xs
xsm
sm
md
lg

‘ปักกิ่ง’เร่งเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์กับชาติเพื่อนบ้านด้วย ‘การทูตวัคซีน’

เผยแพร่:   โดย: แฟรงค์ เฉิน


ตัวอย่างของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่พัฒนาโดย ซิโนวัค ไบโอเทค ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน (ภาพของสำนักข่าวซินหัว ซึ่งเผยแพร่บนเฟซบุ๊ก)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)

Beijing ramps up vaccine diplomacy for neighbors
By FRANK CHEN
19/10/2020

จีนต้องการแสดงให้โลกเห็นว่า ตนรักษาคำมั่นสัญญาที่จะจัดส่งวัคซีนซึ่งพัฒนาขึ้นภายในแดนมังกรให้แก่ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะพวกชาติเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ปักกิ่งกำลังเปิดฉากรุกเพื่อเรียกคะแนนนิยม ด้วยการบริจาควัคซีนป้องกันโควิด-19 ของตนซึ่งกำลังทยอยผลิตออกมา ไปให้แก่พวกประเทศเพื่อนบ้านที่ยังคงเผชิญความเสี่ยงจากโรคระบาดมรณะชนิดนี้ ทั้งนี้ภายหลังภาพลักษณ์ของประเทศจีนต้องแปดเปื้อนจากการที่ไวรัสชนิดนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในนครอู่ฮั่น

เหล่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น่าจะกลายเป็นผู้รับวัคซีนนี้เป็นรายแรกๆ โดยอย่างเร็วที่สุดอาจจะเริ่มต้นกันได้ตั้งแต่เดือนหน้า ทั้งนี้เมื่อถึงเวลานั้น พวกผู้ผลิตยาเวชภัณฑ์ของจีนจะสามารถสรุปผลการทดลองขั้นสุดท้ายในต่างแดนหลายๆ ประเทศ ในเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีนหลายๆ ตัวของพวกเขา

หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐ และรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ได้กล่าวย้ำให้สัญญาอีกครั้งตอนช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เรื่องที่จีนจะบริจาคและแบ่งปันแลกเปลี่ยนโปรแกรมวัคซีนนี้ ขณะปิดฉากทริปการตระเวนเดินทางเยือนหลายชาติสมาชิกอาเซียนอย่างรวดเร็ว อันได้แก่ กัมพูชา, ลาว, ไทย, มาเลเซีย, และสิงคโปร์ รวมทั้งการพูดคุยแบบพบปะพบหน้ากันจริงๆ กับพวกเจ้าหน้าที่อาวุโสจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ในมณฑลอิ๋ว์นหนาน (ยูนนาน) ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของแดนมังกร

ปักกิ่งมีความกระตือรือร้นที่จะเพิ่มพูนความสัมพันธ์กับชาติเหล่านี้ ตั้งแต่ที่โรคระบาดใหญ่คราวนี้ได้ทำให้ชื่อเสียงของจีนย่ำแย่ และโครงการความร่วมมือต่างๆ ก็เผชิญความกังขา

นอกจากนั้นปักกิ่งยังต้องการให้ทั่วโลกมองเห็นว่า ตนกระทำตามสัญญาที่ได้ให้ไว้ ในเรื่องที่จะซัปพลายวัคซีนซึ่งพัฒนาขึ้นเองในแดนมังกร ให้เป็น “สินค้าสาธารณะของทั่วโลก” หลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ให้คำมั่นแก่บรรดาประเทศในโลกกำลังพัฒนาถึงความช่วยเหลือจากปักกิ่ง เมื่อตอนที่เขากล่าวปราศรัยต่อสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเกี่ยวกับโควิด-19 ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนสิงหาคม นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ก็ได้เน้นย้ำถึงเรื่องความร่วมมือกันทางด้านวัคซีน ระหว่างใช้ความพยายามเพื่อสมานสายสัมพันธ์ที่มีอยู่กับอาเซียน หลี่ยังทำให้พวกผู้สังเกตการณ์คาดเดากันอย่างคึกคัก ด้วยการแสดงท่าทีเป็นนัยๆ ถึงความเป็นไปได้ที่จะบริจาควัคซีนให้แก่ ไทย, ลาว, กัมพูชา, และพม่า

ก่อนหน้านี้ในเดือนตุลาคมนี้ ที่เมืองเถิงชง มณฑลยูนนาน หวังได้พบหารือกับผู้แทนของประธานาธิบดีโจโค วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย และมีการเปิดเผยโดยหนังสือพิมพ์รายวัน หมิงเป้า (Ming Pao) ของฮ่องกง และ เหลียนเหอ เจ่าเป้า (Lianhe Zaobao) ของสิงคโปร์ว่า ปักกิ่งได้ตกลงที่จะให้วัคซีนไม่ต่ำกว่า 100,000 โดส ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้ แก่แดนอิเหนา ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในอาเซียน และก็กำลังมีเคสผู้ป่วยด้วยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สูงที่สุดในภูมิภาค

ข่าวระบุว่า ปักกิ่งยังบอกจะกันวัคซีนเอาไว้จำนวนระหว่าง 15-20 ล้านโดสเพื่อส่งให้แก่อินโดนีเซียเป็นสำคัญในปี 2021 ในเงื่อนไขที่ว่าพวกบริษัทผลิตยาของจีนสามารถที่จะทำการผลิตออกมาได้เพิ่มมากขึ้นในปีหน้า

เหลียนเหอ เจ่าเป้า อ้างคำพูดของ หวัง ที่กล่าวว่า ด้วยศักยภาพของโรงงานผลิตของแดนอิเหนา และด้วยการที่จีนจะแบ่งปันเรื่องส่วนผสมและเทคโนโลยีให้ อินโดนีเซียก็สามารถที่จะกลายเป็นซัปพลายเออร์รายหลักของวัคซีนในภูมิภาค

หวัง ยังได้ต้อนรับ รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ เทโอโดโร ลอคซิน (Teodoro Locsin) ในยูนนาน หลังจากที่ประธานาธิบดีโรดริโก ดุเตอร์เต รบเร้า สี ให้แบ่งปันวัคซีนแก่แดนตากาล็อก โดยที่อาสาจะอ่อนข้อให้ในเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์ของฟิลิปปินส์เหนือดินแดนพิพาทในทะเลจีนใต้

อย่างไรก็ดี จาง หมิงเหลียง (Zhang Mingliang) อาจารย์ของศูนย์เพื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยจี๋หนาน (Jinan University’s Center for Southeast Asia Studies) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองกว่างโจว กล่าวว่า ตรงกันข้ามการที่มีบางคนตีความว่าวัคซีนของปักกิ่งอาจมาพร้อมกับมีเบ็ดติดอยู่ตรงปลาย และพวกผู้รับความช่วยเหลืออย่างเช่นฟิลิปปินส์จะต้องยินยอมอ่อนข้อในเรื่องจุดยืนเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ ปักกิ่งนั้น “ไม่ได้ไร้เดียงสาถึงขนาดนั้น” ที่จะไปวาดหวังว่าการแสดงท่าทีเห็นอกเห็นใจและส่งวัคซีนให้ จะสามารถปิดปากหรือกระทั่งสามารถชักชวนเกลี้ยกล่อมพวกประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้อย่างยืนกรานแข็งขันแบบฟิลิปปินส์ เปลี่ยนแปลงจุดยืนของพวกเขาได้

“ปักกิ่งมุ่งเล็งผลในทางปฏิบัติ และเข้าใจดีว่าการแบ่งปันตลอดจนการบริจาคของปักกิ่งอาจจะไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อประเด็นเฉพาะเจาะจง อย่างเรื่องทะเลจีนใต้ หรือเรื่องพวกโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” จาง กล่าว

“ผลดีเลิศที่สุดซึ่งวัคซีนเหล่านี้อาจทำให้เกิดขึ้นมาได้ คือการทำให้ไมตรีจิตความปรารถนาดีของปักกิ่งกลายเป็นสิ่งที่มีเนื้อหาสาระ ในขณะที่สหรัฐฯกำลังพยายามตอกลิ่มสร้างความแตกแยกเหินห่างระหว่างจีนกับอาเซียน”

จางกล่าวต่อไปว่า พวกประเทศผู้รับนั้นอย่างเก่งที่สุดก็อาจจะลดระดับถ้อยคำวาจาของพวกเขาลง
และไม่สร้างความขุ่นเคืองให้ปักกิ่งมากเกินไปนัก ขณะที่เรื่องการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนกลายเป็นเรื่องรองไปในท่ามกลางโรคระบาดใหญ่

เขาบอกอีกว่า การเสนอให้ความช่วยเหลือของปักกิ่งอาจจะถูกมองว่า เป็นความพยายามที่จะชดเชยไถ่โทษสำหรับการที่ถูกมองถูกเข้าใจว่าได้พยายามปกปิด รวมทั้งกระทำความผิดพลาดช่วงแรกๆ ในความพยายามที่จะควบคุมการระบาดซึ่งลุกลามอยู่ในเมืองอู่ฮั่น เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วและเดือนมกราคมปีนี้ เนื่องจากผู้คนจำนวนมาก รวมทั้งประชาชนทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อว่าโรคระบบทางเดินหายใจที่ร้ายแรงชนิดนี้มาจากประเทศจีน

สิ่งที่ถูกตัดออกไปจากรายงานข่าวภาษาจีนที่เผยแพร่โดยสื่อรัฐแดนมังกร ในเรื่องที่จาการ์ตาแสดงความขอบคุณปักกิ่ง ก็คือคำแถลงฉบับหนึ่งจากกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งประกาศว่าจุดยืนว่าด้วยทะเลจีนใต้ของแดนอิเหนานั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ รวมทั้งสื่อรัฐของจีนก็ไม่ได้เอ่ยถึงพวกข่าวลือแบบทฤษฎีสมคบคิด ที่กำลังแพร่กระจายไปในหมู่ชาวอินโดนีเซียบางส่วนที่ว่า พวกผู้ผลิตยาสัญชาติจีนอย่างเช่น ซิโนฟาร์ม (SinoPharm) อาจต้องการได้ชาวอินโดนีเซียมาฉีดวัคซีนกันให้มากขึ้น เพื่อเป็นการนำเอามนุษย์มาทดลองอย่างลับๆ ในการพิสูจน์ยืนยันความปลอดภัยของวัคซีน

มีข้อน่าสังเกตประการหนึ่งว่า ประเทศอาเซียนรายสำคัญเพียงรายเดียวเท่านั้นที่ขาดหายไปอย่างน่าจับตาในกำหนดการเยือนและการพบปะของ หวัง อี้ คราวนี้ ได้แก่เวียดนาม โดยที่ยังแทบไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการใดๆ ระหว่างชาติคอมมิวนิสต์ทั้ง 2 ประเทศนี้อีกด้วย ตั้งแต่ที่โรคระบาดใหญ่คราวนี้ปะทุขึ้นมา เป็นที่เข้าใจได้ว่าปักกิ่งมีความโกรธเกรี้ยว เรื่องที่ฮานอยหาทางรวบรวมความพยายามในอาเซียนเพื่อคัดค้านความเคลื่อนไหวต่างๆ ของปักกิ่ง ไม่เฉพาะแต่ในทะเลจีนใต้เท่านั้น หากยังที่ลุ่มแม่น้ำโขงอีกด้วย

เวลาเดียวกัน ปักกิ่งดูเหมือนยังไม่ได้ตัดสินใจอย่างแน่นอนลงไปว่าชาติเพื่อนบ้านที่หัวอ่อนมากกว่าของตนแห่งไหนบ้าง สมควรจะได้รับวัคซีนแบบฟรีๆ รวมทั้งสมควรจะคิดราคากันเท่าใดสำหรับการถ่ายโอนสูตรและส่วนผสมของวัคซีน

มีอะไรที่ต้องวางเป็นเดิมพันอยู่เยอะแยะทีเดียว ในทันทีที่ปักกิ่งส่งวัคซีนไปต่างแดนในเดือนหน้า เนื่องจากผลกระทบในทางลบใดๆ ซึ่งถูกรายงานออกมาในหมู่ประเทศผู้รับ อาจจะกลายเป็นการกระหน่ำตีอย่างแรงใส่การทูตวัคคซีนของจีน โดยที่ปักกิ่งก็จะทำอะไรได้น้อยนิดเหลือเกินเพื่อปิดปากสื่อต่างแดนและพวกกระหน่ำตีจีน

เป็นที่เข้าใจกันว่า ปักกิ่งเลือกที่จะใช้วัคซีนซึ่งพัฒนาโดย ซิโนฟาร์ม ที่เป็นแบบทำให้ทำให้ไวรัสอ่อนฤทธิ์ลง (attenuated vaccine) ตามแบบแผนการพัฒนาวัคซีนซึ่งใช้กันมานาน ในฐานะเป็นตัวเลือกที่มีความปลอดภัยมากกว่า สำหรับวัคซีนอีกประเภทหนึ่ง นั่นคือ วัคซีนที่ใช้อะดีโนไวรัสเป็นตัวนำพา (adenovirus vector vaccine) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์การทหาร (Military Science Academy)
ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนนั้น ในเบื้องต้นจะจำกัดให้ใช้กันเฉพาะพวกบุคลาการของกองทัพ


กำลังโหลดความคิดเห็น