xs
xsm
sm
md
lg

อิตาลีฮือประท้วงต้านแผนสกัดไวรัส ยอดติดเชื้ออินเดียจ่อทะลุ 8 ล้านคน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ตำรวจใช้เครื่องฉีดน้ำความดันสูงขับไล่ผู้ประท้วง ท่ามกลางกลุ่มควันฟุ้งกระจาย ในระหว่างการประท้วงในกรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อคืนวันอังคาร (27 ต.ค.) เพื่อคัดค้านมาตรการเข้มขวดที่รัฐบาลนำมาใช้เพื่อสกัดการกระจายของโควิด-19 ซึ่งกำลังรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้รัฐบาลสั่งปิดโรงยิม, สระว่ายน้ำ, และโรงภาพยนตร์ รวมทั้งให้พวกคาเฟ่และร้านอาหารปิดเร็วขึ้น เป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน
ตำรวจอิตาลียิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านมาตรการสกัดโควิด เป็นคืนที่ 2 เมื่อวันอังคาร (27 ต.ค.) ขณะที่ข้อมูลการค้าและการลงทุนทั่วโลกตอกย้ำผลกระทบรุนแรงต่อภาวะเศรษฐกิจจากวิกฤตโรคระบาดที่กลับมาเล่นงานยุโรปงอมพระรามรอบสอง ส่วนที่อินเดีย ยอดผู้ติดเชื้อสะสมจ่อหลัก 8 ล้านคน และจีนพบเคสใหม่รายวันมากที่สุดในรอบกว่า 2 เดือน


ชาวอิตาลีนับพันคนชุมนุมประท้วงเป็นวันที่ 2 ในหลายเมืองและปะทะกับตำรวจ ขณะที่ผู้ค้าขายและพนักงานจำนวนมากกลัวว่า การระบาดระลอกสองกำลังจะทำให้เศรษฐกิจสะบักสะบอมพอๆ กับยอดผู้ติดเชื้อที่พุ่งทะยาน

ผู้ประท้วงเหล่านี้ต่างไม่พอใจคำสั่งให้ลดเวลาทำการของร้านอาหารและธุรกิจอื่นๆ การชุมนุมบางแห่งกลายเป็นความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิลานและตูรินเมื่อคืนวันจันทร์ (26) ที่หนุ่มสาวขว้างระเบิดขวดน้ำมันและก้อนหินใส่รถตำรวจ และทุบทำลายกระจกหน้าร้านค้า

ต่อมาในวันอังคาร รัฐบาลอิตาลีประกาศมาตรการเยียวยามูลค่า 5,900 ล้านดอลลาร์แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ซึ่งรวมถึงร้านอาหาร คนขับแท็กซี่ และสถานที่จัดแสดงความบันเทิงสด

กระนั้น กระแสความไม่พอใจในอิตาลีและประเทศอื่นๆ ในยุโรปที่กำลังกลายมาเป็นศูนย์กลางโรคระบาดโควิด-19 ของโลกอีกครั้ง ชัดเจนมากในหมู่เจ้าของธุรกิจและประชาชนที่ต้องถูกบังคับภายใต้มาตรการสกัดไวรัสอีกหนขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น

วันเดียวกันนั้น องค์การการท่องเที่ยวโลกในสังกัดสหประชาชาติ (ยูเอ็น) รายงานว่า การท่องเที่ยวปีนี้ดิ่งลง 70% หรือเท่ากับรายได้หายไป 730,000 ล้านดอลลาร์ และอังก์ถัด หน่วยงานด้านการค้าและการพัฒนาของยูเอ็น ระบุว่า ยอดการลงทุนโดยตรงของต่างชาติในทั่วโลกมีแนวโน้มตกลง 40% ในปีนี้

นอกจากนั้นสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา) ยังคาดว่า อุตสาหกรรมสายการบินทั่วโลกจะมีรายได้ลดลง 46% ในปีหน้า

ต้นเหตุสำคัญของแนวโน้มเศรษฐกิจที่น่าหดหู่นี้คือการระบาดของไวรัสโคโรนาที่ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 1.1 ล้านคนทั่วโลก

ที่ฝรั่งเศส หนึ่งในประเทศที่มีการระบาดรุนแรงที่สุด โรงพยาบาลหลายแห่งเตือนว่า ผู้ป่วยกำลังจะล้นเกินกว่าจะรับไหวในไม่กี่วันข้างหน้า

กิลส์ เปียลูซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อเมืองน้ำหอม ระบุว่า สถานการณ์การระบาดอยู่นอกเหนือการควบคุมแล้วและเร่งให้รัฐบาลประกาศมาตรการล็อกดาวน์

วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (25) ฝรั่งเศสพบเคสใหม่รายวันทำสถิติสูงสุดใหม่ นั่นคือ 52,010 คนในรอบ 24 ชั่วโมง

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ที่มีกำหนดปราศรัยช่วงค่ำวันพุธ (28) อาจขยายเวลาคำสั่งเคอร์ฟิวที่ใช้อยู่ และอาจล็อกดาวน์ทั่วประเทศในช่วงสุดสัปดาห์หรือล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงที่สุด

ข้ามมาทางฟากเอเชียเมื่อวันพุธ อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดอันดับ 2 ของโลก รองจากอเมริกา รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในรอบ 24 ชั่วโมง 43,893 คน รวมจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 7.99 ล้านคน

แม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลงอย่างมากนับจากพุ่งทำสถิติสูงสุดในเดือนกันยายน แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ตัวเลขอาจดีดกลับอีกครั้งระหว่างเทศกาลทางศาสนาที่กำลังจะมีขึ้น

ด้านจีน พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 42 คน ซึ่งถือเป็นสถิติรายวันสูงสุดในรอบกว่า 2 เดือน ในจำนวนนี้ 22 คนอยู่ในเมืองคัชการ์ของเขตปกครองซินเจียง และเป็นกลุ่มที่ก่อนหน้านี้ตรวจพบติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังพบผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการอีก 19 คน

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเมืองคัชการ์เผยว่า ได้ตรวจประชาชน 4.75 ล้านคนครบแล้วเมื่อบ่ายวันอังคาร และพบผู้ติดเชื้อ 183 คน ซึ่งเชื่อมโยงกับโรงงานสิ่งทอแห่งหนึ่งในเมืองนี้

(ที่มา : เอเอฟพี/รอยเตอร์/เอพี)

คนขับรถแท็กซี่ถือผืนผ้าเขียนข้อความภาษาอิตาลีว่า “ปิดกันหมดแท็กซี่ก็ตาย #คุณปิดคุณก็ต้องจ่ายเงินให้ผม” ระหว่างการประท้วงมาตรการเข้มงวดมุ่งสกัดโควิด-19 ของรัฐบาล ที่กรุงโรม วันอังคาร (27 ต.ค.)

พวกขายของตามท้องถนนประท้วงมาตรการสกัดโควิด-19 ของรัฐบาล ที่บริเวณด้านนอกสำนักงานใหญ่แคว้นลอมบาร์ดี ในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี วันอังคาร (27 ต.ค.)

กลุ่มควันฟุ้งกระจายขณะเกิดการปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจ ในการประท้วงต่อต้านมาตรการสกัดโควิด-19 ของรัฐบาลอิตาลี ที่เมืองตูริน เมื่อวันจันทร์ (26 ต.ค.)
กำลังโหลดความคิดเห็น