คำประกาศถอนตัวออกจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) ของสหรัฐฯ เริ่มมีผลอย่างเป็นทางการในวันพุธ (4 พ.ย.) ซึ่งเป็นไปตามคำสัญญาของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการนำชาติผู้ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกออกจากข้อตกลงสากลซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ขณะที่ โจ ไบเดน ผู้สมัครชิงประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ประกาศพร้อมนำสหรัฐฯ กลับสู่ข้อตกลงทันทีหากได้เป็นผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่
ขณะที่ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 3 พ.ย. บ่งชี้ว่าทรัมป์อาจเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ล่าสุดไบเดนเริ่มแสดงบทบาทว่าที่ผู้นำคนใหม่ ด้วยการประกาศว่าปัญหาสภาพอากาศคือสิ่งที่รัฐบาลของเขาจะให้ความใส่ใจเป็นอันดับต้นๆ
“วันนี้รัฐบาลทรัมป์ได้ถอนตัวออกจากความตกลงปารีสอย่างเป็นทางการ แต่ในอีก 77 วันนับจากนี้ รัฐบาลไบเดนจะนำสหรัฐฯ กลับเข้าสู่ข้อตกลงนี้ใหม่” ไบเดนทวีตข้อความ โดยหมายถึงวันที่ 20 ม.ค. ซึ่งเป็นวันที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่จะเข้าพิธีสาบานตน
ไบเดนตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนของสหรัฐฯ ให้เหลือ ‘ศูนย์’ ภายในปี 2050 ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณราว 1.7 ล้านล้านดอลลาร์
ทางฝั่งทรัมป์นั้นสนับสนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลเต็มเหนี่ยว และยังตั้งคำถามกับทฤษฎีโลกร้อน รวมถึงกลับลำแนวทางปกป้องสิ่งแวดล้อมหลายอย่าง
รัฐบาลทรัมป์แจ้งความประสงค์ถอนตัวจากความตกลงปารีสเมื่อวันที่ 4 พ.ย. ปี 2019 และหากไบเดนจะนำสหรัฐฯ กลับเข้าร่วมอีกครั้งก็จะต้องแจ้งต่อองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) อย่างเป็นทางการ
แอนดรูว์ ไลท์ ที่ปรึกษาด้านสภาพอากาศของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา บอกกับเอเอฟพีว่ากระบวนการนี้ “ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก” และถึงแม้สหรัฐฯ จะยังไม่ได้ร่วมวงสนทนาในการประชุมซัมมิตสภาพอากาศยูเอ็นที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะกลับสู่ความร่วมมือกับนานาชาติ
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ชี้ว่า หากจะควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่ให้พุ่งเกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้ ทั่วโลกจำเป็นต้องลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือเป็น “ศูนย์” ภายในปี 2050
เป้าหมายที่ว่านี้ถูกกำหนดขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะด้านสภาพอากาศขั้นรุนแรง ซึ่งอาจทำให้มนุษยชาติต้องอพยพไปอาศัยอยู่ในแถบละติจูดตอนเหนือและใต้ของโลกเท่านั้น
นิคลาส ฮอห์น นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจากมหาวิทยาลัยวาเคอนิงเงิน (Wageningen University) ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่ม Climate Action Tracker ทวีตข้อความระบุว่า “แผนสภาพอากาศของ ไบเดนเพียงอย่างเดียวก็คาดว่าจะช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิได้ประมาณ 0.1 องศาเซลเซียส”
“ศึกเลือกตั้งครั้งนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนของนโยบายสภาพอากาศสากล เพราะทุกๆ 1 ใน 10 ขององศาเซลเซียสล้วนมีความหมาย” เขากล่าว
ที่มา : เอเอฟพี