พิธีสวนสนามเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปีการก่อตั้งพรรคแรงงานเกาหลีเหนือเมื่อวันที่ 10 ต.ค. มีเซอร์ไพรส์ที่น่าจับตามอง นอกจากจะมีขึ้นในตอนเช้ามืดแทนที่จะจัดช่วงเวลากลางวันเหมือนทุกครั้งแล้ว ยังมีการนำขีปนาวุธขนาดยักษ์รุ่นใหม่ออกมาโชว์ ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณคุกคามอย่างโจ่งแจ้งต่อระบบป้องกันภัยทางอากาศของสหรัฐฯ และเป็นไปได้ว่าเกาหลีเหนืออาจทำการทดสอบอาวุธชนิดนี้ในปีหน้า หากผู้นำสหรัฐอเมริกาคนใหม่แสดงท่าทีเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องผ่อนคลายคว่ำบาตร
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า ‘ผู้นำ คิม จองอึน’ ยังคงเดินเกมอย่างระมัดระวัง แม้จะเพิ่มแรงกดดันให้สหรัฐฯ ผ่อนคลายคว่ำบาตร แต่ก็ไม่ได้ต้องการทำลายความสัมพันธ์อันดีกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ หรือสร้างความขุ่นเคืองใจให้กับมหามิตรอย่าง “จีน” มากจนเกินไป
ระหว่างยืนเป็นประธานในพิธีสวนสนาม ผู้นำ คิม ได้กล่าวขอบคุณกองทัพโสมแดงที่ปฏิบัติภารกิจตอบสนองภัยธรรมชาติและป้องกันโรคระบาดโควิด-19 อย่างแข็งขัน ขณะเดียวกันก็ “ขออภัย” ที่ตนเองในฐานะผู้นำประเทศล้มเหลวในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตพลเมือง
“ความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อผมนั้นสูงส่งเทียมฟ้า และลึกล้ำราวกับมหาสมุทร แต่ผมกลับล้มเหลว ไม่สามารถทำภารกิจนี้ได้อย่างน่าพอใจ ผมรู้สึกเสียใจจริงๆ” คิม กล่าวทั้งน้ำตา
ราเชล มินยัง ลี อดีตนักวิจัยด้านเกาหลีเหนือที่เคยทำงานให้สหรัฐฯ มองว่าท่าทีอ่อนน้อมถ่อมตนของผู้นำ คิม รวมถึงการร้องไห้สะอึกสะอื้นต่อหน้าประชาชนเป็นสิ่งที่ “ไม่ปกติ” อย่างยิ่ง และสุนทรพจน์ที่กล่าวก็ล้วนเป็นถ้อยคำที่คัดสรรมาแล้วอย่างดีเพื่อสะท้อนความเป็นผู้นำที่เก่งกาจ แต่ยังคงแฝงด้วยความอ่อนไหวเยี่ยงปุถุชนคนธรรมดา
ผู้นำโสมแดงกลับมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสขณะที่หมู่อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ทยอยเคลื่อนตัวเข้าสู่จัตุรัส คิม อิล ซุง โดยไฮไลต์สำคัญของพิธีสวนสนามคราวนี้ก็คือ ขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีป (ICBM) รุ่นใหม่ ซึ่งนักวิเคราะห์ด้านการทหารระบุว่าน่าจะมีขนาดใหญ่กว่าของประเทศใดๆ ในโลก และน่าจะถูกออกแบบมาให้สามารถบรรทุกได้หลายหัวรบ โดยแต่ละหัวรบสามารถแยกย้ายแล่นไปสู่เป้าหมายได้อย่างอิสระ (multiple independent re-entry vehicles - MIRVs)
เจฟฟรีย์ ลูอิส นักวิจัยด้านขีปนาวุธจากสถาบัน เจมส์ มาร์ติน เพื่อการไม่แพร่กระจายอาวุธศึกษา (CNS) ระบุว่า ขีปนาวุธรุ่นนี้ “เห็นได้ชัดว่าถูกพัฒนาเพื่อให้ทรงพลังเกินกว่าที่ระบบต่อต้านขีปนาวุธของสหรัฐฯ ในรัฐอะแลสกาจะยับยั้งมันได้”
ลูอิส อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า การที่เกาหลีเหนือเพิ่มจำนวนหัวรบใน ICBM นั้นมีต้นทุนถูกกว่าการที่สหรัฐฯ จะเพิ่มจรวดสกัดกั้นในระบบต่อต้านขีปนาวุธ
“ถ้า ICBM ของเกาหลีเหนือบรรทุกได้ 3-4 หัวรบ สหรัฐฯ จะต้องใช้จรวดสกัดกั้นประมาณ 12-16 ลูกถึงจะเอาอยู่ ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์”
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางคนให้ความเห็นว่า ICBM รุ่นนี้อาจถูกออกแบบมาเพื่อติดตั้งหัวรบเดี่ยวๆ ทว่ามีขนาดใหญ่โตกว่าเดิม
“ขีปนาวุธขนาดใหญ่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีหลายหัวรบ และนั่นเป็นเทคโนโลยีที่ผมเชื่อว่าเกาหลีเหนือน่าจะยังไปไม่ถึง” คิม ดงยุบ อาจารย์ประจำสถาบันตะวันออกไกลศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยคยุงนัมในกรุงโซล ให้ความเห็น
มาร์คุส ชิลเลอร์ ผู้ชำนาญการด้านขีปนาวุธ ให้ข้อมูลอีกมุมหนึ่งว่า ICBM รุ่นใหม่ของโสมแดงใหญ่พอที่จะบรรทุกเชื้อเพลิงเหลวได้ประมาณ 100 ตัน ซึ่งหมายความว่าจะต้องใช้เวลาเติมเชื้อเพลิงครั้งละหลายชั่วโมง
เขาชี้ว่าขีปนาวุธที่ใหญ่และน้ำหนักมากขนาดนี้อาจใช้ไม่ได้จริงในทางปฏิบัติ เพราะหากเติมเชื้อเพลิงแล้วก็จะหนักเกินกว่าที่จะเคลื่อนย้ายได้ แต่หากเสียเวลาเติมเชื้อเพลิง ณ จุดยิง ก็เสี่ยงที่จะกลายเป็นเป้าให้ศัตรูโจมตีเสียก่อน
“เจ้าสิ่งนี้มันไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย เว้นแต่จะใช้เพื่อข่มขวัญฝ่ายตรงข้ามประมาณว่า ‘ตอนนี้เรามี ICBM ที่ติดตั้ง MIRVs แบบเคลื่อนที่ได้แล้วนะ จงกลัวให้มากๆเถอะ’”
ขีปนาวุธรุ่นใหม่ของโสมแดงยังถูกติดตั้งบนยานพาหนะซึ่งเป็นทั้งรถบรรทุกลำเลียง (transporter), ตัวตั้งขีปนาวุธให้อยู่ในตำแหน่งพร้อมยิง (erector) และตัวยิงขีปนาวุธ (launcher) แถมยานที่ว่านี้ยังมีขนาดถึง 11 เพลา ซึ่งใหญ่กว่ายานชนิด 8 เพลาที่ผลิตในจีนและกองทัพโสมแดงใช้มาโดยตลอด
เมลิสซา แฮนแฮม จากกลุ่ม Open Nuclear Network มองว่า ยานลำเลียงตัวนี้ “น่ากลัวยิ่งกว่าตัวขีปนาวุธเองเสียอีก” และหากเกาหลีเหนือสามารถผลิตยานลักษณะนี้ขึ้นมาใช้เองได้ ก็จะลดข้อจำกัดในแง่ของจำนวน ICBM ที่สามารถยิงได้ด้วย
ทั้งนี้ ผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่มักเดาไว้ก่อนว่าอาวุธที่เกาหลีเหนือนำออกมาโชว์ในพิธีสวนสนามอาจเป็นแค่ ‘โมเดลจำลอง’ หรือของที่สร้างขึ้นเพื่อตบตามหาอำนาจ จนกว่าอาวุธดังกล่าวจะถูกนำมายิงทดสอบเพื่อยืนยันถึงอานุภาพของมัน
การเปิดตัว ICBM รุ่นใหม่ถือเป็นข้อพิสูจน์ชัดเจนว่ารัฐบาลเปียงยางยังคงเดินหน้าพัฒนาคลังแสงระหว่างที่เปิดเจรจาทางการทูตกับสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ และอาวุธเหล่านี้เองที่ช่วยให้เปียงยางมีอำนาจต่อรองผลประโยชน์มากขึ้นบนโต๊ะเจรจา
“จะชอบหรือไม่ก็ตามที เกาหลีเหนือคือมหาอำนาจนิวเคลียร์รายหนึ่ง และน่าจะเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์รายที่ 3 ของโลกซึ่งมีศักยภาพพอที่จะโจมตีเมืองใหญ่ของสหรัฐฯ ได้ นอกเหนือจากรัสเซียและจีน” อันเดร ลันคอฟ จากกลุ่ม Korea Risk Group บอกกับเอเอฟพี
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ โอ้อวดเรื่อยมาว่าผู้นำ คิม เคยให้สัญญากับตนว่าจะไม่ทดสอบ ICBM หรืออาวุธนิวเคลียร์อีกต่อไป ซึ่ง ชิน โบมชุล จากสถาบันวิจัยเกาหลีเพื่อยุทธศาสตร์แห่งชาติ (Korea Research Institute for National Strategy) ชี้ว่าการที่เปียงยางแค่นำ ICBM รุ่นใหม่ออกมาโชว์เฉยๆ แทนที่จะยิงให้ดู แสดงให้เห็นว่าพวกเขายังไม่ต้องการล้ำเส้นแดงที่ ทรัมป์ ขีดเอาไว้
“แต่มันก็เป็นสัญญาณเตือนอยู่ดีว่า เกาหลีเหนืออาจนำมันออกมายิงหาก ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งอีกสมัยและยังเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของพวกเขา หรือถ้า โจ ไบเดน กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ และปฏิเสธที่จะฟังข้อเรียกร้องของเปียงยาง พวกเขาก็อาจยิงทดสอบมันเช่นกัน”