ซีดีซี ซึ่งเป็นหน่วยงานต่อสู้รับมือโรคติดต่อของสหรัฐฯ ส่งเสียงเตือนภัย โควิด-19 จะทำให้อเมริกาต้องเผชิญวิกฤตสาธารณสุขเลวร้ายที่สุดต่อไปอีก 2-3 เดือน ด้านไบเดนสำทับว่า ยอดเหยื่อไวรัสมรณะนี้อาจเพิ่มขึ้นอีก 250,000 คนตั้งแต่ตอนนี้จนถึงเดือนมกราคม สอดคล้องกับสถาบันสุขภาพทรงอิทธิพลของมหาวิทยาลัยวอชิงตันซึ่งคาดว่า ถ้าประชาชนยังไม่ป้องกันตัวเองอย่างจริงจังมากขึ้น ยอดผู้เสียชีวิตของอเมริกาอาจพุ่งขึ้นเป็นเกือบ 450,000 คน ในวันที่ 1 มีนาคม
นพ.โรเบิร์ต เรดฟิลด์ ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการควบคุมและการป้องกันโรคของอเมริกา (ซีดีซี) เรียกร้องในวันพุธ (2 ธ.ค.) ให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันไว้ก่อน เช่น การสวมหน้ากากป้องกัน การเว้นระยะห่างทางสังคม และการล้างมือบ่อยๆ เพื่อชะลอการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่เวลานี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตวันละกว่า 2,000 คนในอเมริกา
คำเตือนนี้มีขึ้นหลังจากคนอเมริกันนับล้านๆ เพิกเฉยต่อคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางและการรวมกลุ่มขนาดใหญ่ในช่วงเทศกาลวันขอบคุณพระเจ้าที่เพิ่งผ่านพ้นไป แม้ว่าโควิด-19 ยังคงระบาดหนักก็ตาม โดย โควิด แทร็คกิ้ง โปรเจกต์รายงานเมื่อวันพุธว่า ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา อเมริกามีผู้เสียชีวิตกว่า 2,700 คน สูงสุดนับจากเดือนเมษายน และจำนวนผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลทะลุ 100,000 คนเป็นครั้งแรก
เรดฟิลด์เสริมว่า ระบบดูแลสุขภาพของอเมริกาใกล้ถึงจุดล่มสลาย โดยโรคติดต่อนี้กำลังแพร่กระจายไปทั่วประเทศ โรงพยาบาล 90% ถูกระบุเป็นพื้นที่อันตราย และอัตราการระบาดรุนแรงกว่าระลอกที่แล้ว เขาสำทับว่า นับจากเดือนนี้ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าจะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดในประวัติศาสตร์สาธารณสุขของอเมริกา
ทางด้านว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน มองแนวโน้มมืดมนพอๆ กัน โดยกล่าวระหว่างประชุมโต๊ะกลมกับแรงงานและเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตไวรัสว่า คริสต์มาสจะเป็นช่วงเวลาที่น่ากังวลมากขึ้น และมีแนวโน้มว่า อเมริกาจะมีผู้เสียชีวิตจากโควิดเพิ่มขึ้นอีก 250,000 คนตั้งแต่นี้จนถึงเดือนมกราคม
ปัจจุบัน มีคนอเมริกันกว่า 270,000 คน เสียชีวิตจากโรคนี้ และสถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพของมหาวิทยาลัยวอชิงตันคาดว่า ยอดผู้เสียชีวิตสะสมของอเมริกาอาจพุ่งขึ้นเป็นเกือบ 450,000 คนในวันที่ 1 มีนาคม หากประชาชนยังไม่ปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและการสวมหน้ากากอย่างเคร่งครัดมากขึ้น
ไม่ได้มีแค่อเมริกาเท่านั้นที่กังวลว่า โควิด-19 จะระบาดหนักขึ้นในช่วงเทศกาลวันหยุดปลายปี วันพฤหัสฯ (3) อิตาลีประกาศห้ามประชาชนเดินทางออกนอกเขตระหว่างวันที่ 21 ธ.ค. ถึง 6 ม.ค. และห้ามออกนอกเมืองในวันที่ 25-26 ธันวาคม และ 1 มกราคม รวมทั้งแนะนำให้ประชาชนงดจัดงานสังสรรค์กับบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ใช่สมาชิกครอบครัว
อิตาลียังกำหนดให้ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศอื่นต้องกักตัวนาน 10 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 เดือนนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นต้องการสกัดประชาชนไม่ให้เดินทางไปเล่นสกีในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป บางประเทศที่ยังเปิดให้บริการอยู่
ที่สเปน ซาลวาดอร์ อิลลา รัฐมนตรีสาธารณสุข ประกาศเมื่อวันพุธว่า จะจำกัดการสังสรรค์ในหมู่สมาชิกครอบครัวไม่เกิน 10 คนในช่วงคริสต์มาส
ขณะที่นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี สั่งปิดศูนย์วัฒนธรรม สนามกีฬา ฟิตเนส ร้านอาหาร และบาร์จนถึงวันที่ 10 มกราคม
มาตรการป้องกันไว้ก่อนเหล่านี้มีขึ้นท่ามกลางข่าวคราวความคืบหน้าเกี่ยวกับวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา โดยเมื่อวันพุธ อังกฤษเป็นประเทศแรกในโลกที่อนุมัติการใช้วัคซีนที่ไฟเซอร์พัฒนาร่วมกับไบโอเอ็นเทค โดยคาดว่า จะเริ่มแจกจ่ายวัคซีน 800,000 โดสตั้งแต่สัปดาห์หน้า
ทางด้านอเมริกาที่เตรียมพิจารณาอนุมัติการใช้ฉุกเฉินให้วัคซีนของไฟเซอร์ รวมทั้งวัคซีนของโมเดอร์นา คาดหวังว่า จะสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชน 100 ล้านคนภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ขณะที่อิตาลีและญี่ปุ่นประกาศว่า จะฉีดวัคซีนให้ประชาชนฟรีหลังผ่านการอนุมัติ
ที่รัสเซีย ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน สั่งแจกจ่ายวัคซีน “สปุตนิก” ล็อตใหญ่ตั้งแต่สัปดาห์หน้า โดยขณะนี้มีประชาชนกว่า 100,000 คนได้รับการฉีดวัคซีนนี้แล้ว และปัจจุบัน สปุตนิกยังอยู่ในการทดลองทางคลินิกขั้นสุดท้ายกับอาสาสมัคร 40,000 คน
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)