตั้งแต่ 20-50 ล้านโดส และอยู่ระหว่างเจรจากับไฟเซอร์ด้วย

อินโดนีเซียซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม 92 ประเทศที่มีรายได้ต่ำ-ปานกลางได้รับสิทธิ์ในการเข้าถึงวัคซีนสำหรับประชากร 1 ใน 5 ผ่านทางโครงการ COVAX หรือคิดเป็นปริมาณ 106-107 ล้านโดส ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่าวัคซีนซิโนวัคล็อตแรก 1.2 ล้านโดสถูกส่งไปถึงมือรัฐบาลอิเหนาเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา และคาดว่าจะได้รับเพิ่มอีก 1.8 ล้านโดสในเดือน ม.ค.ปีหน้า

เวียดนามจะได้รับวัคซีนเพียงพอสำหรับประชากร 20% ผ่านโครงการ COVAX แต่คาดว่ารัฐบาลคงจะทำข้อตกลงสั่งซื้อเพิ่มเติมเร็วๆ นี้ เนื่องจากความต้องการใช้วัคซีนมีสูงมาก

ในส่วนของประเทศไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในสัญญาจัดหาวัคซีนโควิด-19 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยเป็นการสั่งจองล่วงหน้าและสัญญาการจัดซื้อวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกา รวมทั้งสิ้น 26 ล้านโดส ในวงเงิน 6,049 ล้านบาทเศษ ซึ่งจะสามารถครอบคลุมการรักษาคนไทย 13 ล้านคน หรือราว 20% ของจำนวนประชากร โดยคาดว่าจะเริ่มแจกจ่ายวัคซีนได้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 และจะมีบริษัท สยามไบโอไซน์ เป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อทำการผลิตต่อ


กำลังโหลดความคิดเห็น