(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
HK opposition in the cold after disqualifications
By FRANK CHEN
13/11/2020
ปักกิ่ง “ผิดหวัง” ที่หลังจากสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงซึ่งถูกจัดเป็นพวกหัวรุนแรง ถูกปลดออกจากตำแหน่งไป 4 คน พวกสมาชิกสภาฝ่ายค้านซึ่งเหลืออยู่ ส่วนใหญ่ได้เลือกที่จะยกโขยงลาออกตาม ---โดยที่สำนักงานติดต่อของจีนบอกว่า พวกเขาควรเลือกที่จะอยู่ต่อไป
การที่ปักกิ่งอาศัยญัตติของรัฐสภาระดับชาติมาถอดถอนสมาชิกสภานิติบัญญัติฝ่ายค้านของฮ่องกงจำนวน 4 คนออกจากตำแหน่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นหลักหมายแสดงให้ถึงการก้าวคืบอีกก้าวใหญ่ ในการดำเนินการตามพลังขับดันของจีนเพื่อมุ่งกำราบให้ค่ายเรียกร้องประชาธิปไตยของเขตบริหารพิเศษแห่งนี้โอนอ่อน และเปลี่ยนแปลงองค์กรออกกฎหมายของฮ่องกงแห่งนี้ซึ่งมักถูกกลเม็ดขัดขวางหยุดยั้งของฝ่ายค้านจนทำให้ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้อยู่บ่อยครั้ง กลายมาเป็นสภาที่ยินยอมเชื่อฟังมากยิ่งขึ้น ผู้สังเกตการณ์หลายๆ รายแสดงความเห็น
ทั้งนี้ คณะกรรมการประจำ (Standing Committee) ของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress ใช้อักษรย่อว่า NPC) ในกรุงปักกิ่ง ได้ผ่านญัตติฉบับหนึ่งเมื่อวันพุธ (11 พ.ย.) ประกาศว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงที่เป็นนักเคลื่อนไหวฝ่ายค้านคนสำคัญจำนวน 4 คน ได้แก่ อัลวิน เยือง (Alvin Yeung) (Civil Party) , เดนนิส คว็อค (Dennis Kwok), และ คว็อค คาคี (Kwok Ka-ki) แห่งพรรคซีวิลปาร์ตี้ และ เคนเนธ เลือง (Kenneth Leung) แห่งพรรคโพรเฟสชั่นนัล คอมมอนส์ (Professional Commons) ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งต่อไปแล้ว
สำหรับข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นเหตุผลความชอบธรรมในการถอดถอนพวกเขา ก็มีดังเช่น การเรียกร้องสนับสนุนให้ฮ่องกงเป็นเอกราช, การปฏิเสธไม่ยอมรับอำนาจอธิปไตยของปักกิ่งที่มีเหนือนครแห่งนี้, การชักชวนให้ต่างชาติเข้ามาก้าวก่ายแทรกแซง, ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงแห่งชาติ
ในการลงมติรับรองญัตติฉบับนี้ สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติยังได้ตั้งคำถามว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติทั้ง 4 คนนี้มีความจงรักภักดีต่อฮ่องกง (ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นเขตบริหารพิเศษของจีนภายหลังสหราชอาณาจักรส่งมอบคืนให้แก่ปักกิ่งเมื่อปี 1997) หรือเปล่า และพวกเขาเคารพปฏิบัติตาม “กฎหมายพื้นฐาน” (Basic Law) ซึ่งถือเป็นเอกสารแม่บทแบบรัฐธรรมนูญสำหรับนครแห่งนี้หรือไม่ โดยที่ในมาตรา 1 ของกฎหมายพื้นฐานนี้ระบุว่า ฮ่องกง “เป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนอย่างมิอาจแบ่งแยกออกไปได้”
อย่างไรก็ตาม การขับไสบุคคลทั้ง 4 ออกไปจากสภานิติบัญญัติ (Legislative Council เรียกกันย่อๆ ว่า LegCo) เช่นนี้ กำลังจุดชนวนให้เกิดความปั่นป่วนสับสนขึ้นในฮ่องกง ซึ่งยังคงอยู่ในอาการซวนเซเรรวน จากการที่ปักกิ่งประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติสำหรับฮ่องกงเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยให้อำนาจอย่างกว้างขวางแก่ทางการในการเอาผิดดำเนินคดีอาญากับพฤติการณ์แบ่งแยกดินแดน, บ่อนทำลาย, โจรกรรมความลับของรัฐ, และสมคบร่วมมือกับพวกอิทธิพลต่างชาติ
ย้อนกลับไปในตอนนั้น ปักกิ่งแสดงท่าทีไม่ยอมอ่อนข้อประนีประนอม ถึงแม้เผชิญกับปฏิกิริยาตอบโต้อย่างแรงและการลงโทษคว่ำบาตรที่ติดตามมาจากฝ่ายตะวันตก โดยเฉพาะวอชิงตันกับลอนดอน เพื่อคัดค้านสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าเป็นกฎหมายโหดฉบับนี้ รวมทั้งกล่าวหาปักกิ่งว่าทรยศต่อคำมั่นสัญญาที่จะให้เสรีภาพและการปกครองตนเองแก่นครแห่งนี้ สำหรับในครั้งนี้ปักกิ่งก็แสดงความไม่แยแสต่อข้อกล่าวหาทั้งหลายทั้งปวงจากฝ่ายตะวันตกอีก โดยที่มีการตั้งคำถามเชิงสำนวนโวหารจากสื่อแนวชาตินิยมอย่าง โกลบอลไทมส์ (Global Times) ว่า สหรัฐฯจะทำอะไรบ้างถ้าพวก ส.ส. ของเขากำลังพยายามแบ่งแยกประเทศ หรือกำลังเรียกร้องให้จีนหรือรัสเซียเข้าไปแทรกแซงการเมืองอเมริกัน
หลังจากการเพิกถอนเพราะขาดคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว ก็มีสมาชิกสภานิติบัญญัติฝ่ายค้านอีกอย่างน้อย 19 คนพากันยกโขยงลาออกจากตำแหน่งด้วยเพื่อเป็นการประท้วง ปล่อยให้พลังขับเคลื่อนทางการเมืองในสภาเลคโคที่มีสมาชิกทั้งสิ้น 70 คน ซึ่งอยู่ในลักษณะไม่สมดุลอยู่แล้ว ยิ่งเอียงกระเท่เร่เข้าไปใหญ่ กล่าวคือ ในบรรดาสมาชิก 43 คนที่เหลืออยู่ในสภา มีเพียงแค่ 2 คนเท่านั้นซึ่งถูกมองว่าเป็นพวกกลางๆ และไม่ได้ประกาศอยู่ข้างปักกิ่งอย่างชัดเจน
ปักกิ่งตอบโต้ด้วยการรีบออกมาเน้นย้ำผ่านทางพวกผู้จงรักภักดีของตนว่า ตนเองไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะขับไสฝ่ายค้านทั้งหมดออกไปจากสภา
เลา ซุยไค (Lau Siu-kai) นักวิชาการด้านนโยบายและเป็นรองประธานของสมาคมฮ่องกงและมาเก๊าศึกษา (Hong Kong and Macau Studies Association) ซึ่งเป็นหน่วยงานกึ่งทางการ บอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า ปักกิ่งเพียงแค่ต้องการหาทางขจัด “พวกหัวรุนแรงส่วนน้อยซึ่งสนับสนุนอย่างเปิดเผยในเรื่องการแยกตัวออกไปของฮ่องกงและการให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซง” (อัลวิน เยือง, เดนนิส คว็อค, และ คว็อค คาคี เคยบินไปสหรัฐฯเมื่อปีที่แล้วเพื่อล็อกบี้ให้อเมริกาแซงก์ชั่นจีนในกรณีฮ่องกง) แต่พวกสมาชิกสภาฝ่ายค้านอื่นๆ นั้น ควรที่จะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
“ปักกิ่งมองกรณีต่างๆ แบบแยกออกเป็นแต่ละกรณีเสมอมา และหาทางระดม (พวกสมาชิกส่วนใหญ่ของฝ่ายค้าน) ให้สนับสนุนวิสัยทัศน์ของตนเกี่ยวกับฮ่องกง รวมทั้งยังคงมีช่องทางสำหรับให้ทางค่ายฝ่ายค้านตรวจสอบร่างกฎหมายต่างๆ ของทางรัฐบาล และแสดงการคัดค้านไม่เห็นด้วย” เลา กล่าว พร้อมบอกด้วยว่า ทั้ง 4 คนที่ถูกถอดออกจากตำแหน่งนั้นสืบเนื่องจากการที่พวกเขาแสดงความสนับสนุนเรื่องการแยกตัวเป็นเอกราช และมีความผูกพันกับพวกพลังต่างชาติ ไม่ใช่เนื่องจากยุทธวิธีของค่ายฝ่ายค้านที่มุ่งขัดขวางหยุดยั้งกระบวนการปฏิบัติงานของสภา
ทางด้าน แคร์รี ลัม (Carrie Lam) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของฮ่องกง ซึ่งเป็นผู้ขอให้สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติเข้ามาแทรกแซงดำเนินการต่อสมาชิกสภาฮ่องกง 4 คนดังกล่าว ก็ปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริงเลยในเรื่องซึ่งมีการพูดกันเวลานี้ที่ว่าสภานิติบัญญัติฮ่องกงซึ่งกำลังอยู่ในอาการโงนเงน กำลังเหมือนๆ กับสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ ซึ่งถูกฝ่ายตะวันตกโจมตีว่าเป็นสภาตรายางคอยประทับตรารับรองร่างกฎหมายที่ฝ่ายบริหารเสนอมาเท่านั้น
กระนั้นก็ตามที ผลลัพธ์ที่มองเห็นกันได้ชัดเจนก็คือ เวลานี้รัฐบาลฮ่องกงสามารถคาดหวังว่าจะเผชิญอุปสรรคเครื่องกีดขวางลดน้อยลง เมื่อพยายามผลักดันร่างญัตติกฎหมายและข้อเสนอทางด้านการเงินซึ่งมีข้อโต้แย้งถกเถียงกันมากหรือไม่เป็นที่นิยมของประเชาชน ให้ผ่านสภาเลคโค
เวลาเดียวกัน ปักกิ่งก็กำลังถูกมองว่าตระบัดสัตย์กลืนคำพูดของตนเอง โดยเมื่อตอนประกาศเลื่อนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเลคโคครั้งต่อไป ซึ่งตามกำหนดดั้งเดิมจะมีขึ้นในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทว่าถูกชะลอออกไปด้วยเหตุผลว่ากำลังเกิดโรคระบาดใหญ่ โควิด-19 นั้น สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติระบุว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงที่กำลังดำรงตำแหน่งอยู่เวลานี้ทุกๆ คนจะได้รับการต่ออายุออกไปอีก 1 ปี ดังนั้นการถอดถอนล่าสุดจึงเป็นการเปิดโปงปักกิ่งให้ประสบกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์
ตอนนี้ ความวิตกกังวลครั้งใหม่ในหมู่พวกสมาชิกฝ่ายค้านทั้งหมดก็คือ พวกเขายังคงสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งปีหน้าได้หรือไม่ โดยที่รัฐบาลฮ่องกง สามารถอาศัยญัตติของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ ในการขับไสพวกเขาคนใดคนหนึ่งออกจากตำแหน่งก็ได้ตามใจชอบ โดยรวมไปถึงพวกสมาชิกสภาเขตซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกในค่ายฝ่ายค้าน หลังจากที่ฝ่ายนี้มีชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งระดับเขตเมื่อปี 2019
อีริค มาร์ (Eric Mar) อาจารย์ในคณะการปกครอง (School of Governance) ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University) บอกกับเอเชียไทมส์ว่า การบังคับให้สมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนออกจากตำแหน่ง จะกลายเป็นการบ่อนทำลายอาณัติของสภานิติบัญญัติฮ่องกงอย่างใหญ่โต เพราะมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ออกเสียงเลือกตั้งในนครแห่งนี้ ยังคงก่อรูปเป็นฐานสนับสนุนให้แก่กลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยอยู่ แต่เขาก็กล่าวต่อไปว่า ญัตติของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติดูเหมือนพุ่งเป้าหมายเล่นงานเพียงแค่ 4 คน และหาทางแยกพวกหัวรุนแรงเหล่านี้ออกมาจากสมาชิกสภาฝ่ายค้านที่เป็นฝ่ายกลางมากกว่า นอกจากนั้นญัตตินี้กระทั่งอาจจะต้องการสร้างความแตกแยกขึ้นมาในหมู่ฝ่ายค้านด้วยซ้ำ
“บางทีปักกิ่งคงรู้สึกผิดหวังเมื่อพวกฝ่ายค้านแทบทั้งหมดเลือกที่จะยกโขยงกันออกไปเพื่อแสดงการประท้วง เนื่องจากวิธีการของปักกิ่งนั้นมักทำอะไรหนักๆ แรงๆ กับพวกหัวรุนแรง ขณะพยายามดึงคนอื่นๆ ให้มาอยู่ทางข้างตน ... แผนการนี้ล้มเหลวไม่เป็นท่า และดังนั้นแม้กระทั่งสำนักงานติดต่อของปักกิ่งในฮ่องกงจึงออกมาโจมตีพวกสมาชิกสภานิติบัญญัติฝ่ายค้านคนอื่นๆที่ลาออกว่า “ทรยศต่อผู้ออกเสียงเลือกพวกเขา” นักวิชาการผู้นี้วิเคราะห์
มีบทความแสดงความเห็นชิ้นหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ใน เหลียนเหอ เจ่าเป้า (Lianhe Zaobao) หนังสือพิมพ์ภาษาจีนออกในสิงคโปร์ ก็ได้ชี้ให้เห็นถึงความวิตกห่วงใยเต่อฝ่ายค้านในฮ่องกง ซึ่งเวลานี้ออกมาอยู่ข้างนอกท่ามกลางความหนาวเย็นเสียแล้ว ขณะที่การเพิ่มทวีแรงต่อต้านมากขึ้นและกระทั่งทำให้เกิดความไม่สงบอาจจะกลายเป็นอะไรที่เกินเลยไป เนื่องจากเวลานี้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่ใช้กับฮ่องกง ได้ฟื้นฟูเสถียรภาพขึ้นมามากแล้ว และป้องปรามพวกผู้ก่อเหตุวุ่นวายส่วนใหญ่เอาไว้ได้
“ช่องทางเคลื่อนไหวสำหรับพวกหัวรุนแรงกำลังหดแคบลงเรื่อยๆ ปักกิ่งจะไม่หวั่นไหวไปตามน้ำหนักของปฏิกริยาตอบโต้จากฝ่ายตะวันตก และสภาเลคโคของฮ่องกงก็จะทำงานกันต่อไป ถึงแม้ว่าด้วยบทบาทที่อ่อนฤทธิ์เดชลงมา ... จากการมีสภาเลคโคที่ให้ความร่วมไม้ร่วมมือมากขึ้น เวลานี้จึงกลายเป็นหน้าที่ของรัฐบาลฮ่องกงที่จะต้องเสนอแนะนโยบายต่างๆ เพื่อจุดประกายการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความหวังของประชาชนขึ้นมาใหม่อีกครั้ง” บทความในหนังสือพิมพ์นี้กล่าว