ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่แผลงฤทธิ์รุนแรงอีกครั้งทำให้รัฐบาลยุโรปหลายประเทศต้องฟื้นมาตรการคุมเข้มและกำหนดมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจให้อยู่รอด ขณะที่ผู้นำทั่วโลกยังคงเผชิญความยากลำบากในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสที่แทบไม่ส่งสัญญาณเบาบางลง
ฝรั่งเศส, โปแลนด์, รัสเซีย, สวีเดน, สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศล้วนมีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ฤดูหนาวในซีกโลกเหนือซึ่งกำลังจะมาถึงยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายของโควิด-19 เนื่องจากประชาชนจะหันมาทำกิจกรรมในอาคารกันมากขึ้น
จากฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกเวลานี้พุ่งสูงกว่า 44.3 ล้านคน เสียชีวิตแล้วกว่า 1.17 ล้านคน โดยสหรัฐฯ ยังคงรั้งแชมป์อันดับ 1 ด้วยจำนวนผู้ป่วยกว่า 8.8 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตราว 227,000 คน
ตัวเลขล่าสุดขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (27ต.ค.) ระบุว่า ยุโรปพบผู้ติดเชื้อใหม่ 1.3 ล้านรายในช่วง 7 วันที่ผ่านมา หรือเกือบครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 2.9 ล้านคนทั่วโลก ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 11,700 คน เพิ่มขึ้นจากหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้านี้ถึง 37%
ชาวอิตาลีนับพันคนได้ออกมาชุมนุมประท้วงตามท้องถนนในวันจันทร์ (26) เพื่อปลดปล่อยความโกรธเกรี้ยว หลังจากที่รัฐบาลสั่งฟื้นมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งรวมถึงคำสั่งปิดบาร์และร้านอาหาร โดยที่เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจอย่างมิลานมีกลุ่มวัยรุ่นขว้างปาระเบิดเพลิงใส่ตำรวจจนทำให้เจ้าหน้าที่ต้องยิงแก๊สน้ำตาตอบโต้ ส่วนที่เมืองตูรินผู้ประท้วงได้ทุบกระจกและเข้าไปปล้นชิงทรัพย์สินภายในร้านค้า จนนำมาสู่การจับกุมผู้ก่อจลาจล 10 คน
กระทรวงสาธารณสุขอิตาลีรายงานยอดผู้ติดเชื้อใหม่ 21,994 คนในรอบ 24 ชั่วโมงเมื่อวันอังคาร (27) และมีผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม 221 คน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ยอดผู้เสียชีวิตรายวันพุ่งเกิน 200 คนตั้งแต่ช่วงกลางเดือน พ.ค.
โควิด-19 คร่าชีวิตผู้ป่วยในสหราชอาณาจักรเพิ่มอีก 367 คนในวันอังคาร (27) ซึ่งถือเป็นตัวเลขผู้เสียชีวิตรายวันสูงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือน พ.ค. ขณะที่ยอดผู้ป่วยสะสมล่าสุด ณ วันที่ 28 ต.ค. อยู่ที่ 945,367 คน เสียชีวิต 45,765 คน
อีวอนน์ ดอยล์ ผู้อำนวยการฝ่ายการป้องกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ เตือนว่าแนวโน้มการเสียชีวิตกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งหลังจากที่แผ่วลงในช่วงฤดูร้อน และคาดว่าจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง
สถานการณ์การแพร่ระบาดในสหราชอาณาจักรสอดคล้องกับอีกหลายชาติในยุโรป โดยเฉพาะ ‘ฝรั่งเศส’ และ ‘เยอรมนี’ ซึ่งล่าสุดได้มีคำสั่งล็อกดาวน์ประเทศอีกครั้งในวันพุธ (28)
ผู้ติดเชื้อสะสมของฝรั่งเศส ณ วันที่ 28 ต.ค. อยู่ที่ประมาณ 1.28 ล้านคน รั้งอันดับที่ 5 ของโลกรองจากสหรัฐฯ อินเดีย บราซิล และรัสเซีย ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อใหม่เคยพุ่งสูงถึง 52,010 คนในวันอาทิตย์ (25) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดในประเทศ
ภายใต้มาตรการใหม่ของฝรั่งเศสซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันศุกร์ (30) ประชาชนจะถูกบังคับให้อยู่แต่ในที่พักอาศัย เว้นแต่ออกมาซื้อข้าวของที่จำเป็น ไปพบแพทย์ หรือออกกำลังกายไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน และจะได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานได้ หากว่านายจ้างเล็งเห็นแล้วว่าเป็นไปไม่ได้ที่พนักงานเหล่านั้นจะสามารถทำงานจากที่บ้าน อย่างไรก็ตาม สถาบันการศึกษาต่างๆ ยังคงเปิดการเรียนการสอนต่อไป
ใครก็ตามที่ออกจากที่พักอาศัยในฝรั่งเศส เวลานี้จำเป็นต้องมีเอกสารแสดงความชอบธรรมติดตัวมาด้วย เพื่อให้ตำรวจทำการตรวจสอบ
ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังจากฝรั่งเศสพบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 36,000 คนต่อวัน
ส่วนที่เยอรมนีจะมีการปิดบาร์ ร้านอาหาร และโรงภาพยนตร์ตั้งแต่วันที่ 2-30 พ.ย. เป็นต้นไป ภายใต้มาตรการที่เห็นพ้องกันระหว่างนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล กับผู้นำรัฐต่างๆ อย่างไรก็ตามโรงเรียนจะยังคงเปิดการเรียนการสอน และร้านค้าจะได้รับอนุญาตให้เปิดทำการภายใต้ข้อจำกัดอันเข้มข้น
แมร์เคิล ระบุว่า รัฐบาลจำเป็นต้องตอบสนองวิกฤตในทันที และด้วยความเร็วของการแพร่ระบาดในปัจจุบัน ระบบสาธารณสุขเยอรมนีอาจรับไม่ไหวในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ส่วน เยนส์ สปาห์น รัฐมนตรีสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า "หากเรารอจนกระทั่งห้องไอซียูเต็มก่อน มันก็จะสายเกินไป"
เจ้าหน้าที่เมืองเบียร์ยอมรับว่า อัตราการแพร่เชื้อที่สูงขึ้นในเกือบทุกภูมิภาคทำให้หน่วยงานสาธารณสุขไม่สามารถสอบสวนโรคด้วยวิธีติดตามบุคคลใกล้ชิดได้อีกต่อไป และมีความจำเป็นที่จะต้องลดการพบปะสังสรรค์ระหว่างประชาชน โดยหวังว่าข้อจำกัดเหล่านี้จะไม่ต้องถูกบังคับใช้ไปจนถึงเทศกาลคริสต์มาส
เยอรมนีเคยได้รับเสียงชื่นชมว่ามีอัตราการแพร่เชื้อโควิดต่ำกว่าประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ในช่วงแรก ทว่าเวลานี้มาตรการที่เคยใช้มาดูเหมือนจะไม่ได้ผล และยอดผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยวันละกว่า 10,000 คน
ปีเตอร์ อัลต์ไมเออร์ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจเยอรมนี คาดการณ์ว่ายอดผู้ป่วยรายวันจะแตะระดับ 20,000 คนภายในช่วงปลายสัปดาห์นี้
เบลเยียมซึ่งมีประชากร 11.5 ล้านคนมีผู้ติดเชื้อใหม่เฉลี่ยวันละประมาณ 13,000 คนตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งยุโรป (ECDC) เผยว่าอัตราการติดเชื้อต่อหัวประชากรในเบลเยียมอยู่ที่ 1,390 ต่อประชากร 100,000 คน สูงเป็นอันดับ 1 ของยุโรป
อีฟส์ ฟอน แลเทม โฆษกศูนย์รับมือวิกฤตโควิด-19 ของเบลเยียม เตือนว่า หากชาวเบลเยียมยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หอผู้ป่วยหนักในโรงพยาบาลจะมีผู้ป่วยเต็ม 2,000 คนซึ่งเป็นศักยภาพสูงสุดที่รองรับได้ภายในอีก 15 วันข้างหน้า
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าบุคลากรทางการแพทย์ในเมืองลีแยฌ (Liege) เมืองใหญ่อันดับ 3 ของเบลเยียม ถูกขอร้องให้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลคนไข้ต่อไปแม้ตนเองจะติดเชื้อโควิด ตราบใดที่ยังไม่แสดงอาการป่วยออกมา
รัสเซียมีคำสั่งให้พลเมืองทั่วประเทศสวมหน้ากากในที่สาธารณะ และขอให้หน่วยงานท้องถิ่นพิจารณาความจำเป็นในการสั่งปิดบาร์และร้านอาหารยามค่ำคืนเพื่อชะลอการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังยอดผู้ติดเชื้อรายวันยังคงสูงถึง 16,202 รายในวันพุธ (28) ขณะที่ ทาเทียนา โกลิโควา รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย ยอมรับว่าเตียงคนไข้ตามโรงพยาบาลต่างๆ รองรับผู้ป่วยแล้ว 90% ของความจุทั้งหมดใน 16 ภูมิภาคของประเทศ
ทางด้านสหรัฐฯ มีผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลพุ่งสูงสุดในรอบ 2 เดือน ขณะที่รอยเตอร์รายงานเมื่อวันพุธ (28) ว่าในช่วง 7 วันที่ผ่านมามีประชากรอเมริกันติดโควิดเกือบ “ครึ่งล้าน”
ในช่วง 1 สัปดาห์สุดท้ายก่อนศึกเลือกตั้ง 3 พ.ย. ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งดูเบาความรุนแรงของไวรัสมาตลอดได้ทวีตโจมตีสื่ออีกหนเมื่อวันอังคาร (27) ว่า “พวกสื่อเฟคนิวส์จะยังคงพล่ามเรื่องโควิด โควิด โควิด ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงวันที่ 4 พ.ย.” และอ้างโดยไม่แสดงหลักฐานยืนยันตามเคยว่า “เรากำลังใกล้จะผ่านพ้นโรคระบาดแล้ว 99.9%”
จนถึงตอนนี้ทั่วโลกยังไม่มีวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ผ่านการรับรองประสิทธิภาพและความปลอดภัยในระดับนานาชาติ และแม้รัสเซียจะเป็นประเทศแรกในเดือน ส.ค. ที่อนุมัติรับรองการใช้วัคซีนตัวหนึ่ง แต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ยังคงไม่ให้ความเชื่อถือ เนื่องจากวัคซีนที่ว่านี้ผ่านกระบวนการทดสอบในคนด้วยระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน
ความหวังในการเอาชนะโควิด-19 ดูจะมืดมนลงไปอีก เมื่อมีงานวิจัยใหม่ของ Imperial College London ที่พบว่า แอนติบอดีหรือสารภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อต่อต้านเชื้อโควิด-19 ในหมู่ประชากรอังกฤษลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงฤดูร้อน ซึ่งหมายความว่าการมีภูมิคุ้มกันภายหลังติดเชื้ออาจจะไม่ยาวนานอย่างที่หลายคนคิด อีกทั้งผู้ป่วยที่หายจากโรคนี้ยังมีโอกาสที่ประสิทธิภาพการทำงานของสมองจะลดลงด้วย
อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ผลิตยา แอสตราเซเนกา พีแอลซี ได้ประกาศข่าวดีในสัปดาห์นี้ว่า วัคซีน AZD1222 ที่คิดค้นพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดให้ผลในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันทั้งในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ
สหภาพยุโรป 27 ประเทศได้ทำข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีนมากกว่า 1,000 ล้านโดสจากผู้พัฒนาวัคซีน 3 ราย และกำลังเจรจาสั่งซื้อเพิ่มเติมอีก 1,000 ล้านโดสจากผู้ผลิตรายอื่นๆ แต่ถึงกระนั้นเจ้าหน้าที่อียูก็เตือนว่า กว่าประชากรยุโรป 450 ล้านคนจะได้รับวัคซีนโควิด-19 กันอย่างถ้วนหน้าก็อาจต้องรอไปจนถึงปี 2022
ย้อนมาทางฝั่งเอเชีย ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันในจีนแผ่นดินใหญ่กลับมาพุ่งถึง 42 รายในวันอังคาร (27) ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบกว่า 2 เดือน หลังพบผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการกลุ่มใหญ่ที่เมืองคัชการ์ในเขตปกครองตนเองซินเจียง ส่วนอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 43,893 คนในวันพุธ (28) รวมจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 7.99 ล้านคน
แม้ยอดผู้ป่วยรายวันในอินเดียจะลดลงมากหลังจากที่เคยพุ่งทำสถิติสูงสุดวันละเกือบแสนคนในเดือน ก.ย. แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าตัวเลขอาจดีดกลับอีกครั้งในช่วงเทศกาลทุรคาบูชาและดิวาลีซึ่งจะมีขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
อินโดนีเซียยังคงรั้งแชมป์อาเซียนด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 400,000 คน โดยในวันพุธ (28) มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นถึง 4,029 คนในรอบ 24 ชั่วโมง ส่วนยอดผู้เสียชีวิตในขณะนี้อยู่ที่ราวๆ 13,600 คน
ฟิลิปปินส์พบผู้ติดเชื้อใหม่ 2,053 คนในวันพุธ (28) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยสะสมขยับเป็น 375,180 คน ส่วนที่มาเลเซียสถานการณ์กลับมาน่าเป็นห่วงอีกครั้งภายหลังพบการระบาดระลอกที่สอง โดยมีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ทุบสถิติ 1,240 คนเมื่อวันจันทร์ (26) ขณะที่จำนวนผู้ป่วยสะสมพุ่งเฉียด 30,000 คน และรัฐบาลได้ตัดสินใจขยายมาตรการล็อกดาวน์บางส่วนในกรุงกัวลาลัมเปอร์และรัฐสลังงอร์ต่อไปอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์