ทางการรัฐจอร์เจียประกาศรับรองให้ ‘โจ ไบเดน’ เป็นผู้ชนะศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีที่รัฐแห่งนี้อย่างเป็นทางการในวันศุกร์ (20 พ.ย.) เพิ่มแรงบีบต่อประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ที่ยังคงดื้อแพ่งไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ ขณะที่ ไบเดน แย้มรายชื่อบุคคลใหม่ๆ ที่จะเข้ารับตำแหน่งในคณะบริหารของตนเอง
ไบเดน จากพรรคเดโมแครตจะต้องเข้าพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 ในวันที่ 20 ม.ค. ปีหน้า ทว่าจนถึงตอนนี้ ทรัมป์ ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะหยุดความพยายามพลิกผลการเลือกตั้ง โดยยกข้อครหาเรื่องการทุจริตมาเป็นเหตุยื่นฟ้องขอนับคะแนนใหม่ในหลายรัฐ
อย่างไรก็ตาม การดิ้นรนของ ทรัมป์ ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จ และล่าสุด ทรัมป์ ยังต้องเผชิญข่าวร้ายอีกครั้งในวันศุกร์ (20) เมื่อ แบรด ราฟเฟนสเปอร์เกอร์ เลขาธิการแห่งรัฐจอร์เจีย ออกมาประกาศรับรองผลการนับคะแนนว่าชัยชนะตกเป็นของ ไบเดน ซึ่งถือเป็นผู้สมัครประธานาธิบดีสายเดโมแครตคนแรกตั้งแต่ปี 1992 ที่ชนะในรัฐทางใต้แห่งนี้
สถิติทางการซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์เลขาธิการแห่งรัฐจอร์เจีย ระบุว่า ไบเดน เอาชนะ ทรัมป์ ไปด้วยคะแนนส่วนต่างเพียงแค่ 12,670 คะแนน
ไบรอัน เคมพ์ ผู้ว่าการรัฐจอร์เจีย แถลงว่า ตนมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องรับรองผลการเลือกตั้ง “ซึ่งเปิดโอกาสให้ทีมหาเสียงของ ทรัมป์ สามารถใช้ช่องทางกฎหมายอื่นๆ เพื่อขอนับคะแนนใหม่ได้ หากพวกเขาต้องการ”
อย่างไรก็ตาม เคมพ์ ยอมรับว่าจากการนับคะแนนทวนซ้ำพบว่าผลคะแนนครั้งแรกมีความผิดพลาดอยู่บ้างเล็กน้อย
ทรัมป์ ได้ทวีตแสดงความผิดหวัง โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่รัฐจอร์เจีย “ไม่ยอมให้เราเข้าไปตรวจสอบลายเซ็น ซึ่งจะเผยให้เห็นว่ามีบัตรเลือกตั้งผิดกฎหมายอยู่หลายแสนใบ” และนั่นจะทำให้ตนและพรรครีพับลิกันสามารถพลิกกลับมา “ชนะครั้งใหญ่”
อย่างไรก็ดี คำพูดของผู้นำสหรัฐฯ ยังคงไร้หลักฐานสนับสนุนตามเคย
แหล่งข่าวใกล้ชิด 3 คนให้ข้อมูลกับรอยเตอร์ว่า เวลานี้ทีมงาน ทรัมป์ มีแผนล็อบบี้สมาชิกสภานิติบัญญัติในรัฐที่รีพับลิกันกุมอำนาจให้มองข้ามผลการเลือกตั้ง และประกาศให้ ทรัมป์ เป็นผู้ชนะ โดยพุ่งเป้าไปที่ ‘มิชิแกน’ และ ‘เพนซิลเวเนีย’ ทว่าต่อให้ทั้ง 2 รัฐยอมมอบชัยชนะแก่ทรัมป์ เขาก็ยังจำเป็นต้องพลิกผลเลือกตั้งให้ได้ในอีกอย่างน้อย 1 รัฐเพื่อที่จะมีจำนวนผู้แทนเลือกตั้ง (electoral college) มากกว่า ไบเดน
การกระทำเช่นนี้จะถือเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ และ ทรัมป์ ไม่เพียงต้องกดดันสภานิติบัญญัติใน 3 รัฐให้แทรกแซงผลเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังต้องทำให้สภาคองเกรสและศาลสูงสุดรับรองชัยชนะให้กับเขาด้วย
ทรัมป์ ได้เชิญผู้นำสภานิติบัญญัติรัฐมิชิแกนซึ่งเป็นคนของรีพับลิกันเข้าพบที่ทำเนียบขาวเมื่อวานนี้ (20) ทว่าหลังการพูดคุยที่ห้องทำงานรูปไข่จบลง ไมค์ เชอร์ลีย์ แกนนำวุฒิสมาชิกเสียงข้างมาก และ ลี แชตฟิลด์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรรัฐมิชิแกน กลับออกมายืนยันต่อสื่อมวลชนว่า พวกเขา “เชื่อถือ” ในกระบวนการเลือกตั้งของรัฐ
“เรายังไม่พบข้อมูลใดๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งที่รัฐมิชิแกน และในฐานะผู้นำสมาชิกสภานิติบัญญัติ เราพร้อมที่จะปฏิบัติตามกลไกปกติของคณะผู้เลือกตั้งรัฐมิชิแกน เหมือนที่เรายืนยันมาโดยตลอด” คำแถลงร่วมของทั้งคู่ระบุ
ที่มา: รอยเตอร์