xs
xsm
sm
md
lg

In Clip: สื่อนอกชี้ เศรษฐกิจไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากการประท้วง หุ้นธนาคารตกไป 6%

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์/mgrออนไลน์ – นิเคอิเอเชียรายงานล่าสุดว่า จากสถานการณ์ประท้วงของผู้ชุมนุมเริ่มส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของไทยทั้งในภาคการธนาคารจากการที่ผู้ประท้วงเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนแห่ไปถอนเงินออกจากธนาคารไทยพาณิชย์เพื่อบอยคอต ส่งผลทำให้ธนาคารหุ้นตกไป 6% ตั้งแต่กันยายนเริ่มประท้วง ห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นใกล้แหล่งชุมนุมต้องปิดห้างเร็วขึ้น ส่วนนักลงทุนต่างมองถึงสถานการณ์ด้วยความระมัดระวัง

นิเคอิเอเชีย สื่อญี่ปุ่นรายงานวันนี้(19 ต.ค)ว่า สถานการณ์ประท้วงในไทยที่มีนักเรียนและนักศึกษาเข้าร่วมเป็นจำนวนมากเพื่อเรียกร้องและเข้ามาชุมนุมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจในกรุงเทพฯล่าสุด สื่อญี่ปุ่นรายงานว่าในเวลานี้เศรษฐกิจของไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากการประท้วงแล้ว

เห็นได้ชัดจากสถานการณ์ที่ส่งผลทำให้หุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ตกลงไป 6% นับตั้งแต่เดือนกันยานที่การประท้วงได้เริ่มขึ้น

นิเคอิเอเชียรายงานว่า ผู้ประท้วงออกมาเรียกร้องให้ประชาชนชาวไทยที่สนับสนุนและมีจุดยืนเดียวกันกับการชุมนุมให้ถอนเงินสดออกมาจากธนาคารไทยพาณิชย์ที่มีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีหุ้นอยู่ในระดับต้นๆเพื่อบอยคอตธนาคาร

MGRออนไลน์รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อ้างอิงเมื่อวันที่ 17 มิ.ย 2561พบว่า ทางสำนักงานทรัพย์สินฯถือหุ้นอยู่ในธนาคารไทยพาณิชย์จำนวน 615,867,085 หุ้น และบริษัทปูนซิเมนต์ไทยมีจำนวน 360,000,000 หุ้น

ซึ่งในคำประกาศที่ลงวันที่นี้(17 มิ.ย 2561)อยู่ในส่วนตอนท้ายของคำประกาศชี้แจงของทางสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เรื่อง “การเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10" ด้วยเหตุผลที่ได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์พ.ศ 2560 ขึ้นมาใหม่แทนของเดิมปี 2479 ซึ่งได้มีการบัญญัติเกี่ยวกับภาษีอากรขึ้นมาใหม่ เป็นต้นว่า ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์จะต้องเสียภาษีอากรหรือได้รับข้อยกเว้นจากการเสียภาษีอากรย่อมเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากรสำหรับทรัพย์สินนั้นๆซึ่งแตกต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้ได้รับการยกเว้นภาษีอากรทั้งปวง

สำนักงานทรัพย์สินฯอธิบายว่า ทั้งนี้แต่เดิมจากการอ้างอิงตามประมวลกฎหมายรัษฎากรได้กำหนดให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นหน่วยงานที่ไม่มีภาระด้านภาษีอากร

โดยในแถลงคำชี้แจงยังได้ระบุว่า เพื่อให้เป็นไปตามข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฯปี 2560 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงมีภาระหน้าที่ต้องถวายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในความดูแลแต่เดิมคืนให้แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการดูแลรักษาผลประโยชน์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยทรงดูแลด้วยพระองค์เอง หรือทรงมอบหมายให้บุคคลใดดูแลรักษาหรือจัดการต่อไปก็ได้

ซึ่งในการปฎิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้มีการเสียภาษีอากรทุกประเภทเฉกเช่นประชาชนทั่วไป

และการที่ต้องเปลี่ยนชื่อความเป็นเจ้าของทรัพย์สินจากจากสำนักงานพระมหากษัตริย์เป็นพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อให้ทรัพย์สินนั้นอยู่ในบังคับของกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากรและต้องเสียภาษีอากรเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป และเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด (คำอธิบาย : เป็นต้นว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย)จึงต้องเปลี่ยนเป็นพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัฐกาลที่ 10

การประท้วงยังทำให้มีการสั่งปิดการให้บริการรถไฟ BTS และรถไฟใต้ดิน MRT รวมไปถึงถนนที่อยู่รอบบริเวณ

ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าวสั่งปิดห้างเร็วกว่าตามปกติ 3 ชั่วโมงครึ่งวันเสาร์(17) ส่วนห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ได้สั่งปิดห้างเร็วกว่ากำหนดเช่นกันวันพฤหัสบดี(15)และวันศุกร์(16) ร้านเพชรและเครื่องประดับภายในห้างต่างวิตกในความปลอดภัยที่เกรงว่าการประท้วงจะกลายเป็นความรุนแรงและอาจมีการบุกเข้าปล้นสะดมสินค้าที่มีค่าเหล่านี้ไป

ขณะที่ธุรกิจญี่ปุ่นในไทยได้รับผลกระทบโดยที่ไม่มีข้อยกเว้น ห้างโตคิวของญี่ปุ่นต้องปิดห้างเร็วกว่าปกติ 4 ชั่วโมงทั้งในวันศุกร์(16)และวันเสาร์(17)

เจ้าของภัตตาคารแห่งหนึ่งให้สัมภาษณ์กับนิเคอิเอเชียว่า “ในวันที่มีการประท้วงเกิดขึ้นยอดขายของเราตกไปราว 60 % - 80%

และสำหรับไทยที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 20% ของ GDP ซึ่งการนำนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาถือเป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจ ขณะที่รัฐบาลมีกำหนดจะผ่อนคลายการอยู่ในประเทศระยะยาวของนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่วันพรุ่งนี้(20)เป็นต้นไป โดยสื่อญี่ปุ่นชี้ว่า แต่ทว่าการประท้วงอาจทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหวาดกลัว ชายคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของโรงแรมหลายแห่งในกรุงเทพฯแสดงความเห็นว่า ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้หากมีการปะทะเกิดขึ้นระหว่างตำรวจและผู้ประท้วงและกลายเป็นความรุนแรง

ด้านนักลงทุนในไทยต่างกำลังเฝ้าจับตาสถานการณ์ด้วยความระมัดระวัง ดัชนี SET ยังคงตกลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การประท้วงล่าสุดได้เริ่มขึ้นเมื่อวันพุธ(14)

“ความวิตกเพิ่มมากขึ้นจากการที่ไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์จะจบลงอย่างไร” สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ไทยภาคภาษาอังกฤษบางกอกโพสต์ และกล่าวต่อว่า “เราแนะนำให้นักลงทุนใช้การรอดูสถานการณ์จนกว่าจะมีทิศทางที่แน่นอนจากทั้งการเมืองภายในและภายนอก”

ทั้งนี้มีนักวิเคราะห์บางส่วนคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบมากกว่าจากการตกครั้งใหญ่ในปีนี้เมื่อเทียบกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 1998 ระหว่างเกิดวิกฤตค่าเงินและตัวเลข GDP หดตัวไป 7.6%













กำลังโหลดความคิดเห็น