เอเจนซีส์ - ฝรั่งเศส-เยอรมนี สั่งล็อกดาวน์ทั่วประเทศอีกครั้ง หลังไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กลับมาติดต่อรุนแรงรอบสองทั่วยุโรป ขณะที่ฤดูหนาวกำลังย่างมาถึง แหล่งข่าวเผยผู้นำอียูนัดหมายประชุมสุดยอดผ่านระบบวิดีโอในวันพฤหัสฯ (29 ต.ค.) เพื่อหารือและปรับปรุงความร่วมมือในการจัดการวิกฤตโรคระบาด
ตลาดหุ้นทั่วโลกชวนกันเข้าสู่แดนลบ จากข่าวเยอรมนี กับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสองประเทศใหญ่สุดของยุโรป ออกมาตรการจำกัดเข้มงวดกิจกรรมของประชาชนเพื่อสกัดโรคระบาดทั่วประเทศรอบใหม่
ประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส แถลงถ่ายทอดสดทางทีวีเมื่อวันพุธ (28) ว่า ไวรัสโคโรนาระบาดอย่างรวดเร็วกว่าฉากทัศน์อย่างเลวร้ายที่สุดซึ่งคาดกันเอาไว้ ทำให้ฝรั่งเศสตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเพื่อนบ้าน คือ เข้าสู่การระบาดรอบสองที่หนักกว่าและอันตรายกว่ารอบแรก และรัฐบาลจำเป็นต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อหยุดยั้งการระบาดอีกครั้ง
ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ของฝรั่งเศสรอบใหม่นี้ที่จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันศุกร์ (30) จนถึงวันที่ 1 ธันวาคม เป็นอย่างน้อยนั้น ประชาชนจะต้องกักตัวอยู่ในบ้าน แต่สามารถออกไปซื้อข้าวของจำเป็น พบแพทย์ หรือออกกำลังกายได้วันละ 1 ชั่วโมง และออกไปทำงานได้หากนายจ้างเห็นว่า งานนั้นทำจากที่บ้านไม่ได้ ส่วนโรงเรียนยังให้เปิดตามปกติ
ผู้ที่จะออกจากบ้านจะต้องมีแบบฟอร์มรับรองซึ่งตำรวจอาจขอเรียกตรวจ
สำหรับเยอรมนี จะปิดบาร์ ร้านอาหาร และโรงภาพยนตร์ระหว่างวันที่ 2-30 พฤศจิกายน ขณะที่โรงเรียนยังเปิดตามเดิม ส่วนร้านค้าจะอนุญาตให้เปิดได้โดยจำกัดจำนวนลูกค้าในแต่ละรอบ และยังไม่มีคำสั่งให้ประชาชนกักตัวอยู่บ้าน
นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี แถลงว่า แม้ระบบสาธารณสุขเวลานี้ยังรับมือความท้าทายนี้ได้ แต่ด้วยอัตราความเร็วในการระบาดปัจจุบัน หากยังไม่เพิ่มการป้องกันแล้ว มีแนวโน้มว่า ภายในไม่กี่สัปดาห์จำนวนผู้ป่วยอาจล้นเกินขีดจำกัดความสามารถในการรองรับ
ทั้งนี้ ฝรั่งเศสเวลานี้พบผู้ติดเชื้อวันละกว่า 36,000 คน ส่วนเยอรมนีซึ่งสถานการณ์เคยเบากว่าเพื่อนบ้านในช่วงการระบาดเมื่อต้นปี รอบนี้กลับพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเช่นเดียวกัน
แม้ผู้นำหลายชาติพยายามหลีกเลี่ยงมาตรการล็อกดาวน์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ แต่การบังคับใช้มาตรการจำกัดครั้งใหม่สะท้อนสถานการณ์การระบาดที่หนักหน่วงในยุโรป ตั้งแต่สเปน ฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซีย โปแลนด์ จนถึงบัลแกเรีย
ทาเทียนา โกลิโควา รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย เปิดเผยเมื่อวันพุธว่า เตียงคนไข้ใน 16 แคว้น ขณะนี้รองรับผู้ป่วยแล้วถึง 90% ขณะที่เจ้าหน้าที่เตือนว่า แม้แต่ระบบสาธารณสุขที่มีอุปกรณ์ครบครันอย่างในฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ ยังอาจถึงจุดที่ไม่สามารถรับมือได้ภายในไม่กี่วัน
นอกจากนั้น ความหวังที่โลกจะมีวิธีรักษาหรือสกัดการระบาดยังดูมืดมน โดยที่ เคต บิงแฮม หัวหน้าทีมเฉพาะกิจในการจัดหาวัคซีนของสหราชอาณาจักร ออกมาเตือนว่า วัคซีนเวอร์ชันแรกๆ อาจจะยังมีประสิทธิภาพที่ไม่สมบูรณ์
ในข้อเขียนของบิงแฮมซึ่งเผยแพร่ทางวารสารทางการแพทย์ “แลนสิท” ที่มีชื่อเสียงมาก เธอบอกว่า “วัคซีนรุ่นแรกๆ น่าที่จะไม่สมบูรณ์ และเราควรเตรียมตัวเอาไว้ว่าวัคซีนเหล่านี้อาจจะไม่ได้ป้องกันการติดต่อ แต่จะลดอาการต่างๆ และกระทั่งในกรณีเช่นนั้น ก็อาจจะใช้ไม่ได้ผลกับทุกๆ คนหรือใช้ไม่ได้ผลอย่างยาวนาน”
เวลานี้ยังไม่มีวัคซีนที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ต่อสู้กับไวรัสโคโรนาไมว่าชนิดใดๆ โดยที่ความพยายามของหลายต่อหลายฝ่ายที่จะจัดทำวัคซีนขึ้นมาป้องกันโรคซาร์ส (SARS ย่อมาจาก Severe Acute Respiratory Syndrome โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง) และโรคเมอร์ส (MERS ย่อมาจาก Middle East Respiratory Syndrome กลุ่มอาการโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง) ซึ่งก็เป็นเชื้อไวรัสโคโรนาเช่นกันนั้น ล้วนประสบความล้มเหลว
นอกจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ยังเตือนว่า ภูมิคุ้มกันต่อสู้ไวโรโคโรนานั้น ดูเหมือนสามารถจางหายไปได้เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ดังนั้น ความสำเร็จของการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการกระตุ้นจากวัคซีนใดๆ ขึ้นมา เพื่อให้สามารถป้องกันการติดเชื้อหรือทำให้เชื้อไม่แสดงอาการรุนแรง จึงอาจจะเป็นความท้าทายอย่างมาก
ความเห็นเช่นนี้ของบิงแฮมปรากฏขึ้นมา ขณะพวกผู้นำรัฐบาลทั้งในสหราชอาณาจักรและประเทศอื่นๆ กำลังกำหนดยุทธศาสตร์โควิด-19 ของพวกตนโดยอิงอยู่กับความคาดหวังที่จะมีวัคซีนออกมาให้ใช้กันได้อย่างกว้างขวางพอสมควรประมาณต้นปีหน้า
ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) เพิ่งแถลงในวันอังคาร (27) ที่ผ่านมา ว่า ยุโรปมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านคน ในรอบ 7 วัน เท่ากับเกือบครึ่งหนึ่งของเคสใหม่ทั่วโลก 2.9 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 11,700 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 37%
ล่าสุด ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อกว่า 42 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 1.1 ล้านคน
รัฐบาลทั่วยุโรปกำลังถูกโจมตีเรื่องที่ไม่ยอมร่วมมือกัน รวมทั้งไม่ฉวยคว้าโอกาสจากการที่สถานการณ์การระบาดสงบลงในช่วงฤดูร้อนเพื่อดำเนินแนวทางป้องกัน แต่กลับปล่อยให้โรงพยาบาลต่างๆ อยู่ในสภาพไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือการระบาดรอบสอง
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวในยุโรปเผยว่า พวกผู้นำของสหภาพยุโรป จะประชุมสุดยอดผ่านระบบวิดีโอในวันพฤหัสบดี เพื่อหารือและปรับปรุงความร่วมมือในการจัดการวิกฤตโรคระบาด
นับจากสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการปะทะระหว่างตำรวจกับผู้ประท้วงหลายครั้งในหลายเมืองของอิตาลี จากความไม่พอใจของผู้ประกอบการและประชาชนต่อมาตรการล็อกดาวน์ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
สำหรับที่อินเดีย รายงานที่ออกมาในวันพฤหัสฯ ระบุว่า ประเทศที่เผชิญการระบาดรุนแรงอันดับ 2 ของโลกแห่งนี้ มีผู้ติดเชื้อสะสมเกิน 8 ล้านคนแล้ว
(ที่มา: เอเอฟพี/รอยเตอร์/เอพี)